เดินหน้าชน : ติดกรอบ

สภาวัฒนธรรมแห่งชาติยังไม่มีท่าทีประการใดต่อข่าวการถอดถอน “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” จากการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติในฐานะศิลปินแห่งชาติ ที่ได้รับในสาขาวรรณศิลป์ เมื่อปี 2554

บางครั้งการนิ่งเฉยก็ดูเหมือนการยืนยันข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

เชื่อกันว่าเหตุผลการปลดน่าจะมาจากความเคลื่อนไหว การแสดงความคิด โต้แย้งการทำงานของรัฐบาลต่างกรรมต่างวาระในช่วงที่่ผ่านมา

หากเป็นจริงคุณสุชาติจะถือเป็นศิลปินแห่งชาติคนแรกที่ถูกถอดออก

Advertisement

กระแสข่าวดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนในหลายวงการ

ไม่ว่าจะเป็นนักคิดนักเขียนชื่อดัง สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ “ศิลปินแห่งชาติเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม บ้านเมืองที่เป็นอารยะมักจะยกย่องศิลปิน ไม่ว่าจิตรกร ประติมากร กวี นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ฯลฯ และการที่สุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ ก็เป็นเกียรติแก่ชาติบ้านเมือง การที่คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติถอดถอนเขาออกจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ นับเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน และเป็นการกระทำอันบัดซบของคณะกรรมการเหล่านั้น แสดงว่า แต่ละคนไม่มีเกียรติอะไรเลย ผมไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับสุชาติ หลายอย่างผมไม่เห็นด้วยกับเขาเลย แต่มันเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของเขาในการแสดงออก เข้าไปก้าวก่ายไม่ได้ ที่ผมพูดมานี้ ผู้มีอำนาจที่บัดซบในบ้านเมืองนี้คงไม่สามารถเข้าใจได้ ไม่เฉพาะรัฐบาล แต่คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติที่ถอดถอนเขา ผมเห็นว่าเลวร้ายพอๆ กัน”

ไม่ว่าจะเป็น อุทิศ เหมะมูลโถ นักเขียนรางวัลซีไรต์ “จะปลดคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ออกจากศิลปินแห่งชาติ เหรอ ถ้าจริงนี่ขอแบนกรรมการที่ยื่นเรื่องปลดเลยนะ (แบนยันรางวัลศิลปินแห่งชาตินั่นแหละ) ไร้วุฒิภาวะสิ้นดี เนี่ยรูปธรรมของพวกผู้ใหญ่ใจ…มดของจริงที่ดันเสือกอยู่ในตำแหน่งทางวัฒนธรรมของชาติ ก็ดี ช่วยเร่งทำให้รางวัลมันขาดศักดิ์ขาดศรีโดยพวกกรรมการกันเองเร็วๆ นี่แหละดี รางวัลราคาถูกจัง เชมออนยู!”

Advertisement

เชื่อว่าคุณสุชาติก็คงไม่ได้อินังขังขอบอะไรกับความเป็นศิลปินแห่งชาติ หรือเงินตอบแทนเดือนละ 20,000 บาทตลอดชีวิต หรือสูญเสียสิทธิประโยชน์อื่นๆ หากต้องแลกกับการต้องปิดหู ปิดตา ปิดปาก

หากข้อหาที่ถูกปลดคือการวิจารณ์การทำงานรัฐบาลจริง จะยิ่งเป็นเรื่องตลกร้ายที่การดำรงความศิลปิน
แห่งชาติจะต้องเป็นบุคคลบนหิ้ง แล้ววางบทบาทไปตามสาขาที่ตัวเองได้รับ โดยไม่สนใจความเป็นไปของสังคม

และยิ่งเป็นการตอกย้ำสิ่งที่เชื่อกัน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ต่อต้านเฟคนิวส์ หรือกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาศัยข้อกำหนดออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 9 ฉบับที่ 29 กำกับการเผยข้อมูล ความคิดเห็น ทั้งในสิ่งพิมพ์และโลกออนไลน์ (สุดท้ายถูกกระแสต่อต้านจนต้องยกเลิกไป)

เป็นความพยายามของผู้มีอำนาจเพื่อปิดปากคนเห็นต่าง

ทั้งที่วัฒนธรรมการแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ สะท้อนปรากฏการณ์ในสังคม สะท้อนปัญหาการทำงานของรัฐบาล นำไปสู่การแก้ไข น่าจะได้รับการส่งเสริม รับรอง

เสียงสะท้อนเหล่านั้นเท็จจริงประการใดก็ยังพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลกันได้

น่าเสียดาย ที่สภาวัฒนธรรมแห่งชาติกลับเห็นต่างออกไป

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image