‘ไพบูลย์’ยื่นผู้ตรวจการฯ สอบสรรพสามิต ไม่เก็บภาษีเบนซ์จากสมเด็จช่วง

“ไพบูลย์” ยื่นผู้ตรวจการฯ สอบกรมสรรพสามิต-เจ้าหน้าที่ ละเว้นหน้าที่ไม่เก็บภาษีเบนซ์จากสมเด็จช่วง

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 20 กันยายน ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เข้ายื่นหนังสือต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้วินิจฉัยการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของกรมสรรพสามิตและเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต เนื่องจากอาจมีการละเว้นไม่ดำเนินการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มเติมจากสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) หรือสมเด็จช่วง ในฐานะผู้ครอบครองรถเบนซ์ทะเบียน ขม99 ตาม พ.ร.บ.สรรพสามิต โดยนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้รับเรื่อง

นายไพบูลย์กล่าวว่า จากสำเนาเช็คบัญชีชื่อสมเด็จช่วง มีการสั่งจ่ายเงิน 1 ล้านบาท เป็นค่ารถเบนซ์ให้กับภรรยาของนายวิชาญ รัษฐปานะ เจ้าของอู่วิชาญ ประกอบด้วยคำขอโอนและรับโอนรถเบนซ์ที่ลงนามผู้รับโอนโดยสมเด็จช่วง คำขอจดทะเบียนรถลงนามยื่นคำขอโดยสมเด็จช่วงเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และทะเบียนรถเบนซ์ ขม99 ลงนามโดยสมเด็จช่วงเป็นผู้ครอบครอง ซึ่งเป็นการยื่นขอจดทะเบียนเป็นชื่อแรก ทั้งหมดถือเป็นหลักฐานการครอบครองรถของสมเด็จช่วง แต่กรมสรรพสามิตกลับดำเนินการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวไปยังนายวิชาญให้ชำระภาษีเป็นเงิน 6,864,000 บาท ซึ่งนายวิชาญได้ยื่นเรื่องขอคัดค้าน เพราะไม่ใช่บุคคลตามกฎหมายที่กำหนดให้ต้องไปยื่นเสียภาษี หรือต้องรับผิดชอบชำระค่าภาษี การที่กรมสรรพสามิตเรียกเก็บภาษีจากนายวิชาญ จึงอาจจะส่อว่าเพื่อหลีกเลี่ยงไม่เรียกเก็บภาษีพร้อมเบี้ยปรับจากสมเด็จช่วงในฐานะผู้ครอบครองรถตาม พ.ร.บ.สรรพสามิต มาตรา 161 (1) ใช่หรือไม่

นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า รถคันดังกล่าวมีการยื่นเสียภาษีครั้งแรกโดยนางกาญจนา มากเหมือน เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม N.P.การาจ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมที่จดทะเบียนถูกต้อง ดังนั้น เมื่อมีกรณีการเสียภาษีไม่ครบถ้วนก็จะต้องเรียกเก็บจากผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม และเป็นผู้ยื่นคำขอเสียภาษีเดิม ซึ่งเคยมีการยื่นเสียภาษีไป 570,000 บาท เป็นราคาต่ำ เจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตที่รับจดแจ้งไม่สังเกตอะไรหรือ อีกทั้งจากการสอบสวนทราบว่ามีผู้ปลอมแปลงลายมือชื่อของนางกาญจนา เจ้าหน้าที่ก็ไม่ตรวจสอบเลยหรือ ตามหลักกฎหมายแล้วกรมสรรพสามิตต้องดำเนินการเรียกเก็บภาษีจากผู้ครอบครองรถคันดังกล่าว และต้องมีการตั้งกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต ดังนั้น จึงขอให้ผู้ตรวจการฯ พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่ากรมสรรพสามิตและเจ้าหน้าที่มีการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร เพราะการที่หน่วยราชการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเห็นว่าเป็นผู้ใหญ่แล้วหาทางหลีกเลี่ยงให้ ถือว่าไม่เป็นธรรมกับสังคม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image