หน้า 3 วิเคราะห์ : พปชร.ร้าว การเมือง รุมเร้า ‘บิ๊กตู่’เหนื่อย

หน้า 3 วิเคราะห์ : พปชร.ร้าว การเมือง รุมเร้า ‘บิ๊กตู่’เหนื่อย

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีอีก 5 คน ดำเนินไปอย่างเข้มข้น

รัฐมนตรีที่ถูกซักฟอกนอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

การอภิปรายไม่ไว้วางใจเริ่มต้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม จนถึงวันที่ 3 กันยายน

และวันที่ 4 กันยายน ลงมติ

Advertisement

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างทำหน้าที่ได้ดี

พรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติกล่าวหาด้วยข้อหารุนแรง และเมื่อถึงเวลาอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส.ส.ผู้ทำหน้าที่ซักฟอกได้แสดงหลักฐานกล่าวหาตามญัตติ

กรณีปฏิบัติการไอโอ การจัดซ่อมจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ การจัดหาวัคซีน การขายยางพารา การเล่นพรรคเล่นพวก

Advertisement

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีที่ถูกกล่าวหาก็มีเอกสารหลักฐานออกมาโต้แย้งได้อย่างน่าฟัง

ทั้งการตั้งข้อสงสัยว่าเป็นเอกสารเท็จ ทั้งการนำทีมแพทย์จากกระทรวงสาธารณสุขออกมาแถลงชี้แจงความชัดแจ้ง ทั้งการอธิบายโต้แย้งด้วยเอกสารและมุมมองการบริหารของรัฐมนตรีเอง

ผลจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทำให้ประชาชนได้ตรวจสอบการบริหารงานของรัฐมนตรีแต่ละคนไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ความดุเดือดด้านนอกสภา จะร้อนแรงกว่าความดุดันในการอภิปราย

โดยเฉพาะความร้อนแรงภายในพรรคพลังประชารัฐ

ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเริ่มขึ้น ได้ก่อเกิดกระแสลือสะพัดว่ามีแกนนำของพรรคพลังประชารัฐเคลื่อนไหวรวบรวมเสียงจากฟากฝั่งรัฐบาลจะโหวตคว่ำ

ต่อมาได้ปรากฏข่าวพรรคพลังประชารัฐหารือกันที่บ้านป่ารอยต่อของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค

ในวันนั้นมีการกำชับให้ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐโหวตสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และ รัฐมนตรีด้วยเสียงเท่าๆ กันทุกคน

ในวันนั้นมีการกำชับให้เลิก “แจกกล้วย” แก่ ส.ส.ของรัฐบาลตามที่มีกระแสข่าว

กระทั่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจเริ่มต้น ความเคลื่อนไหวเรื่องลงมติการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรก

ข่าวสารสะพัดไปถึงขั้นการโหวตคว่ำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ประเด็นอันร้อนแรงดังกล่าว ทำให้สื่อมวลชนหันไมค์ไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยความฉงน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ออกมาปรามกลุ่มผู้กระจายข่าว

ทางหนึ่งยืนยันว่า ไม่ปรับ ครม. และไม่ยุบสภา แน่นอน

ทางหนึ่งตักเตือนว่า ผู้ที่แอบอ้างเบื้องสูง และกระพือข่าวเปลี่ยนแปลงนายกฯนั้นให้ระวังตัว

วันเดียวกัน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐก็ให้สัมภาษณ์เรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจยาว

สรุปว่า การลงมติในศึกซักฟอก เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.

มีนัยยะว่า ส.ส.พลังประชารัฐจะฟรีโหวตในญัตตินี้

เมื่อสื่อมวลชนสอบถามว่ามีการพูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์กันบ้างหรือไม่

คำตอบของ ร.อ.ธรรมนัส คือ คุยกับ พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรคคนเดียว

วันที่ 2 กันยายน ความเคลื่อนไหวเรื่องดังกล่าวได้ขยับจาก “ข้างนอกสภา” มาเป็น “ข้างในสภา” เมื่อ นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ จากพรรคเพื่อไทยประกาศผ่านไมค์

กล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ แจกเงิน ส.ส. หัวละ 5 ล้านบาท ที่บริเวณชั้น 3 อาคารรัฐสภา

คำพูดของนายวิสารทำให้บรรดาสมาชิกพรรคพลังประชารัฐออกมาตอบโต้ โดยเฉพาะ ส.ส.ที่ขึ้นไปให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ ต่างกดดันให้นายวิสารถอนคำพูด

อย่างไรก็ตาม นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภามองว่า คำกล่าวหาดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ สามารถตอบคำถามได้ จึงวินิจฉัยว่าไม่ต้องถอนคำพูด แต่ให้รอ พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจง

สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาชี้แจงสั้นๆ

“ผมไม่ทำอะไรบ้าบอ ไม่ใช้ถุงขนมแบบนั้น”

ความเคลื่อนไหวทั้งหมดสะท้อนอาการของฝ่ายรัฐบาล มองเห็นรอยร้าวระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ

ยิ่งเป็นเสียงสะท้อนจากคำให้สัมภาษณ์ของ ร.อ.ธรรมนัสที่ว่า ส.ส.เห็นว่ารัฐบาลไม่มีผลงาน ไม่สามารถทำตามนโยบายที่หาเสียง

รวมทั้งกระแสเสียงที่กระหึ่มว่า รัฐบาลไม่ดูแล ส.ส. เอาเสียเลย

นอกจากรอยร้าวระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ ส.ส.แล้ว ยังมองเห็นรอยร้าวที่เกิดขึ้นกับ “3 ป.”

เห็นรอยร้าวของกลุ่ม 4 ช. โดยเฉพาะ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่ยืนหยัดอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์

นายสันติยังเป็นแคนดิเดตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐอีกด้วย

กระทั่งวันที่ 3 กันยายน พล.อ.ประวิตร พล.อ.ประยุทธ์ และ ร.อ.ธรรมนัส ได้หารือกันที่บ้านพักป่ารอยต่อ โดย พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันความสัมพันธ์ของ “3ป.” ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ยืนยันว่าพรรคพลังประชารัฐโหวตหนุนนายกฯ

ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไป ผมก็ไป

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มิได้เกิดขึ้นแล้วจบลงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

เพราะนี่คือ “รอยแผลลึก”

แม้อาจจะเห็นแค่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี กับ ร.อ.ธรรมนัส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐที่มี พล.อ.ประวิตร เป็นหัวหน้าพรรค ขัดแย้ง และเคลียร์ลงตัว

แต่เชื่อว่ายังมีรอยร้าวอื่นๆ ภายในพรรคพลังประชารัฐอีกมาก

เป็นรอยร้าวภายในพรรคแกนนำรัฐบาลที่ค้ำยัน พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ภายใต้รอยร้าวที่แลเห็น น่าจะมีรอยร้าวอื่นที่สังคมยังสัมผัสไม่ได้เกิดขึ้นภายใน

เหตุการณ์เช่นนี้หากเกิดขึ้นถี่ และบานปลายต่อไป ย่อมกัดเซาะความแข็งแกร่งของ พล.อ.ประยุทธ์

นี่เป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่ส่งสัญญาณตรงไปยัง พล.อ.ประยุทธ์

ยิ่งอยู่นาน ยิ่งเหนื่อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image