จาตุรนต์ : เราจะไม่เสียหายยับเยินอย่างนี้ หากนายกรัฐมนตรีไม่ดื้อดึง

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี เขียนข้อความทางเฟซบุ๊กเรื่อง เราจะไม่เสียหายยับเยินอย่างนี้ หากนายกรัฐมนตรี ไม่ดื้อดึง วิจารณ์นโยบายการจัดการโควิดและการแก้ปัญหาการเยียวยาทางเศรษฐกิจของรัฐบาล โดย ระบุว่า

ล็อกดาวน์รอบนี้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล ขณะที่การควบคุมการระบาดของโควิด ก็ไม่มีผลที่ชัดเจน ตัวเลขการติดเชื้อนิวไฮหลายรอบและที่สำคัญจำนวนผู้เสียชีวิตสูงอย่างต่อเนื่อง

ถ้ามีวิธีคิดและยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง ประเทศไทยจะไม่ต้องสูญเสียมากทั้งด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจอย่างที่เกิดขึ้น

ที่จะวิเคราะห์นี้ไม่ใช่ว่า เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้วจึงค่อยมาพูด แต่ผมได้วิจารณ์เสนอแนะไว้ก่อนแล้ว เพียงแต่รัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯ ไม่เคยฟัง

Advertisement

การปิดแคมป์ก่อสร้าง ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งระบบประมาณ 10,000 ล้านบาทและคาดว่าหากสถานการณ์โควิดไม่คลี่คลายจะเกิดความเสียหายประมาณ 36,200 ล้านบาทในปี 2564

สถานการณ์ธุรกิจร้านอาหาร ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ มีมูลค่าความเสียหายสูงสุด 2.59 แสนล้านบาท ร้านอาหารตกอยู่ในความเสี่ยงต้องปิดกิจการ หรือปิดกิจการไปแล้วนับแสนแห่งทั่วประเทศ

โรงงานกว่า 60,000 โรง ทั่วประเทศได้รับผลกระทบ เฉพาะโครงการนำร่องที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐเป็นกิจการที่มีมูลค่ากว่า 700,000 ล้านบาท

Advertisement

ล่าสุดสมาคมศูนย์การค้าไทย และผู้แทนคณะทำงาน 8 สมาคมธุรกิจ เปิดเผยว่า ได้รับผลกระทบจากการประกาศล็อกดาวน์ของภาครัฐ มูลค่าโดยรวมกว่า 700,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เรากำลังพูดถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจนับล้านๆ (trillion) บาท

ถ้าเปิดให้เศรษฐกิจเดินได้เร็วจะไม่เกิดความเสียหายมากขนาดนี้

การจะเปิดเศรษฐกิจได้เร็ว สามารถทำได้หากมีการดำเนินการดังต่อไปนี้มาแต่ต้น

1. ทั้งภาครัฐและเอกชนนำเข้าวัคซีนคุณภาพมาฉีดให้ประชาชนทั่วประเทศโดยให้ความสำคัญกับบุคลากรด่านหน้าและผู้สูงอายุและรีบสร้างภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็ว

2. ทำการตรวจเชิงรุกขนานใหญ่วันละหลายแสนครั้งอย่างต่อเนื่อง ประชาชนสามารถหาซื้ออุปกรณ์ ATK ราคาถูกได้โดยง่าย เพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากผู้ที่ไม่ติดเชื้อ

3. เพิ่มเตียงสำหรับศูนย์พักคอยโรงพยาบาลสนามและโรงพยาบาลรวมทั้งอุปกรรณ์ต่างๆ ให้มากๆ ไม่ให้เกิดสภาพเตียงไม่พอเพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลทันท่วงที

4. นำเข้าและผลิตยาต้านไวรัสให้เกินความต้องการและให้ผู้ติดเชื้อได้รับยาโดยรวดเร็วไม่ต้องรอจนอาการหนักและต้องเสียชีวิตไปจำนวนมาก

5. ช่วยเหลืองบประมาณอย่างเต็มที่ให้โรงงาน ร้านค้าสถานประกอบการสามารถรักษาคนงานไว้ได้และดำเนินกิจการต่อไปภายใต้มาตรการทางสาธารณสุข

หากดำเนินการทั้งหมดนี้แต่ต้น จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีกว่า ลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงและไม่ล้นระบบสาธารณสุข ผู้เสียชีวิตก็จะน้อยกว่าที่เกิดขึ้น และจะสามารถเปิดประเทศ เปิดให้ธุรกิจกลับมามีชีวิต ผู้คนทำมาหากินได้ มีรายได้ไม่ต้องเกิดความสูญเสียมหาศาลอย่างที่เกิดขึ้น

การดำเนินการทั้ง 4 ข้อนี้อย่างจริงจังในช่วง 3-6 เดือนที่ผ่านมาจะใช้งบประมาณมากกว่าที่รัฐบาลใช้อยู่ไม่เกิน 30,000-50,000 ล้านบาท

น้อยมากเมื่อเทียบกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจนับล้านๆ บาทตามตัวเลขข้างต้นและรัฐบาลมีเงินอยู่แล้วด้วย

คำถามคือ ทำไมรัฐบาลนี้ไม่คิดจะทำ

คำตอบก็คือนายกฯ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจสั่งการอยู่แต่ผู้เดียว ไม่เข้าใจวิธีการแก้ปัญหา

ไม่เข้าใจว่าถึงอย่างไรโควิดก็ไม่หมดไปง่ายๆ และไม่คิดว่าจะเราอยู่กับโควิดได้อย่างไร

ไม่เข้าใจว่าเมื่อล็อกดาวน์ก็ต้องดำเนินการหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อไม่ให้ระบบสาธารณสุขล่ม ลดการป่วยการตายให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ โดยไม่กระทบต่อเศรษฐกิจจนเกินไป

ไม่เข้าใจว่าจุดหมายปลายทางของการควบคุมการแพร่ระบาดที่ประเทศต่างๆ เขาทำกันนั้นคือควบคุมการแพร่ระบาดและการเสียชีวิตให้น้อยที่ต้องทำไปพร้อมกับการหาทางทำให้สามารถเปิดให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาโดยเร็ว ประชาชนจะได้ทำงานมีรายได้และไม่ต้องอดยากยากจนหรืออดตาย

การที่นายกฯ ขาดความเข้าใจในการแก้ปัญหา ทำให้ไม่มียุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง เกิดความเสียหายเกินจำเป็นไปมากและหากนายกฯ ยังดื้อดึงที่จะทำอย่างเดิมต่อไป ประเทศไทยก็จะเสียหายอีกมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image