‘ก้าวไกล’ แถลงจุดยืนแก้ รธน. หนุนบัตร 2 ใบ เสนอปรับปรุงคำนวณคะแนน รธน.40 เอื้อพรรคใหญ่

‘ก้าวไกล’ แถลงจุดยืนแก้ รธน. ยันหนุนบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เสนอปรับปรุงคำนวณคะแนน รธน.40 เอื้อประโยชน์พรรคใหญ่ โวใครจะไปรู้ บัตร 2 ใบ ปี 40 ก้าวไกลอาจได้แลนด์สไลด์

เมื่อเวลา 09.40 น. วันที่ 24 สิงหาคม ที่รัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก และนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ … พ.ศ. … (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือก) รัฐสภา แถลงจุดยืนของพรรคก้าวไกลต่อวาระการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 24-25 สิงหาคม เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นายปดิพัทธ์กล่าวว่า จุดยืนของพรรคก้าวไกลคือ 1.สนับสนุนการแก้ไขกติกาการเลือกตั้งให้ใช้บัตร 2 ใบ และไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมกลายพันธุ์ตามรัฐธรรมนูญ 60 อันเป็นปัญหาทางการเมืองและความไม่สง่างามของรัฐสภาในปัจจุบัน 2.ขอเสนอให้ปรับปรุงกติกาการคำนวณคะแนนของรัฐธรรมนูญปี 40 ที่เหมือนกับที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอ เพราะถึงจะเป็นการส่งเสริมความมั่นคงของพรรคการเมือง แต่มีความชัดเจนในข้อเท็จจริงว่าเป็นการคำนวณคะแนนที่เบี่ยงเบน ไม่สะท้อนเสียงที่ถูกต้องของประชาชนที่ลงคะแนน และเอื้อประโยชน์ให้ให้กับพรรคการเมืองขนาดใหญ่

นายปดิพัทธ์กล่าวว่า 3.ขอเสนอการคำนวณจำนวนเก้าอี้ ส.ส.ด้วยระบบจัดสรรปันสัดส่วนที่ถูกต้อง เพื่อให้จำนวนเก้าอี้ ส.ส.ตรงกับจำนวนคะแนนของพรรคที่ได้รับในการเลือกตั้ง ซึ่งจะก่อให้เกิดความเป็นธรรม สะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้อย่างถูกต้อง ป้องกันการเกิดเสียงข้างมาก และทำให้การเลือกตั้งเป็นกระบวนการสร้างฉันทามติ

นายปดิพัทธ์กล่าวต่อว่า 4.พรรคก้าวไกลยืนหยัดในความถูกต้อง ชอบธรรมของกระบวนการนิติบัญญัติ เนื่องจากการพิจารณาในชั้น กมธ. มี กมธ.จำนวนมากและนักวิชาการทางกฎหมายได้ชี้ถึงประเด็นที่บกพร่องในร่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนหลักการไว้แคบมาก ให้แก้ไขเพียง 2 มาตรา เหตุผลประกอบหลักการที่ขัดแย้งในตัวเอง และ กมธ.เสียงข้างมากที่หยิบเอามาตราที่รัฐสภามีมติไม่เห็นชอบไปแล้วในวาระที่ 1 มาเพิ่มในชั้น กมธ. การเพิ่มเติมและตัดมาตราอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในหลักการ ถือเป็นการกระทำที่ทำลายหลักความถูกต้องของกระบวนการนิติบัญญัติ รวมถึงจะสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่จะเป็นแหล่งอ้างอิงที่อันตรายในอนาคตและสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ

Advertisement

นายปดิพัทธ์กล่าวว่า ดังนั้น นายธีรัจชัยจึงได้เสนอญัตติด่วนให้รัฐสภาวินิจฉัยก่อนจะพิจารณาในวาระ 2 และนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เสนอการแปรญัตติสงวนความเห็นในมาตรา 83 และ 91 เท่านั้น เพื่อเป็นทางออกให้กับรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศอย่างถูกต้อง รอบคอบที่สุด

ด้านนายธีรัจชัยกล่าวถึงญัตติขอให้รัฐสภาวินิจฉัยตีความข้อบังคับรัฐสภาว่า ในการทำงานของคณะ กมธ. มีการพิจารณาว่าสามารถแก้ไขให้เหมือนร่างของพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทยที่ถูกตีตกในชั้นรับหลักการไปแล้วได้หรือไม่ ซึ่งข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 114 ระบุว่าให้กำหนดโดยชัดแจ้ง หมายความว่าแก้ไขได้เฉพาะมาตรา 83 และ 91 เท่านั้น ซึ่ง กมธ.บางคนได้ระบุไว้ระหว่างการพิจารณาว่าสามารถนำสิ่งที่ถูกตีตกแล้วมาใส่ไว้ได้

Advertisement

นายธีรัจชัยกล่าวว่า แต่ตามข้อบังคับรัฐสภาข้อที่ 124 กำหนดไว้ว่าให้สมาชิกรัฐสภาเป็นผู้แปรญัตติเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลง แต่ในชั้น กมธ.นั้น กมธ.กลับเป็นผู้เสนอแก้ไขเอง โดยไม่ได้มาจาก ส.ส.หรือ ส.ว.แปรญัตติ ขณะเดียวกันกระบวนการพิจารณากฎหมายมหาชน หลักคือไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ ซึ่ง กมธ.ไม่มีกฎหมายให้อำนาจว่าจะต้องแก้ไขขัดต่อหลักการหรือเกินกว่าหลักการได้ แต่สามารถแก้อะไรก็ได้ภายใต้หลักการ ที่ผ่านมาในชั้น กมธ. ไม่ให้ กมธ.ลงมติว่าเห็นด้วยกับผู้แปรญัตติหรือไม่ แต่บอกว่าหากผู้แปรญัตติไม่เห็นด้วยกับ กมธ.ให้สงวนความเห็น การกระทำเช่นนี้ถือว่าไม่ชอบ

เมื่อถามถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าพรรคก้าวไกลแก้ระบบเลือกตั้งเพื่อให้พรรคได้ประโยชน์ นายปดิพัทธ์กล่าวว่า ระบบการเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลได้ประโยชน์ที่สุดคือบัตรใบเดียว เพราะจะทำให้เราได้ ส.ส.จำนวนมาก แต่ต่อให้เป็นบัตร 2 ใบ แบบปี 40 ใครจะไปรู้ แลนด์สไลด์รอบหน้าอาจจะมาที่พรรคก้าวไกลก็เป็นไปได้

นายปดิพัทธ์กล่าวว่า ตั้งแต่วาระที่ 1 พรรคก้าวไกลได้เคยยืนยันไปแล้วว่านักการเมืองไม่ควรมาเถียงกันเอง แต่ควรเป็นเรื่องของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ในการร่างรัฐธรรมนูญ และเคยบอกไปแล้วว่าหากแก้ระบบเลือกตั้งแต่ไม่ปิดสวิตช์ ส.ว. ไม่มีประโยชน์ แต่ตอนนี้ต้องสู้เพื่อความถูกต้อง คือกระบวนการนิติบัญญัติจะต้องถูกต้อง หากผ่านไปเช่นนี้จะเป็นปัญหาในอนาคตและเป็นบรรทัดฐานอย่างไม่รู้จบ พรรคก้าวไกลไม่ได้สู้เพื่อตัวเอง แต่สู้เพื่อความถูกของกติกา

เมื่อถามว่า จะมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ นายปดิพัทธ์กล่าวว่า เป็นขั้นตอนต่อไป เราจะสู้เรื่องการวินิจฉัยข้อบังคับก่อน ไม่แน่ว่าเราอาจจะชนะในรอบนี้ก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image