‘กก.จริยธรรมสภา’ รับเรื่องสอบ ‘พีระวิทย์’ ฉ้อโกงสลากกินแบ่งฯ แลกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

‘คกก.จริยธรรมสภา’ รับเรื่องสอบ ‘พีระวิทย์’ ฉ้อโกงสลากกินแบ่งฯ แลกอภิปรายไม่ไว้วางใจ พร้อมสอบคดี ส.ส. เอี่ยวคดีเคลื่อนไหวทางการเมือง 10 เรื่อง

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 30 สิงหาคม ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร ประชุมพิจารณารายงานเสนอความเห็นของคณะอนุกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎรในการตรวจสอบ กลั่นกรอง แสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นในเรื่องร้องเรียน จำนวน 5 เรื่อง และพิจารณารับทราบเรื่องร้องเรียน (เรื่องร้องเรียนที่ได้เสนอใหม่) จำนวน 10 เรื่อง โดยผลการพิจารณา มีดังนี้ 1.การพิจารณารายงานเสนอความเห็นของคณะอนุกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร ในการตรวจสอบ กลั่นกรอง แสวงหาข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นในเรื่องร้องเรียน จำนวน 5 เรื่อง

ได้แก่ คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการจริยธรรมฯ ให้รับเรื่องร้องเรียนการกล่าวหา ส.ส.ว่ากระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎรของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ.2563 ไว้พิจารณาจำนวน 1 เรื่อง คือ กรณีการกล่าวหา นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม กระทำการหลอกลวงให้หลงเชื่อว่าได้รับโควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อแลกกับการไม่อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีท่านหนึ่ง จนผู้ร้องหลงเชื่อจึงส่งมอบเงินมัดจำโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 500,000 บาท ให้เลขานุการส่วนตัวของนายพีระวิทย์

โดยเมื่อถึงเวลาส่งมอบสลากกินแบ่งรัฐบาลตามที่ได้ตกลงกันไว้ นายพีระวิทย์ไม่สามารถส่งมอบสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ และมีพฤติกรรมบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบ ทั้งยังไม่คืนเงินมัดจำ ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายและเชื่อโดยสุจริตว่าถูกฉ้อโกง ซึ่งคณะกรรมการฯ พิจารณาเรื่องร้องเรียนดังกล่าวแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องคือนายพีระวิทย์ มีมูลเพียงพอตามที่ถูกกล่าวหา จึงมีมติเห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการจริยธรรมฯ ให้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไว้พิจารณา และให้นายพีระวิทย์ ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งให้ยื่นคำชี้แจง

และหากคณะกรรมการฯ เห็นว่ามีพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ถูกร้องฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมอันเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอความเห็นต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา หากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมฯ อันเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

Advertisement

นอกจากนั้น คณะกรรมการฯ รับทราบเรื่องร้องเรียนที่ได้เสนอใหม่ จำนวน 10 เรื่อง และมีมติมอบหมายให้คณะอนุกรรมการจริยธรรมฯ ดำเนินการตรวจสอบ กลั่นกรอง แสวงหาข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐาน ในเรื่องร้องเรียนที่มีการกล่าวหาส.ส.และกรรมาธิการกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมฯ จำนวน 10 เรื่อง ดังนี้ 1.การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเพื่อกลั่นแกล้งผู้ร้องให้ได้รับโทษทางอาญา จำนวน 1 เรื่อง 2.การก้าวก่ายการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 1 เรื่อง

3.การสนับสนุนการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กระทำการหมิ่นศาล สร้างความขัดแย้ง กระด้างกระเดื่องต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดี จำนวน 1 เรื่อง 4.การโพสต์ข้อความที่ไม่เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จำนวน 1 เรื่อง 5.การทำร้ายร่างกายบุคคลอื่น จำนวน 1 เรื่อง 6.การเผยแพร่ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ในทางยั่วยุปลุกปั่นให้สังคมแตกแยก จำนวน 1 เรื่อง

7.การเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมทางการเมือง และการใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประกันตัวผู้ต้องหา จำนวน 2 เรื่อง 8.การนำป้ายให้ปล่อยแกนนำคณะราษฎร 2563 ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีมาแสดงในที่ประชุมรัฐสภา โดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานรัฐสภา จำนวน 1 เรื่อง 9.การปิดทางเข้าสถานที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อช่วยเหลือประชาชนและราชการ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 1 เรื่อง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image