รายงานหน้า 2 : ประเมินจัดศึก‘อบต.’ ท่ามกลาง‘โควิด’

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการ พนักงานท้องถิ่น นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย กรณีที่ประชุม ครม. มีมติให้จัดการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยให้ กกต.จัดเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ก่อนที่มีกว่า 5,300 แห่ง ช่วงปลายปี 2564 คาดว่าประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

รายงานหน้า 2 : ประเมินจัดศึก‘อบต.’ ท่ามกลาง‘โควิด’

เหตุแห่งการว่างเว้นการเลือกตั้ง อบต.อย่างน้อยเป็นเวลานานถึง 10 ปี หรือหากนับจากการทำรัฐประหารในปี 2557 ถึงปัจจุบันก็ผ่านไปแล้ว 7 ปี ทำให้พฤติกรรมในสนามการเมืองท้องถิ่นของประชาชนมีความเปลี่ยนแปลง เพราะต้องอดทนกับการทำหน้าที่รักษาการของนายก อบต.และสมาชิก อบต.อย่างต่อเนื่อง อาจก่อให้เกิดการใช้อำนาจนิยมคล้ายเป็นมาเฟียในท้องถิ่น เพราะกลุ่มการเมืองที่ครองอำนาจใน อบต.นาน 7-10 ปี แทนการทำหน้าที่ตามวาระปกติ 4 ปี มีความเชื่อมั่นในอำนาจของตัวเองมากยิ่งขึ้น และอำนาจหรืออิทธิพลของกลุ่มนักการเมืองบางกลุ่มที่คงค้างทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหลายด้าน

Advertisement

ประกอบกับความมุ่งมั่นและเจตนารมณ์ของการทำรัฐประหาร ส่วนหนึ่งเชื่อว่าต้องการทำลายรากฐานของประชาธิปไตยในท้องถิ่น ขณะที่ระบอบประชาธิปไตยของไทยได้เจริญงอกงามอย่างเต็มที่หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 จากนั้นในปี 2537 มีการกระจายอำนาจมี อบต.เกิดขึ้นทั่วไประเทศ ต่อมามีการพัฒนาไปสู่การเลือกตั้งนายก อบต.โดยตรง เพื่อตอบโจทย์ของการสร้างประชาธิปไตย ก็จะต้องกระจายอำนาจหรือสร้างหน่วยการปกครองในระดับท้องถิ่นถึงตำบล หมู่บ้าน

แต่การรัฐประหารปี 2557 ทำให้มีแนวคิดการรักษาอำนาจแบบรวมศูนย์ไว้ที่รัฐทหารส่วนกลาง ดังนั้น จึงต้องแช่แช็ง อบต.ที่ถูกจัดตั้งโดยกระบวนการที่ทำให้นักการเมืองท้องถิ่น หันมานิยมการปกครองในระบบแบบเผด็จการที่เอื้ออำนวยอำนาจและผลประโยชน์ให้กับผู้มีตำแหน่งทางการเมือง จิตใจของนักการเมืองส่วนใหญ่ที่เคยกระตือรือร้นเป็นตัวแทนของประชาชนเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มีความคิดสร้างสรรค์ให้กับตำบล หมู่บ้านของตนเอง ได้ถูกทำให้กลายเป็นการรับใช้รัฐราชการส่วนกลาง การทำงานในฐานะผู้บริหารท้องถิ่นจำเป็นต้องเงี่ยหูฟังคำสั่งจากหน่วยงานส่วนกลาง ผลจากการแช่แข็งอย่างยาวนาน ทำให้นักเลือกตั้งในสนามการเมืองท้องถิ่นกลายเป็นผู้ที่เชื่อมั่นในคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ

การเลือกตั้ง อบต.ในครั้งต่อไป ผู้สมัครหน้าเก่าที่เคยทำหน้าที่รักษาการจากมาตรา 44 ของ คสช.จะได้เปรียบคู่แข่งอย่างชัดเจน เนื่องจากการเลือกตั้งระดับตำบล หมู่บ้าน จะต่างจากการลงคะแนนเลือก ส.ส.เพราะอำนาจ หรืออิทธิพลในหมู่บ้าน จะมีผลโดยตรงกับประชาชนหากไม่คล้อยตามคนบางกลุ่มที่เสพติดอำนาจ และต้องการสืบทอดการทำหน้าที่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้สมัครหน้าใหม่ๆ ที่หวังจะมีความเปลี่ยนแปลง ก็คงไม่มีโอกาสเห็นการเสนอตัวของคนหนุ่มสาวที่มีทัศนคติในการทำหน้าที่เพื่อสิ่งที่แตกต่าง

Advertisement

แต่การเลือกตั้งจะมีให้เลือกแค่กลุ่มอิทธิพลเดิมกับกลุ่มผลประโยชน์ใหม่ที่จะพยายามเข้าไปยึดที่นั่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อแนวคิดต่อการเมืองในระบบประชาธิปไตยในรูปแบบสากล ส่วนตัวเชื่อว่าการเลือกตั้งจะต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล เพราะการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น กกต.แทบจะไม่ให้ความสนใจในการกำกับดูแลเพื่อทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ เที่ยงธรรมตามเป้าหมาย เนื่องจากผลการเลือกตั้งไม่ได้เปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่กลุ่มที่ได้รับเลือกตั้งไม่ว่าหน้าใหม่หรือหน้าเก่า จะมีความเชื่อมั่นในการทำงานร่วมกับรัฐบาลที่มาแนวทางการสืบทอดอำนาจ เพราะคนเหล่านี้ก็ไม่ต่างจาก 250 ส.ว.มองไม่ยากและรู้ดีว่าใครมีอำนาจที่แท้จริง

สำหรับข้อวิตกกังวลเรื่องประชาชนจะแห่กลับบ้านไปใช้สิทธิ ทำให้มีปัญหาการระบาดของโควิด หากมีการประเมินก่อนรัฐบาลจะล็อกดาวน์ เชื่อว่าคนต่างจังหวัดส่วนใหญ่ใน กทม.ตัดสินใจกลับบ้านเกิดแล้วจำนวนมาก ขณะที่การเลือกตั้ง อบต.ครั้งนี้การใช้เงินหาเสียงจะเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะประชาชนมีผลกระทบจากโควิดทำให้ขาดรายได้ จึงเชื่อว่าระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งน่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับตำบลหมู่บ้านได้ดีพอสมควร ประชาชนส่วนหนึ่งจะไม่สนใจนโยบาย แต่คิดว่าเลือกใครเข้าไปก็คงจะเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการซื้อเสียงจึงเป็นสิ่งที่หลีกหนีไม่พ้น บางภูมิภาคเคยประกาศว่าเงินซื้อไม่ได้ ขณะนี้มีผลวิจัยที่ชัดเจนว่าการเลือกตั้ง ส.ส.ผ่านมีการซื้อเสียงทุกจังหวัด

ทรงศักดิ์ โอษะคลัง
รองประธานสมาพันธ์ปลัด อบต.แห่งประเทศไทย แกนนำปลัด อบต. ภาคอีสาน

รายงานหน้า 2 : ประเมินจัดศึก‘อบต.’ ท่ามกลาง‘โควิด’

เห็นด้วยกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดให้มีการเลือกตั้งในรูปแบบองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ภายในปี 2564 และสนับสนุนให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ นายก อบต. และสมาชิกสภา อบต.ทั่วประเทศ หยุดปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 15 ตุลาคม 2564 กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายในวันที่ 12 ธันวาคม 2564

การพ้นจากตำแหน่งของนายก อบต.ในวันที่ 15 ตุลาคม ทำให้การออกคำสั่งแต่งตั้งและเลื่อนขั้นเงินเดือนเจ้าหน้าที่จัดทำไว้เรียบร้อยเป็นปกติ ไม่ต้องขอใช้อำนาจ หรือมีการเปลี่ยนแปลงผู้ประเมิน รวมทั้งมีหนังสือโต้ตอบรับโอนย้าย สายงานผู้บริหารกรณีเกษียณอายุราชการ ผู้บริหารมีหนังสือตอบรับได้ก่อนหยุดปฏิบัติหน้าที่ ผ่อนคลายเรื่องปลดล็อกการโอนย้ายได้ระดับหนึ่ง

ขณะที่การเลือกตั้งในวันที่ 12 ธันวาคม 2564 เชื่อว่ากระทรวงสาธารณสุขสามารถฉีดวัคซีนได้ประชาชน 2 เข็ม เพิ่มมากขึ้นตามสัดส่วนประชากร และทุกฝ่ายเชื่อมั่นว่า กกต.สามารถบริการจัดการเลือกตั้ง อบต.ได้ดีมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างจากการเลือกตั้งนายก อบจ.หรือเทศบาล เมื่อช่วงต้นปี 2564 ส่วน อบต.จะมีค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคระบาดในหน่วย ส่วนการแบ่งหน่วยเลือกตั้งในระดับหมู่บ้านจะมีความคล่องตัวในการคัดกรองผู้ใช้สิทธิในสถานการณ์โควิด มากกว่าหน่วยเลือกตั้งในเขตชุมชนเมือง

คาดว่า การเลือกตั้ง อบต.ครั้งนี้ประชาชนจะตื่นตัวไปใช้สิทธิมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากรอคอยการเลือกตั้งมานานมาก และประเมินว่าการแข่งขันในระดับหมู่บ้านจะมีความเข้มข้นมากกว่าในอดีต หลังจากกฎหมายกำหนดให้มีสมาชิก อบต.เหลือเพียงหมู่บ้านละ 1 ตำแหน่ง จากเดิมมี 2 ตำแหน่ง การลดจำนวนอาจจะไม่ตอบโจทย์ทางการเมือง แต่ผู้สมัครสมาชิก อบต. จะต้องมีคุณภาพในระดับที่ประชาชนไว้วางใจในความซื่อสัตย์ สุจริต

การลดจำนวนสมาชิก อบต.ทั่วประเทศทำให้ อบต.ประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายค่าตอบแทนสมาชิกได้มากกว่าปีละ 4,000 ล้านบาท สามารถนำงบที่เหลือไปพัฒนาอีกหลายด้าน สำหรับการทำงานของสมาชิก อบต. 1 คนต่อ 1 หมู่บ้าน คาดว่าจะมีเอกภาพในการทำหน้าที่มากกว่าเก่า ทำให้สภา อบต.มีความเข้มแข็งมากขึ้น รวมทั้งประสานการทำงานกับผู้นำท้องที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ยงยศ แก้วเขียว
นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย

รายงานหน้า 2 : ประเมินจัดศึก‘อบต.’ ท่ามกลาง‘โควิด’

หากรัฐบาลและ กกต.ตัดสินใจจะจัดการเลือกตั้ง อบต.ทั่วประเทศในช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม 2564 สมาคมในฐานะที่มีสมาชิกเป็นผู้นำท้องที่รวมกว่า 2 แสนคน ทำงานใกล้ชิดประชาชนในตำบลหมู่บ้านขอเรียนว่าไม่ได้คัดค้าน แต่ถ้าหากจะจัดเลือกตั้งให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดก่อนสิ้นปี ก็ขอให้รัฐบาลโชคดี ที่สำคัญการเลือกตั้ง อบต.ไม่ควรทำร้ายประเทศชาติและสังคมในภายหลัง เพราะอาจทำให้มีคลัสเตอร์ใหญ่กระจายไปทั่วประเทศ เหมือนสถานการณ์โควิด ที่เป็นผลมาจากการปล่อยให้ประชาชนเดินทางกลับบ้านในช่วงสงกรานต์เมื่อเดือนเมษายน 2564 ทำให้มีการระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งมีผลกระทบรุนแรงหลายด้าน แต่รัฐบาลยังไม่ได้แสดงความรับผิดชอบใดๆ

หลายเดือนที่ผ่านมากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล อสม. ทำงานหนัก 24 ชั่วโมง เพราะเป็นด้านหน้าในการเผชิญหน้ากับโควิดด้วยความเหนื่อยยาก ดังนั้น ขอให้รัฐบาล และกกต.คิดอย่างมีสติหากจะเลือกตั้ง อบต. เพราะนักการเมืองจะต้องเดินไปหาเสียงด้วยการเคาะประตูทุกประตูบ้าน ไปพบปะใกล้ชิดประชาชน มีการรวมกลุ่ม ขณะที่ประชาชนบางส่วนในหมู่บ้านยังมีคนเสี่ยงสูง ผู้ป่วยสีเขียว มีบุคคลที่ต้องกักตัว 14 วัน และคงเป็นไปไม่ได้หากจะคิดว่าควรมีการคัดกรองโควิดเฉพาะวันเลือกตั้ง เพราะการหาเสียง และการกำหนดเงื่อนไขในหน่วยเลือกตั้งของ อบต.จะต่างกับหาเสียงและวันเลือกตั้งของเทศบาล และ อบจ.เนื่องจากในช่วงปลายปี 2563 และต้นปี 2564 ในประเทศยังไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเกิน 1 หมื่นคนต่อวัน

ส่วนการคาดหมายว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้าสถานการณ์จะมีความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น ใครจะกล้าออกมายืนยันเรื่องนี้ เพราะประชาชนบางส่วนยังรอวัคซีนเข็มแรก ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนครบตามเป้าหมาย 70% แต่ถึงที่สุดแล้วหากรัฐบาลออกมายืนยันว่าพร้อมที่จะรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นจากผลของการเลือกตั้ง อบต. ทุกฝ่ายก็คงไม่ขัดข้อง แต่ขอให้รีบแสดงความชัดเจน เพราะนักการเมืองจะได้ทำใจและเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อออกไปเสี่ยงดวงหาเสียง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image