อดีต ส.ข.ยื่นหนังสือให้ผู้บริหาร กทม.ชี้แจง มท.ทบทวนยกเลิก ‘สภาท้องถิ่น’

เมื่อเวลา 09.45 น.วันที่ 19 กันยายน นางภรภัทร โชติกะสุภา อดีตประธานสภาเขต (ส.ข.) นำคณะอดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และอดีตสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) รวมกว่า 100 คน เข้ายื่นหนังสือต่อนางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขอให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เสนอเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทยทบทวนการยกเลิก ส.ข.พร้อมชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็นและประโยชน์ของการมี ส.ข. หลังจากทราบว่าจากคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้านการปกครองท้องถิ่นได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. … ซึ่งผ่านการพิจารณาในวาระแรกโดยมีสาระสำคัญให้ยกเลิก ส.ข. และให้คณะกรรมการประชาคมเขตมาจากการสรรหาของผู้อำนวยการเขต เฉลี่ยเขตละ 10-12 คน โดยส่งรายชื่อให้ปลัด กทม.แต่งตั้ง

นางภรภัทร กล่าวว่า ขั้นตอนดังกล่าวไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง หากตั้งขึ้น เกรงว่าจะไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้ จึงรวมตัวกันทำหนังสือพร้อมแนบบัตรประจำตัวประชาชนขอให้ทบทวนเรื่องดังกล่าวและขอให้คงการเลือกตั้ง ส.ข.ไว้ดังเดิม

ด้าน นางผุสดี กล่าวว่า กทม.จะทำหนังสือชี้แจงไปถึงกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้รับทราบถึงเหตุผลและความจำเป็นของ ส.ข.ต่อการบริหารราชการและการตรวจสอบฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะการตรวจสอบการคอรัปชั่น ซึ่งมองว่าตัวแทนภาคประชาชนจะสามารถช่วยภาครัฐตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพควบคู่กับองค์กรตรวจสอบของรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนังสือดังกล่าวระบุว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการประชาคมเขต แทนการเลือกตั้ง ส.ข.จะทำให้ขาดการยึดโยงระหว่างประชาชนกับสำนักงานเขตและฝ่ายบริหาร เนื่องจากคณะกรรมการประชาคมเขตมาจากกระบวนการแต่งตั้งโดยบุคคลเดียว (ผู้อำนวยการเขต) แทนการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง ทั้งมองว่าจะทำให้ขาดกระบวนการตรวจสอบการบริหารราชการของสำนักงานเขต เนื่องจากเดิมบทบาทหน้าที่ ส.ข.ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 79 ข้อ 3-7 ได้ให้อำนาจ ส.ข.ในการสอดส่องและติดตามดูแลการดำเนินการของสำนักงานเขต เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ราษฎร แต่คณะกรรมการประชาคมเขตมีอำนาจเพียงการให้ข้อเสนอแนะหรือคำปรึกษาฯ และให้ความร่วมมือในการดำเนินการกับสำนักงานเขตเท่านั้น ซึ่งเป็นการตัดกลไกการถ่วงดุลอำนาจระหว่างประชาชนกับผู้บริหาร (ผู้ว่าฯ กทม.) ในกรณีที่ผู้อำนวยการเขตละเลยไม่ปฏิบัติตามคำร้องขอของประชาชน อีกทั้งขัดต่อหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่ภาครัฐจะต้องกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 250 ประกอบกับการขัดต่อหลักปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักสากล จึงอยากให้ กทม.ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ทบทวนเรื่องนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image