กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ จับมือ 3 องค์กร ร้อง ‘ยูนิเซฟ’ จับตา จนท.ทำร้ายเยาวชน ตั้งข้อหาร้ายแรง

กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ จับมือ 3 องค์กร ร้อง ‘ยูนิเซฟ’ จับตา จนท.ทำร้ายเยาวชน ตั้งข้อหาร้ายแรง

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ พร้อมด้วย ตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม (NGO) ได้แก่ กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ มูลนิธิศักยภาพชุมชน ร่วมยื่นจดหมายถึง คยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟประเทศไทย (UNICEF Thailand) เพื่อเรียกร้องจับตา และเคลื่อนไหวในประเด็นการใช้ความรุนแรง และกล่าวหาข้อหาร้ายแรงต่อเยาวชน

กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ระบุว่า เนื่องจากมีเด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดีรวมแล้วอย่างน้อย 118 คน ใน 75 คดี และอายุน้อยที่สุดที่ถูกดำเนินคดีคือ 13 ปี เราจึงร่วมกันร่างหนังสือเพื่อปกป้องเด็กที่ออกมาเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของตน
เด็กและเยาวชนคืออนาคตของชาติ แล้วทำไมพวกเขาจะเลือกอนาคตของตนเองไม่ได้ ?

ผู้ที่เรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพทุกท่านได้ปกป้องเด็กๆ ที่ออกมาเรียกร้องอนาคตของตนเองแล้วหรือยัง

Advertisement

สำหรับจดหมายดังกล่าว ความว่า

เรียน คุณ คยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟประเทศไทย
เรื่อง ขอให้ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย จับตาและเคลื่อนไหวในประเด็นการใช้ความรุนแรง และกล่าวหาข้อหาร้ายแรงต่อเยาวชนไทย

สืบเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนไทยได้ออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 จนถึงปัจจุบัน ทั้งในประเด็นเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาลไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และประเด็นทางสังคมอื่นๆ ในพื้นที่สาธารณะทั่วไป พื้นที่สังคมออนไลน์ รวมถึงพื้นที่การชุมนุม โดยในระหว่างการชุมนุมในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดง เจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้กาลังทาร้ายประชาชนซึ่งรวมถึงเยาวชนอย่างรุนแรง เพื่อสลายการชุมนุม โดยมิได้คำนึงต่อหลักสากลในการเข้าสลายการชุมนุม นอกจากนี้ยังมีการกล่าวหาและดำเนินคดีอาญาร้ายแรงแก่เยาวชน

ช่วงเดือนสิงหาคม 2564 มีการดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชนที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกรวมแล้วอย่างน้อย 118 คน ใน 75 คดี และในการชุมนุมวันที่ 10 สิงหาคม 2564 มีการจับกุมเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ทั้งหมด 14 คน และเเละภายหลังได้รับการปล่อยตัวโดยไม่เเจ้งข้อกล่าวหา 2 คน ส่วน 12 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นอายุเพียง 14 ปี ถูกเเจ้งข้อหาหลักว่ากระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามการชุมนุมหรือรวมกลุ่มตามข้อกำหนด ซึ่งออกตามความในมาตรา 9 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 และจากการชุมนุมในระยะหลัง มีเด็กและเยาวชนถูกจับกุมและดำเนินคดีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น วันที่ 20 สิงหาคม 2564 และวันที่ 22 สิงหาคม 2564 มีเด็กและเยาวชนถูกจับกุมกว่า 16 และ 17 คนตามลำดับ อายุน้อยที่สุดที่ถูกดำเนินคดีคือ 13 ปี

ภาพ : โมกหลวงริมน้ำ

ข้อหาที่มีความผิดและโทษทางอาญาอื่นๆ อีกหลายข้อหาที่เจ้าหน้าที่ใช้กล่าวหาเด็กและเยาวชนที่พบในสถานที่ชุมนุม เช่น พ.ร.ก.ชุมนุม ข้อหามั่วสุมชุมนุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 มาตรา 216 มาตรา 138 มาตรา 370 ตามลาดับ มีเด็กและเยาวชนอย่างน้อย 8 คนถูกดำเนินคดีด้วยความผิด ม.112 , 1 คนถูกดำเนินคดีด้วยความผิดฐานยุยงปลุกปั่น เเละข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง เยาวชนอายุ 17 ปีรายหนึ่ง ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 18 ครั้ง

เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร หรือเจ้าหน้าที่สังกัดองค์กรใดก็ตาม จำเป็นต้องทำงานเพื่อสวัสดิภาพของประชาชน มิใช่คุกคามประชาชน ซึ่งเยาวชนก็เป็นประชาชนเช่นกัน แต่ทว่า ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีเยาวชนถูกจับกุมอย่างน้อย 74 คน มีเยาวชนจำนวนหนึ่งถูกทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และหนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนอายุเพียง 15 ปี ซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกกระสุนปืนยิงเข้าไขสันหลังส่วนบนในวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ทั้งนี้ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด (Right to survival) สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง (Right of Protection) สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา (Right of Development) และสิทธิที่จะมีส่วนร่วม (Right of Participation) การแสดงความคิดเห็นรวมทั้งการแสดงออกทั้งในด้านความคิดและการกระทำรวมถึงการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่ออนาคตของตนเอง เป็นสิทธิที่เด็กพึงกระทำตามหลักของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับละเมิดต่อสิทธิเหล่านี้ ใช้กำลังเข้าทาร้าย และกล่าวหาคดีทางอาญาแก่เยาวชน

“การรณรงค์เพื่อให้เกิดกฎหมายและนโยบายที่เอื้อต่อการพัฒนาด้านสิทธิเด็ก” เป็นภารกิจหลักขององค์การยูนิเซฟ ในการนี้ เราจึงขอยื่นเรื่องร้องเรียนและเรียกร้องต่อองค์การยูนิเซฟประเทศไทย ให้มีการจับตาสถานการณ์การทำร้ายเยาวชนและการกล่าวหาเยาวชนด้วยข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง และขอให้องค์การยูนิเซฟดาเนินการปกป้องเยาวชน เมื่อพวกเขาถูกคุกคามหรือละเมิดสิทธิ์โดยไม่ชอบธรรมจากการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิที่พึงมีของพวกเขาเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจหลักในประเทศไทยขององค์การยูนิเซฟประเทศไทย

เรายืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็กก็เป็นรากฐานของสิทธิมนุษยชนเช่นกัน

ขอแสดงความนับถือ
กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ
กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
มูลนิธิศักยภาพชุมชน

ภาพ : โมกหลวงริมน้ำ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image