นักวิชาการประเมิน อาฟเตอร์ช็อกการเมือง ‘ผ่าน-คว่ำ’ร่างแก้รธน.

นักวิชาการประเมิน อาฟเตอร์ช็อกการเมือง ‘ผ่าน-คว่ำ’ร่างแก้รธน. หมายเหตุ - นักวิชาการให้ความเห็นถึงกรณีที่การประชุมร่วมรัฐสภาจะโหวตวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

นักวิชาการประเมิน
อาฟเตอร์ช็อกการเมือง
‘ผ่าน-คว่ำ’ร่างแก้รธน.

หมายเหตุ – นักวิชาการให้ความเห็นถึงกรณีที่การประชุมร่วมรัฐสภาจะโหวตวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในวันที่ 10 กันยายน ไม่ว่าจะโหวตผ่านหรือไม่ผ่าน จะมีผลต่อสถานการณ์การเมืองอย่างไรบ้าง


สมชัย ศรีสุทธิยากร
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการเลือกตั้ง มหาวิทยาลัยรังสิต

ประชาชนทั่วไปไม่ได้ตื่นเต้นอะไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เนื่องจากเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมือง ทางภาคประชาชนต้องการให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มากกว่า

Advertisement

พรรคการเมืองที่เสนอแก้ไขเชื่อว่าจะได้รับประโยชน์ แต่ฝ่ายที่เสียประโยชน์ก็จะมองว่าการแก้ไขยังไม่สมบูรณ์ เพราะไปขัดแย้งกับบางมาตรา หรืออาจเกิดการตีความจากความเห็นที่แตกต่าง

ปัญหาที่จะเกิดขึ้นเป็นเรื่องการเขียนกฎหมายลูก เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เลือกตั้ง ส.ส.ต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีความขัดแย้งในรูปแบบการนับคะแนนเพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ฝ่ายที่เสนอร่างก็ประสงค์จะให้เอาคะแนนของบัตรเลือกตั้งใบที่ 2 มาคิดเป็นสัดส่วน ส.ส. 100 คน จากนั้นพรรคการเมืองก็แบ่งไปตามสัดส่วน แต่เนื่องจากการแก้ไขไม่สมบูรณ์ไม่มีการยกเลิกมาตรา 93 และมาตรา 94 ที่มีถ้อยคำที่ปรากฏว่าการคำนวณ ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี การกำหนดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ จึงหมายความว่าจะต้องคำนวณภายใต้เจตนาของมาตรา 93 คือทุกคะแนนเสียงต้องไม่ตกน้ำ

ดังนั้น วิธีการคิดแบบนี้ฝ่ายที่ตีความในหลักการของมาตรา 93 เดิม ก็จะบอกว่าจะเอาบัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อไปคิดเป็น ส.ส 100 คนไม่ได้ แต่ต้องนำบัตรไปคำนวณจากจำนวน ส.ส. 500 คน แล้วนำไปคำนวณว่าแต่ละพรรคได้คะแนนเท่าไร จะได้ ส.ส.ที่พึงจะมีกี่คน และไปคิดคำนวณว่าจะมี ส.ส บัญชีรายชื่อกี่คน เป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสมภายใต้บัตร 2 ใบ

หากรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 โอกาสต่อไปคาดว่าจะมีการถกเถียงในขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ สุดท้ายอาจใช้เสียงข้างมากลากไปทางใดทางหนึ่ง แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็จะฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการร่างกฎหมายลูกขัดกับรัฐธรรมนูญ

การใช้บัตรใบเดียวในระบบจัดสรรปันส่วนผสม มีเจตนาต้องการทำลายพรรคใหญ่ที่มีคะแนนเสียงดีในขณะนั้น ในอดีตก็คือพรรคเพื่อไทย ผลจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคเพื่อไทยไม่มี ส.ส บัญชีรายชื่อแม้แต่รายเดียว แต่สถานการณ์ปัจจุบันพรรคที่มีแนวโน้มจะได้คะแนนในเขตจำนวนมากเป็นพรรคพลังประชารัฐ

ดังนั้น เมื่อใช้กติกาแบบเดิมผลที่เกิดขึ้นจึงอาจทำให้พรรคพลังประชารัฐเสียเปรียบ ทำให้ดาบที่สร้างขึ้นมาเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม วันนี้ดาบนั้นกลับมาทิ่มแทงตัวเอง ในลักษณะกรรมตามสนอง

แต่ถึงที่สุดก็คาดได้ยากไม่แน่ใจว่าพลังประชารัฐจะมีพลังจริงหรือไม่ หรือในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยยังมีศักยภาพสูง ทำให้ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นแบบเดิม พรรคพลังประชารัฐจะได้อานิสงส์จากบัตรใบเดียว เพราะแพ้ในเขตแต่ได้เพิ่มจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ

จุดนี้คาดการณ์ยากเพราะไม่สามารถประเมินเสียงของประชาชนว่าถึงเวลาเลือกตั้งจะเลือกด้วยพฤติกรรมอย่างไร จะเลือกตัวบุคคลในเขต หรือสนใจจะเลือกพรรค แต่สิ่งที่พอทำนายได้หากการเลือกตั้งล่าช้าออกไป ผลที่เกิดขึ้นพรรคการเมืองในซีกรัฐบาลจะเสียเปรียบจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชาชนผู้สูงอายุ วัยกลางคนที่มีน้อยลง ขณะที่คนรุ่นใหม่จะเติบโตขึ้น 1 ปีมีประมาณ 8 แสนถึง 1 ล้านคน หากเลือกตั้งช้าคะแนนของคนรุ่นใหม่ก็จะขยับขึ้นมาเรื่อยๆ

เป็นที่ทราบกันดีว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ ต้องการให้ร่างแก้ไขผ่านสภา ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องการให้ผ่านเพราะเป็นร่างที่พรรคนำเสนอ ส่วนพรรคอื่นๆ รวมทั้งพรรคเล็กไม่เอาร่างนี้ เพราะเชื่อว่าพรรคขนาดกลาง ขนาดเล็กเสียเปรียบ ต้องดูว่า ส.ว.จะคิดเห็นอย่างไร

หาก ส.ว.คิดว่าเลือกตั้งบัตร 2 ใบจะทำให้พรรคเพื่อไทยเข้มแข็งอีกครั้ง เป็นอันตรายกับผู้มีอำนาจในปัจจุบันก็อาจจะโหวตคว่ำ เพื่อใช้วิธีการแบบเดิมเพราะ ส.ว.ยังโหวตเลือกนายกฯได้ และเชื่อว่าไม่เป็นปัญหาในการรวบรวมเสียงจากพรรคเล็ก

หรือ ส.ว. อาจจะประเมินว่าบัตร 2 ใบเป็นความประสงค์ของพรรคพลังประชารัฐที่คาดว่าพรรคจะเข้มแข็งคงจะโหวตรับร่าง หากให้ประเมินคิดว่า ส.ว.ยังไม่มั่นใจกับกระแสในอนาคต แต่พอใจกับการเมืองในสภาวการณ์ปัจจุบันมากกว่า

สำหรับจุดยืนพรรคประชาธิปัตย์ผู้เสนอร่าง หากร่างไม่ผ่านจะทำอย่างไร และจะเอาจริงกับการแก้ไขมากน้อยแค่ไหน หากเอาจริงร่างของพรรคไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจให้ผ่าน หรือเห็นว่าเป็นเพียงแค่เล่นละคร พรรคประชาธิปัตย์ก็ควรทบทวนตัวเองว่ายังจะอยู่ร่วมรัฐบาลต่อไปได้อีกหรือไม่ หากพรรคมองเห็นประโยชน์เฉพาะหน้าเพียงร่วมรัฐบาลเพื่อหวังตำแหน่งทางการบริหาร ใช้กลไกสร้างคะแนนนิยมให้พรรคได้ พรรคก็ต้องเลือกอยู่กับรัฐบาลต่อไป

หากให้ประเมินพรรคจะเลือกอยู่กับรัฐบาล เพียงแต่บอกว่าจะพยายามอีกครั้งหรือมีเหตุผลอื่น แต่ความจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่อยู่ในนโยบายของพรรคที่นำไปใช้หาเสียง ร่างที่แก้ไขเป็นร่างหลักของพรรคที่นำเสนอ หากถูกล้มไปในวาระ 3 ก็แสดงถึงความไม่จริงใจของผู้นำรัฐบาลที่ส่งสัญญาณไปยัง ส.ว.พรรคประชาธิปัตย์ก็ควรทบทวนตัวเอง เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไขสำคัญของพรรคในการร่วมรัฐบาล

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ไม่มั่นใจว่าการโหวตร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 มีโอกาสผ่านหรือไม่ ขอให้น้ำหนักอยู่ที่ 60% แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเป็นการชี้ทิศทางอนาคตการเมืองไทยพอสมควร

จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เราจะเห็นถึงความไม่ลงรอยในพรรคพลังประชารัฐ มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ในพรรคอย่างเห็นได้ชัด อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการปรับ ครม. แม้กระทั่งยุบสภาในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า แล้วนำไปสู่การเลือกตั้ง

เงื่อนไขสำคัญคือ 1.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2.การขับเคลื่อนงบประมาณปี 2565 ไปสู่ประชาชน 3.การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำ ทั้งฝ่ายทหาร และพลเรือน

ในเงื่อนไขประการแรกที่กำลังจะมาถึงคือการแก้ไขรัฐธรรรมนูญ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเลือกตั้ง แม้ประชาชนทั่วไปจะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง แต่เป็นเรื่องของนักการเมืองและพรรคการเมือง เพราะส่งผลต่อคะแนนเสียงเลือกตั้งที่จะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น แต่ละพรรคการเมืองจึงมีจุดยืนต่อบัตรเลือกตั้ง 2 ใบต่างกัน

พรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ พอจะเห็นตรงกัน สนับสนุนบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ในระบบคู่ขนาน เนื่องจากจะทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ

ขณะที่พรรคขนาดกลาง เช่น พรรคภูมิใจไทย และพรรคก้าวไกล ไม่สนับสนุนบัตรเลือกตั้ง 2 ใบในระบบคู่ขนาน กรณีพรรคก้าวไกล สนับสนุนบัตร 2 ใบ ในระบบสัดส่วนผสม (MMP) เพราะพรรคขนาดกลางไม่เสียเปรียบ

ที่น่าแปลกคือพรรคภูมิใจไทย ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล กลับเห็นสอดคล้องกับพรรคก้าวไกล มีมติออกมาว่าจะงดออกเสียง กระทั่งมีคนเปรียบเทียบว่าเหมือนเป็นการฉีดวัคซีนสูตรไขว้

อย่างไรก็ดี พรรคภูมิใจไทยยังมีฐานที่มั่นที่แข็งแรงในอีสานใต้ แต่พรรคก้าวไกลยังไม่มีฐานที่มั่นจาก ส.ส.แบ่งเขต จึงเห็นการเคลื่อนไหวของพรรคก้าวไกลมากกว่า

ส่วนพรรคเล็ก พรรคจิ๋ว อาจไม่ได้ประโยชน์จากบัตร 2 ใบ เพราะการปรับสัดส่วนคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 เล็กน้อย ซึ่งจะตัดอยู่ที่ 5% แต่รัฐธรรมนูญที่เสนอแก้ไขจะตัดอยู่ที่ 1% เท่ากับว่าพรรคเล็กจะมี ส.ส.เข้ามาได้บ้าง แต่พรรคจิ๋วที่มี 1 ที่นั่งจะหายไปหมด บรรดาพรรคจิ๋วจึงไม่สนับสนุน

โครงสร้างการลงคะแนนเสียงของพรรคการเมืองจะออกมาในลักษณะนี้ ขณะที่ ส.ว.ยังเสียงแตกอยู่ แต่หาก ส.ว.มีทิศทางการลงมติแล้ว จะมีความเป็นเอกภาพสูง ส.ว.จึงเป็นเสียงชี้ขาด ในวาระ 3 ที่ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา ซึ่งรัฐสภามี 732 คน กึ่งหนึ่งคือ 366 เสียงขึ้นไป ซึ่งต้องมีเสียง ส.ว.อยู่ด้วยไม่น้อยกว่า 84 เสียง (1 ใน 3 จาก 250 ส.ว.) และต้องมีเสียงของพรรคฝ่ายค้าน+พรรคเล็ก พรรคจิ๋ว อีกร้อยละ 20 หรือราว 45 คน แต่ไม่น่ากังวล เพราะเสียงที่จะชี้ขาดคือ ส.ว.

หากร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่าน ประธานรัฐสภาต้องพักร่างเอาไว้ 15 วัน แล้วจึงนำส่งนายกฯ และนายกฯต้องพักร่างเอาไว้อีก 5 วัน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ถ้าช่วงเวลาที่พักร่างอยู่ มีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ก็เป็นอีกหนึ่งจุด ที่จะมีผลให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องรอไปอีก 30 วัน แล้วหากจอดป้ายที่ศาลรัฐธรรมนูญ คือวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างก็จบ

จึงเห็นว่าในชั้นกรรมาธิการ มีการเสนอเรื่องการแปรญัตติที่มากกว่า 2 มาตรา และมีบทเฉพาะกาลที่หลายฝ่ายวิพากษ์ว่า คือการตีเช็กเปล่าให้ กกต.หรือไม่ แต่สุดท้ายทุกอย่างถูกถอดออกทั้งหมด เนื่องจากเกรงว่าหากมีปัญหากับศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้รัฐธรรมนูญถูกจอดได้

วันนี้จึงเป็นร่างที่แทบไม่มีรายละเอียด หากผ่านร่างไปจริงๆ ก็จะเป็นปัญหา หากเกิดยุบสภาขึ้นมา มีการเลือกตั้งใหม่ในช่วงที่ยังไม่มีการร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แล้วจะใช้กฎเกณฑ์ใด ซึ่งเดิมมีบทเฉพาะกาลให้ กกต.ออกแนวปฏิบัติได้ แต่บทเฉพาะกาลนี้ถูกตัดออกไปแล้ว เป็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัยกันต่อว่าจะเอากฎหมายเลือกตั้งฉบับเก่ามาใช้ในส่วนที่ไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ เพราะถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองต่อระบบจัดสรรปันส่วนผสม (บัตรเลือกตั้งใบเดียว) แต่ถ้าสามารถแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ได้แล้วเสร็จ และสอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญที่จะผ่าน ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร

แต่ถ้าเกิดการโหวตคว่ำ หรือจอดป้ายที่ศาลรัฐธรรมนูญก็ดี เท่ากับว่ากติกาทุกอย่างยังคงเดิม บัตรเลือกตั้งใบเดียว ใช้คำนวณคะแนนเสียง 2 ครั้ง ทำให้รูปโฉมทางการเมืองไม่เปลี่ยนไปจากเดิม แม้จะมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แต่โครงสร้างทางการเมืองยังอยู่ในภาวะการเมืองนอกสภาก้าวหน้า การเมืองในสภาล้าหลัง

เมื่อช่องทางการเมืองในระบบ ไม่เปิดกว้าง ไม่มีพื้นที่ แน่นอนว่าประชาชนก็ต้องลงถนน หากปัจจัยโควิดหมดไป ความเดือดร้อน และข้อเรียกร้องของประชาชนยังคงอยู่ จึงมีโอกาสที่จะได้เห็นการชุมนุมใหญ่ ซึ่งเสี่ยงนำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองได้เช่นกัน การเมืองในระบบจึงต้องตอบสนอง โดยปรับจูนตัวเอง ให้สอดคล้องกับการเมืองนอกสภา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image