‘นิพนธ์’ ถก ศปถ. 25 จว.ภาคกลาง ย้ำเมื่อคลายล็อกโควิด-19 ต้องเข้มงวดวินัยจราจร ป้องกันไม่ให้การเสียชีวิตบนถนนเพิ่มขึ้น เผยตัวเลขขณะนี้มีผู้เสียชีวิตบนท้องถนน แล้ว 9,237 ราย
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 9 กันยายน นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการบูรณาการเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ รุ่นที่ 4 (กรุงเทพฯและจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง 25 จังหวัด) ผ่านระบบ Zoom Meeting เพื่อมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน
นายนิพนธ์กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลจากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ระหว่างเดือนมกราคม – ปัจจุบัน 2564 มีผู้เสียชีวิตสะสม 9,237 ราย และบาดเจ็บสะสม 602,914 คน โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้นำกรอบแนวทางการดำเนินงานภายใต้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) ปฏิญญาสตอกโฮล์ม และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์มาขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยมีเป้าหมายลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ให้เหลือ 12 คน ต่อประชากรแสนคนภายในปี 2570 และในปี พ.ศ. 2565 ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงาน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตให้เหลือ 22.85 คนต่อประชากรแสนคน
นอกจากนี้ให้ดำเนินตามแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยให้ความสำคัญกับกลไกในการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ทุกระดับ ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น กำหนดเป็น “วาระจังหวัด” ที่จะต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในพื้นที่และให้มีการประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อได้ร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้อย่างต่อเนื่อง ให้เร่งจัดตั้ง ศปถ.ท้องถิ่นให้ครบทุก อปท. จัดทำแผน/โครงการด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ตามบริบทของสภาพปัญหาในพื้นที่ และความจำเป็นบรรจุไว้ในแผนจังหวัด แผนอำเภอ แผนพัฒนาท้องถิ่น แผนปกติของหน่วยงาน เป็นต้น และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ลดการสูญเสียและผลกระทบที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างแท้จริงนำไปสู่ ”ตำบลขับขี่ปลอดภัย” เน้นให้ความสำคัญกับด่านต่างๆ เช่น ด่านโรงเรียน ด่านบ้าน ด่านโรงงาน ซึ่งถือเป็นด่านสำคัญที่จะทำให้การขับขี่ การใช้รถใช้ถนนมีความปลอดภัยมากขึ้น รวมทั้งสำรวจ จุดเสี่ยง จุดอันตราย ป้ายบอกทาง และไฟฟ้าส่องสว่าง เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ให้ถอดบทเรียนจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ประเทศไทย และนำมาบูรณาการปรับใช้ในการตั้งด่านหรือจุดตรวจเพื่อป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่และหลังจากปลดการควบคุมเข้มข้นของโรคไวรัสโควิด -19 แล้วต้องดูแลการจราจรอย่างเข้มข้นต่อไป ซึ่งขณะนี้มียอดผู้เสียชีวิตบนท้องถนนเกือบหมื่นรายแล้ว