เลือกตั้ง”จัดสรรปันส่วนผสม” บัตรใบเดียว”กา 1 ได้ถึง 3″

หมายเหตุ – นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการร่างรัฐธรรมนูญและประธานคณะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ นำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ.

ความมุ่งหวังของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต้องการแก้ไขสภาพปัญหาการเมืองไทยที่เกิดขึ้นในอดีต เช่น หามาตรการป้องกันมิให้บุคคลซึ่งเคยกระทำการทุจริตต่อหน้าที่หรือทุจริตในการเลือกตั้งเข้าสู่อำนาจทางการเมืองและกำหนดโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติที่มีความเหมาะสมกับประเทศไทยในอนาคต เช่น ทำอย่างไรที่จะให้คะแนนทุกคะแนนที่ประชาชนลงให้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีความหมาย ไม่ถูกทิ้งเสียเปล่า

สภาผู้แทนราษฎร

1.จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

สภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกจำนวน 500 คน ประกอบด้วย ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน โดยจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 คน เป็นจำนวนที่ให้ความสำคัญกับ ส.ส.ที่ต้องเป็นผู้แทนในเขตพื้นที่ของประชาชน ในขณะเดียวกันเพื่อให้คะแนนของประชาชนมีความหมายด้วยการใช้ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม จึงกำหนดให้มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจำนวน 150 คน ซึ่งมีที่มาจากการจัดสรรคะแนนที่ประชาชนเลือกพรรคต่างๆ ทั้งประเทศ ชดเชยให้แต่ละพรรคมีโอกาสได้ที่นั่งในสภาเป็น ส.ส. ซึ่งเป็นสัดส่วนที่แปรผันโดยตรงกับคะแนนที่พรรคได้รับ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี

Advertisement

2.ระบบการเลือกตั้งที่มุ่งเน้นการพยายามทำให้ “ทุกคะแนนที่ประชาชนลงเลือกตั้งจะไม่ถูกทิ้ง”

2.1 หลักคิดระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ที่เหมาะสมกับประเทศไทย

เนื่องจากในอดีตคะแนนของประชาชนที่เลือกผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งใดๆ ซึ่งไม่ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 1 ของเขตเลือกตั้งนั้นๆ (ไม่ชนะการเลือกตั้ง) คะแนนดังกล่าวแทบจะถูกทิ้งสูญเปล่า ดังนั้น หลักคิดระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ที่เหมาะสม กับประเทศไทยจะต้องประกอบด้วย

Advertisement

1) ส.ส.ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง 2) ระบบการเลือกตั้ง ไม่ควรซับซ้อน ประชาชนเข้าใจง่าย

3) เป็นการเคารพประชาชนที่ลงคะแนน จึงจะพยายามทำให้คะแนนเลือกตั้ง ที่ประชาชนลงให้ทุกคะแนนมีความหมาย คะแนนนั้นส่วนใหญ่ไม่ควรสูญเปล่า 4) เป็นระบบการเลือกตั้งที่ส่งเสริมให้ประชาชนสนใจออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 5) เข้ากับบริบทหรือวิถีชีวิตของไทยโดยไม่ขัดกับหลักสากล

เพื่อเป็นการทำให้หลักคิดข้างต้นมีความเป็นไปได้ จึงกำหนดให้มีการเลือกตั้ง แบบแบ่งเขตโดยใช้ระบบคะแนนนำเสียงข้างมาก และนำระบบสัดส่วนมาใช้ด้วยการคำนวณแบ่งสัดส่วน ให้ได้มาซึ่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยใช้บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตใบเดียว และให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตได้เขตละ 1 คน โดยให้นำคะแนนของผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตของทุกคนมารวมเป็นคะแนนของพรรค และนำคะแนนของพรรคมารวมเป็นคะแนนของทุกพรรค ทั้งประเทศ จากนั้นให้หาค่าเฉลี่ยคะแนนของ ส.ส.ที่พรรคควรจะได้ต่อ 1 คน คือนำคะแนนของทุกพรรคที่ได้รับเลือกตั้งทั้งประเทศหารด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด (500 คน) จากนั้นให้นำค่าเฉลี่ยที่ได้ไปหารจำนวนคะแนนที่แต่ละพรรคได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งจำนวนที่แต่ละพรรคจะพึงมี ส.ส.ได้

ทั้งนี้ต้องให้เอกสิทธิ์แก่ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตทุกคนต้องได้เป็น ส.ส. หากพรรคใดได้จำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต เป็นจำนวนเท่าใด ให้นำจำนวนดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับจำนวน ส.ส.ที่พรรคจะพึงมี หากได้จำนวน ส.ส.ไม่ครบตามจำนวน ส.ส.ที่พรรคจะพึงมีเท่าใด ให้จัดสรรเพิ่มจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้เท่ากับจำนวน ส.ส.ที่พรรคจะพึงมี และหากเกิดกรณีที่ ส.ส.แบบแบ่งเขตมีจำนวนเกินจำนวนทั้งหมด ที่แต่ละพรรคพึงจะมีได้ ให้พรรคนั้นได้ ส.ส.เท่ากับจำนวนที่ได้จริงซึ่งรวมถึงจำนวน ที่เกินมาของ ส.ส.ที่แต่ละพรรคจะพึงมีด้วย จะมีความเป็นธรรมแก่ทุกพรรคที่จะได้จำนวน ส.ส.ตามสัดส่วนของคะแนนที่ประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงให้ จึงมีผู้เรียกระบบการเลือกตั้งนี้ว่า “แบบจัดสรรปันส่วนผสม”

ระบบการเลือกตั้งซึ่งใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวนี้ จะทำให้ประชาชนเกิดความสนใจที่จะมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น เนื่องจากประชาชนสามารถใช้สิทธิได้ง่าย ไม่มีความซับซ้อน และจะรู้สึกว่าคะแนน ทุกคะแนนมีความหมาย (คะแนนของตนจะไม่เสียเปล่า) โดยผลการเลือกตั้งจะเป็นการเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต และจะมีผลต่อจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อด้วย

2.2 ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจะต้องได้คะแนนเสียงมากกว่าคะแนนเสียงของประชาชนที่ไม่ประสงค์เลือกผู้ใดเป็น ส.ส. และในกรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้ง ไม่มากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่ประสงค์เลือกผู้ใดเป็น ส.ส.จะสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งใหม่อีกมิได้

2.3 ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องเป็นผู้ที่พรรคการเมืองส่งสมัครรับเลือกตั้ง และจะสมัครรับเลือกตั้งเกินหนึ่งเขตมิได้ และเมื่อมีการสมัครรับเลือกตั้งแล้ว ผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองจะถอนการสมัครรับเลือกตั้งหรือเปลี่ยนแปลงผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ เฉพาะกรณีผู้สมัครตายหรือขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม

2.4 การจัดบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ กำหนดให้เป็นบัญชีรายชื่อบัญชีเดียวทั้งประเทศ เนื่องจากในระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมเป็นระบบที่ต้องใช้การคำนวณคะแนนทั้งประเทศ

3.การกลั่นกรองผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน บทบัญญัติว่าด้วยคุณสมบัติของ ส.ส.ในร่างรัฐธรรมนูญนี้ ได้คงหลักการตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และได้มีการกำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมโดยเปิดโอกาสกว้างให้บุคคลที่เคยปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี สามารถสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้

ทั้งนี้ ในบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะต้องห้ามของ ส.ส.ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติให้มีความเข้มและรัดกุมมากขึ้นกว่าที่เคยบัญญัติ การบัญญัติความให้เข้มงวดในกรณีที่บุคคลใดมีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ จะถือว่าถูกตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่สามารถกลับเข้ามาสู่ระบบการเมืองได้ อาทิ

– บุคคลที่ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามคำพิพากษา หรือตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

– บุคคลผู้เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

– บุคคลที่เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ จะถือว่าห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.โดยไม่มีการยกเว้น

– บุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง

4.เหตุที่ความเป็นสมาชิกภาพของ ส.ส.ต้องสิ้นสุดลง

บทบัญญัติว่าด้วยความเป็นสมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลง โดยบัญญัติความเข้มงวดให้ ส.ส.บุคคลใดที่เข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้

– ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง ที่นอกจากในกรณีที่ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองเพราะมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่ ส.ส.ผู้นั้นเป็นสมาชิก

– การเสนอการแปรญัตติหรือการกระทำด้วยประการใดๆ ของสภาผู้แทนราษฎรที่มีผลให้ ส.ส.มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม จะกระทำมิได้ หากมีการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้วินิจฉัยและหากวินิจฉัยว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้ ให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากสมาชิกภาพนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และให้ตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น

– มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจใช้หน้าที่และอำนาจขัดต่อบทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตาแหน่งทางการเมืองมีคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาว่าผู้นั้นมีพฤติการณ์หรือกระทำความผิดหรือร่ำรวยผิดปกติตามที่ถูกกล่าวหา โดยจะไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีกำหนดเวลาไม่เกินสิบปีด้วยหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ในกรณีมีความผิดฐานร่ำรวยผิดปกติหรือทุจริตต่อหน้าที่ ให้ริบทรัพย์สินที่ผู้นั้นได้มาจากการกระทำความผิด ตกเป็นของแผ่นดิน

– จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ

5.การกำหนดคุณสมบัติอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

เปลี่ยนหลักการเดิมเกี่ยวกับกำหนดคุณสมบัติอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง เป็น “กำหนดคุณสมบัติอายุ ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง” เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของบุคคล ซึ่งจะทำให้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 70,000 คน

6.สภาผู้แทนราษฎรต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในจำนวนไม่เกิน 3 รายชื่อ โดยต้องแจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งภายในวันสมัครรับเลือกตั้ง การเสนอชื่อต้องมีหนังสือยินยอมจากบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อ และบุคคลดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรี และต้องไม่เป็นรายชื่อที่ซ้ำกับการเสนอรายชื่อของพรรคการเมืองอื่น

อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองจะไม่เสนอรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image