สกู๊ปหน้า 1 : จับสัญญาณแก้รธน. รัฐสภาชี้ขาด 10 ก.ย.

สกู๊ปหน้า 1 : จับสัญญาณแก้รธน. รัฐสภาชี้ขาด 10 ก.ย.

การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวันที่ 10 กันยายนนี้ มีวาระสำคัญทางการเมืองต้องจับตา คือ การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พุทธศักราช  (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) เพื่อลงมติในวาระที่ 3 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 (5) หลังจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 2 ครบ 15 วันแล้ว

สำหรับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (6) กำหนดให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องได้คะแนนเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา “มากกว่ากึ่งหนึ่ง” ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 365 คน จากสมาชิกที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 730 คน

ปัจจุบันมี ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 480 คน และ ส.ว. 250 คน และยังมีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน 20% หรือ 43 จาก 212 เสียง และมี ส.ว.เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ส.ว.ที่มีอยู่ คือ 84 เสียง

หากดูความเป็นไปได้ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ที่จะชี้ขาดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ว่าจะรอด หรือร่วง

Advertisement

เริ่มจากเสียงสนับสนุนของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ต้องมีเกณฑ์เห็นด้วย 20% ด้วยเสียงสนับสนุนของพรรคเพื่อไทย (พท.) เพียงพรรคเดียวย่อมผ่านได้ไม่มีปัญหา
ที่ต้องลุ้น คือ เสียงสนับสนุนของ ส.ว.ที่ต้องลุ้นให้ได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด คือ 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงให้ความเห็นชอบ

แม้ในขั้นวาระที่ 1 และวาระที่ 2 จะผ่านด่านของ ส.ว.มาได้ แต่ในวาระที่ 3 สัญญาณการลงมติของ ส.ว.ยังคงแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ตามที่ ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว.ระบุว่า การพิจารณาโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราวาระ 3 นั้น ขณะนี้ความเห็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ว.แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง แต่แนวโน้ม ส.ว.น่าจะผ่านให้ เพราะ ส.ว.ส่วนใหญ่เคยรับหลักการมาแล้วทั้งในวาระ 1 และ 2

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับสัญญาณของ ส.ว.กับผู้มีอำนาจ ว่าจะเดินหน้าอย่างไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนถึงวันลงมติชี้ขาดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

Advertisement

เพราะยังมี ส.ว.บางส่วน ยังมีความกังวลว่า หากให้มีการแก้ไขระบบเลือกตั้งให้นำบัตรเลือกตั้ง 2 ใบมาใช้อีกครั้ง อาจจะเข้าทางพรรค พท. ที่มีฐานเสียง ส.ส.เขตเข้มแข็ง จะชนะการเลือกตั้ง กลายเป็นเผด็จการรัฐสภาเหมือนในอดีตอีก
ขณะที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

นั้นเห็นด้วยกับระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพราะมีฐานเสียงจาก ส.ส.เขตที่เข้มแข็งพอๆ กับ พรรค พท.

อีกทั้งการที่พรรคใหญ่ อย่างพรรค พปชร. พรรค พท. และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) สนับสนุนให้กลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คำตอบสำคัญ คือ การได้แก้เกม ลดเสียง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ของพรรคก้าวไกล และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ได้ประโยชน์จากระบบบัตรเลือกใบเดียว กวาดเสียง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ มาได้เป็นกอบเป็นกำ

และการได้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบกลับมา ถือเป็นเกมการเมืองที่ถนัดของพรรคใหญ่ ที่มีฐานเสียงจัดตั้งในพื้นที่ที่เข้มแข็ง การหาเสียงในพื้นที่ทำได้ง่ายและตรงเป้าหมาย คือ เลือกคนที่รัก และเลือกพรรคที่ชอบ

ต่างจากท่าทีของแกนนำพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ไม่แฮปปี้กับระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

โดย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท. ออกมาระบุถึงแนวทางการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ของพรรค ภท.ว่า เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. จุดยืนของพรรค ภท. หากจะแก้รัฐธรรมนูญต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ไม่ใช่ประโยชน์ของพรรคการเมือง หรือนักการเมือง หลักมีอยู่แค่นี้ ส.ส.พรรค ภท.มีวุฒิภาวะที่จะตัดสินใจได้ว่าจะโหวตแบบไหน เพราะเรื่องรัฐธรรมนูญไปบังคับกันไม่ได้

เช่นเดียวกับท่าทีของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ โดยพร้อมสนับสนุนให้ใช้บัตร 2 ใบแบบจัดสรรปันส่วนผสม (ระบบ MMP) เพื่อให้ได้สัดส่วนที่นั่งในสภา กับคะแนนเสียงของประชาชนที่เป็นธรรม เพื่อสะท้อนเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ทำให้เกิดปัญหาคะแนนเสียงตกน้ำ

ทั้งนี้ ตามไทม์ไลน์การโหวตในวาระที่ 3 หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว.ไม่ถึง 84 เสียง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวก็ต้องตกไป

แต่หากมีเสียงสนับสนุนจนผ่านวาระที่ 3 ไปได้ ก่อนนายกฯนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ขึ้นทูลเกล้าฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (7) ระบุว่า ต้องรอไว้ 15 วัน ก่อนนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ

อีกทั้งยังมีอีกหนึ่งเงื่อนไขเปิดช่องเอาไว้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (9) ที่ให้สมาชิกรัฐสภา ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสภาแห่งนั้น หรือเท่าที่มีอยู่ของสภา เข้าชื่อยื่นต่อประธานรัฐสภา ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

จากท่าทีล่าสุด แกนนำพรรคเล็กทั้ง 7 พรรค เตรียมรวบรวมรายชื่อ ส.ส.และ ส.ว.เพื่อยื่นต่อประธานรัฐสภา ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากที่ประชุมรัฐสภาโหวตผ่านในวาระที่ 3

ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะเดินไปถึงจุดหมายได้หรือไม่
คำตอบจะเริ่มจากการโหวตวาระที่ 3  วันที่ 10 กันยายนนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image