‘ก้าวไกล’ จวก ยกเลิกตั๋วเที่ยว ประชาชนสาหัส รัฐบาลไร้น้ำยา ทำได้แค่ ‘ขอร้อง’

‘ก้าวไกล’ จวก ยกเลิกตั๋วเที่ยว ประชาชนสาหัส รัฐบาลไร้น้ำยา ทำได้แค่ ‘ขอร้อง’

เมื่อวันที่ 13 กันยายน สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล รองประธานกมธ.คมนาคมฯ สภาผู้แทนราษฎร เขียนข้อความแสดงความเห็นกรณีการบกเลิกตั๋วเที่ยว ระบุว่า ทำให้ประชาชนเดือนร้อนหนัก แต่รัฐบาลทำได้แค่ขอร้อง โดย ระบุว่า

ยกเลิกตั๋วเที่ยว ประชาชนสาหัส รัฐบาลทำได้แค่ “ขอร้อง” จากดราม่า “ปัญหาค่ารถไฟฟ้าแพง” ต่อด้วยการ “ยกเลิกตั๋วเที่ยว” ทำให้ประชาชนเดือดร้อนหนักจากการขาดส่วนลด (ซึ่งดันเป็นสิทธิ์ของเอกชนตามสัญญากับรัฐว่าจะให้ส่วนลดหรือไม่ก็ได้) เช่น จากอ่อนนุชไปศาลาแดง เดิมคนทำงานจะซื้อตั๋วแบบ 40 เที่ยว 1,080 บาท (ตกเที่ยวละ 27 บาท) กลายเป็นต้องจ่ายเที่ยวละ 44 บาท แพงขึ้นทันที 63% หรือเดือนละ 680 บาท รัฐบาลโดย (1) กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลระบบราง และโดย (2) กทม. ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หรือที่เรียกติดปากกันว่ารถไฟฟ้า BTS) ได้แต่ขอร้องไม่ให้เอกชนยกเลิกส่วนลด

ย้ำ! รัฐบาลไร้น้ำยา ทำได้แค่ “ขอร้อง”

Advertisement

ปัญหาคือรัฐบาลไทย (รัฐบาลอื่นทั่วโลกไม่ค่อยทำกันแบบนี้) ใช้วิธีเจรจาเป็นสาย ๆ แบ่งเค้กเป็นราย ๆ แบบไร้มาตรฐาน บางสายอุดหนุนมาก บางสายอุดหนุนน้อย แล้วแต่การเจรจา แล้วผูกพันด้วยสัญญาระยะยาว (โดยทั่วไปคือ 30 ปี) คิดค่าโดยสารเป็นเส้น ๆ “ไม่ได้เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง” ทำให้เกิดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน (เปลี่ยนสายต้องจ่ายค่าแรกเข้าใหม่) และค่าระยะทางแบบนับใหม่ (ทำให้แพงทบต้นขึ้นไปอีก) หากเอาประชาชนเป็นตัวตั้งต้องกำหนด “ค่าโดยสารร่วม” เช่น ค่าโดยสารของการใช้ 5 สถานีในสาย A ควรเท่ากับ 3 สถานีในสาย A แล้วต่ออีก 2 สถานีในสาย B เป็นต้น

การแก้ไขสัญญาก็ยากมาก ๆ และการที่เอกชนจะยอมแก้คือ เขาต้องได้เปรียบ! เท่านั้นยังไม่พอ พอใกล้จะหมดอายุสัญญาสัมปทาน เอกชนก็มักหาเหตุเพื่อขยายสัญญาสัมปทานออกไป พ่วงด้วยการมุบมิบเจรจาไม่ให้สาธารณชนได้รับรู้เงื่อนไขในการเจรจาและหลีกเลี่ยงการแข่งขันเพื่อป้องกันเจ้าอื่นหรือเจ้าใหม่มาแย่งชิงสิทธิ์ในการผูกขาด ทำให้รัฐเสียประโยชน์จากส่วนแบ่งรายได้หรือประชาชนต้องจ่ายแพงเกินควร

สังคมต้องเข้าใจด้วยว่า “รถไฟฟ้าดีจริงแต่มันแพง!” ค่าก่อสร้างตกกิโลเมตรละ 2-9 พันล้านบาท ต้นทุนหลัก ๆ แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ (1) ค่าเวนคืนซึ่งโดยปกติรัฐอุดหนุน 100% (2) ค่างานโยธา ซึ่งแพงสุด/สำคัญสุด และมักมีผลประโยชน์แอบแฝงเยอะ บางสายรัฐไม่ออกให้เลยในขณะที่บางสายรัฐอุดหนุน 100% (3) ค่างานระบบ ซึ่งประกอบด้วยตัวรถไฟฟ้า ระบบไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ ฯลฯ และ (4) ค่าบริหารจัดการและซ่อมบำรุงรายปี การที่รัฐบาลเลือกลงทุนระบบขนส่งสาธารณะในแต่ละเส้นทาง (รถไฟฟ้า LRT BRT รถเมล์ เรือ) จึงสำคัญมาก!

Advertisement

หลักในการเจรจาแบบไทย ๆ โดยมากใช้ PPP Net Cost (รวมถึงรถไฟฟ้า BTS) คือรัฐช่วยอุดหนุนบางส่วนแล้วยกส่วนที่เหลือให้เอกชนลงทุน ซึ่งแน่นอนว่าเอกชนลงทุนก็ต้องหวังผลกำไร โดยเก็บจากค่าโดยสาร (Farebox Revenue) และการหาผลประโยชน์อื่นจากโครงการ (Non-Farebox Revenue) ประเด็นสำคัญในส่วนนี้ (แม้ว่า BTS จะเป็นผู้ลงทุนเองแทบทั้งหมด) คือ: ต้องโปร่งใส! ประชาชนต้องสามารถตรวจสอบได้ว่ารัฐบาลจะไม่ “แอบให้” ผลประโยชน์กับเอกชนมากเกินควร ก่อนเซ็นสัญญาผูกพัน!

สมมติว่าโปร่งใส (เอกชนได้กำไรอย่างเป็นธรรม) สุดท้ายก็ต้องมีคนจ่ายอยู่ดี ซึ่งก็คือประชาชน ไม่ว่าจะ (1) ผู้ใช้เป็นผู้จ่าย ผ่านค่าโดยสาร หรือ (2) ทุกคนมาช่วยกันจ่าย ผ่านเงินภาษีประเภทต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงเงินกู้ซึ่งทุกคนต้องมาร่วมกันใช้หนี้อยู่ดี

ปัญหาตอนนี้คือผู้ใช้รู้สึกว่าแพง ก็ต้องมาถกเถียงกันว่า:

(ก) เอกชนเอากำไรมากเกินไปหรือไม่?
(ข) ต้องการเอาเงินภาษีมาอุดหนุนเพิ่มหรือไม่?
(ค) ที่สร้างกันไปแล้ว จะแก้ปัญหาอย่างไร? และที่กำลังจะสร้างเพิ่ม มีเงินภาษีมากพอจะอุดหนุนหรือไม่?

สำคัญคือต้องสร้างแบบรู้จักคิดมากกว่านี้ ที่ผ่านมา “ขาดการวางแผนอย่างเป็นระบบ”

> ไม่คิด: โครงการใดควรทำก่อน/ทำหลัง
> ไม่สน: ความคุ้มค่าของแต่ละโครงการ
> ไม่เลือก: ระบบใหญ่ (รถไฟฟ้า) vs. ระบบรอง (LRT, BRT, รถเมล์)
> ไม่เหลือ: เงินสำหรับปรับปรุงการเชื่อมต่อ (กว่าจะถึงสถานีรถไฟฟ้า)

ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องจริงจังกับการ “แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ด้วยการกำหนด “ค่าโดยสารร่วม”: ค่าโดยสารของการใช้ 5 สถานีในสาย A ควรเท่ากับ 3 สถานีในสาย A แล้วต่ออีก 2 สถานีในสาย B และจะดีขึ้นไปอีกหากคิดถึงการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะประเภทอื่น (กว่าจะถึงสถานีรถไฟฟ้า ประชาชนจำนวนมากต้องจ่ายแพงมาก แพงมากกว่าค่ารถไฟฟ้าด้วยซ้ำในหลายกรณี)

หากยังไม่รีบแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง ปัญหาค่ารถไฟฟ้าแพงจะรุนแรงขึ้นอีกเพราะกำลังจะเปิดให้บริการอีกหลายสาย และกำลังจะเซ็นสัญญากับอีกหลายสายด้วย นี่ยังไม่นับรวมอีกหลายปัญหาที่กำลังจะตามมาจากการบริหารจัดการห่วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหายไปไหน? หรือยังเคลียร์กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่จบในศึกสายสีเขียว vs. สายสีส้ม? หากปล่อยปัญหาคาราคาซังแบบนี้ยิ่งแย่ ประชาชนเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส แต่รัฐบาลทำได้แค่ “ขอร้อง”

จากประสบการณ์บอกเลยว่ารัฐบาลนี้ เก่งแต่ใช้อำนาจคุกคามประชาชน ส่วนกับนายทุนใหญ่นั้น “ขอร้อง” … แล้วก็หงอทุกที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image