อ.จุฬาฯ ติง กมธ.ศาสนาฯ ใช้อำนาจเรียก 2พส.ชี้แจง ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง-ขัดหลักรัฐธรรมนูญ

อ.จุฬาฯ ติง กมธ.ศาสนาฯ ใช้อำนาจเรียก 2พส.ชี้แจง ไม่เหมาะสม-ขัดหลักรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เขียนข้อความแสดงความเห็น กรณีกมธ.ศาสนาฯ สภาผู้แทนราษฎร นิมนต์พระมหาไพวัลย์ และพระมหาสมปอง 2 พระนักเทศน์ชื่อดังจากวัดสร้อยทองไป ที่สภา เพื่อชี้แจงกับ กมธ.กรณีการไลฟ์สด จนมีคนดูจำนวนมาก ต่อมามีความกังวลจากกลุ่มคนบางฝ่ายว่าอาจเป็นการประพฤติไม่เหมาะสม โดย ระบุว่า

กรณี พส. 2 รูป ได้แก่ พระมหาสมปองและพระมหาไพรวัลย์ ท่านรับนิมนต์ตามคำเชิญของคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎรนั้นก็เรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ดี เรื่องนี้มีประเด็นทางรัฐธรรมนูญที่ควรอธิบายให้ชัดเจน ผมเห็นว่าการใช้อำนาจของ กมธ.ไม่น่าจะสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและเป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเรียก หรือเชิญท่านไปชี้แจงอธิบายใดๆ ที่สภาฯ

1. กรณีที่ กมธ.ฯ ใช้อำนาจเรียก (อำนาจแสวงหาข้อเท็จจริง) อันเป็นกลไกทางการเมืองอาจมีลักษณะไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเชื่อมโยงอยู่ ม.31 ของรัฐธรรมนูญว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนาที่มีส่วนในการกำหนดแยกเขตแดนระหว่าง”กิจกรรมทางการเมือง” (เรื่องทางโลก) กับ “กิจกรรมทางศาสนา” (เรื่องทางธรรม) ออกจากกัน (Seaparation of State and Church)

Advertisement

2. จากข้อ 1 การที่ กมธ.บางท่านไปอ้างว่าคณะกรรมาธิการของตนมีอำนาจตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรฯ จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้อง เป็นการบังคับใช้ข้อบังคับการประชุมที่ขัดแย้งไม่สอดคล้องต่อ (หลักกฎหมาย) รัฐธรรมนูญเสียเอง

3. หาก กมธฯ จะอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญประกอบกับข้อบังคับการประชุมสภาฯ เพื่อใช้อำนาจเรียกเพื่อสอบหาข้อเท็จจริงกรณีที่เป็นประเด็นอยู่นั้น สามารถทำได้ด้วยการเรียกผู้แทนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวเข้ามาชี้แจง

ผมคิดว่าหลักการทางรัฐธรรมนูญเรื่องนี้ต้องพูดกันให้ชัดเจนครับ “อำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมาธิการในรัฐสภา” มีข้อจำกัด ไม่อาจใช้ได้ในทุกกรณี (ไม่ต่างกับกรณีการห้ามยุ่งเกี่ยวกับเรื่องที่มีการดำเนินคดีแล้วตามกฎหมาย การปฏิบัติหน้าที่ของศาล ฯลฯ)

Advertisement

ฝ่ายการเมืองต้องตระหนักกับหลักการข้างต้น ไม่ใช้ระบบคณะกรรมาธิการในสภาฯ ซึ่งเป็นกลไกทางการเมืองไปแทรกแซงเรื่อง หรือกิจกรรมทางศาสนาด้วยการเรียก “พส.” ทั้ง 2 รูป โดยตรง ทั้งๆ ที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่เช่นนี้ มิฉะนั้นแล้ว ต่อไป “โลกทางการเมือง” และ “โลกทางธรรม” คงจะปะปนหาความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายกันได้ยาก

ต่อมา ผศ.ดร.พรสันต์ กล่าวเพิ่มเติม ระบุว่า แม้ทางคณะกรรมาธิการศาสนาฯ ของสภาผู้แทนราษฎรจะกล่าวว่าไม่ได้เข้าไปชี้ถูกผิดในเนื้อหาการไลฟ์สดของ พส.ทั้ง 2 รูป เป็นแค่การหารือเท่านั้น แต่ผมขอย้ำว่าการหารือแลกเปลี่ยนทำไม่ได้และไม่ควรกระทำตั้งแต่ต้นอยู่แล้วเพราะขัดกับรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรฯ ครับ
.
เรื่องถูกผิด หรือเหมาะสมหรือไม่อย่างไรทางศาสนาเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การที่ กมธฯ ขอให้การไลฟ์สดของพระมหาสมปองก็ดี หรือพระมหาไพวัลย์ก็ดี มีเนื้อหา 70% และเฮฮา 30% ถือเป็นกรณี (ฝ่าย) การเมืองเข้าไป “ล่วงละเมิด หรือแทรกแซงกิจกรรมทางศาสนา” ของ พส. ทั้ง 2 รูป แล้ว (จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม) นี่คือการเข้าไปตัดสินและกำหนดเนื้อหาที่ พส.ทั้ง 2 จะนำเสนอเผยแผ่แล้วโดยปริยาย
.
คำถามผมคือ กมธฯ ใช้อำนาจอะไรในการเข้าไปบอกกล่าวกำหนดเนื้อหาเช่นนั้น?
.
ประเด็นนี้สำคัญอย่างมาก เราต้องขีดเส้นแบ่งให้ชัดครับระหว่าง “เรื่องทางการเมือง” ที่มีกลไกทางการเมืองคอยตรวจสอบถ่วงดุล และ “เรื่องทางศาสนา” ที่ก็มีกลไกตรวจสอบเป็นการเฉพาะของเขา จะเอามาปะปนกันแบบนี้ไม่ได้ มิฉะนั้น จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมฯ แบบผิดๆ ต่อการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการศาสนาฯ ในรัฐสภา (ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) สำหรับการใช้อำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงที่มีขอบเขตจำกัด และมีผลกระทบอย่างมากต่อบทบาทหน้าที่ของรัฐสภาโดยรวมด้วย
.
หากยังคงคิดว่าทำได้ ลองนึกภาพว่า ในอนาคต วันดีคืนดีคณะกรรมาธิการศาสนาฯ ของรัฐสภาอยากจะใช้อำนาจเรียกพระสงฆ์รูปอื่นๆ มาแลกเปลี่ยนหารือความคิดเห็นทำนองเดียวกับพระมหาสมปองและพระมหาไพวัลย์แบบนี้ก็ทำได้อย่างนั้นหรือ? พระท่านจะหน้าที่ หรือดำเนินกิจกรรมของตนเองอย่างไร? เราจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทำไม? ฯลฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image