สภาไทยดัน กม.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย ลั่น ขอให้ กม.ฉบับนี้ได้ใช้ในรุ่นเรา!

สภาดัน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ขอให้ กม.ฉบับนี้ได้ใช้ในรุ่นเรา! อย่าให้ใครต้องตกเป็นเหยื่ออีก “โรม” เรียกร้องความยุติธรรมให้ 9 เหยื่อ

เมื่อเวลา 16.07 น. วันที่ 15 กันยายน ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ซึ่งมีทั้งหมด 4 ร่าง ได้แก่ 1.ร่างของคณะรัฐมนตรี 2.ร่างของนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 3.ร่างของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ (ปช.) และ 4.ร่างของนายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

โดยนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายว่า ชีวิตของคนที่ไม่รู้ว่าชะตากรรมของคนในครอบครัวเป็นใครเหมือนแก้วที่ร้าว ซึ่งที่ผ่านมา ต่างชาติได้รวบรวมกรณีการถูกบังคับให้สูญหายในประเทศไทยอย่างน้อย 86 ราย นับเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน หลังการรัฐประหารปี 2557 มีข้อร้องเรียนการทรมานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้กว่า 250 เรื่อง ไทยถูกตั้งคำถามจากกว่า 10 ประเทศ ในนามของพรรค ก.ก. ตนต้องขอโทษต่อผู้สูญเสียทุกคน ที่สภาแห่งนี้เราน่าจะทำกฎหมายฉบับนี้ได้เร็วกว่านี้ แต่หากเป็นไปได้ ตนว่าการเยียวยาและการคืนความยุติธรรมที่จะเกิดในร่างกฎหมายฉบับนี้นั้น หากจะมีขึ้นจริง ก็ขอให้ไม่มีใครที่ต้องตกเป็นผู้สูญหาย หรือถูกกระทำทรมานอีก ขอให้กฎหมายนี้จบในรุ่นเราจริง

ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

ต่อมา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. อภิปรายว่า ในอดีตการซ้อมทรมานและอุ้มหายเกิดขึ้นหลายครั้ง กับหลายคน หลายครอบครัว เอาแค่เฉพาะในยุค คสช.ก็มีผู้ที่ถูกอุ้มหายแล้ว อย่างน้อย 9 คน ส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่ต่อต้าน คสช. เช่น นายอิทธิพล สุขแป้น หรือดีเจซุนโฮ นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน นายชัชชาญ ปุบผาวัลย์ หรือสหายภูชนะ นายไกรเดช ลือเลิศ หรือสหายกาสะลอง นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือลุงสนามหลวง นายกฤษณะ ทัพไทย หรือสหายยังบลัด นายสยาม ธีรวุฒิ หรือสหายข้าวเหนียวมะม่วง และนายเด่น คำแหล้ เป็นแกนนำชาวบ้านที่ต่อต้านนโยบายทวงคืนผืนป่าที่รังแกคนจนของ คสช. ซึ่งในจำนวน 9 คนนี้มี 3 คน ที่ถูกพบว่าเสียชีวิตแล้ว โดยถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม ส่วนผู้ที่ถูกซ้อมทรมานก็มักเป็นกลุ่มบุคคลที่รัฐมองพวกเขาอย่างมีอคติ เช่นเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2563 เกิดกรณีนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่บาดเจ็บสาหัสขณะถูกสอบสวนในค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี แต่เจ้าหน้าที่กลับอ้างว่าเข้าลื่นล้มในห้องน้ำและท้ายที่สุดก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา

Advertisement
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก.ก.

นายรังสิมันต์กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ทั้งหลายนี้ ทำให้เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 ภาคประชาชนทั้งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนครบครัวของเหยื่อผู้ถูกกระทำ ได้ร่วมกันยื่นร่าง พ.ร.บ.การอซ้อมทรมาน ต่อ กมธ.การกฎหมาย สภา ซึ่งที่ประชุมมีมติให้เสนอกฎหมายโดยไม่แบ่งแยกฝ่ายค้านหรือรัฐบาล แต่เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 เกิดกรณีอุ้มหายนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้าร์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีประวัติต่อต้าน คสช. กมธ.กฎหมายฯจึงเร่งดำเนินการ โดยนำร่างของประชาชนมาแก้ไขเพิมเติมให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเสนอเสนอต่อสภาแล้วโดย ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลร่วมกันลงชื่อ

นายรังสิมันต์กล่าวต่อว่า สาระสำคัญของร่างดังกล่าวคือการกำหนดให้การซ้อมทรมานและการอุ้มหายเป็นความผิดตามกฎหมาย โดยผู้มีความผิดรวมถึงผู้มีส่วนร่วมที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้บังคับบัญชาที่ปล่อยปละละเลย และผู้กระทำผิดนอกราชอาณาจักรด้วย และให้ผู้เสียหายหมายความร่วมถึงคู่ชีวิต บุพการี ผู้สืบสันดานของผู้ถูกกระทำด้วย และให้มีการตั้งคณะกรรมการป้องกันการซ่อมทรมานฯ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย และรวมถึงการป้องกันมิให้มีการปกปิดการควบคุมตัวบุคคล และกำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัวบุคคลต้องบันทึกและรายงานข้อมูลผู้ถูกคุมตัวโดยญาติของผู้ถูกคุมตัวหรือคณะกรรมการฯ มีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล หากมีการปฏิเสธก็มีสิทธิร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งให้เปิดเผยข้อมูลได้ หรือหากมีข้อร้องเรียนการกระทำผิดเกิดขึ้น คณะกรรมการสามารถร้องขอศาลเพื่อให้สั่งยุติการกระทำได้

“เมื่อเทียบกับร่างฉบับ ครม.แล้ว ร่างของ กมธ.กฎหมายฯ ยังมีการเพิ่มความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คือการกระทำที่ทำให้เกิดอันตรายแก่กาย จิตใจ หรือลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของบุคคลเข้ามา และให้ความผิดทั้งหมดตามร่าง พ.ร.บ.นี้ไม่มีอายุความ เนื่องจากเป็นความผิดที่ใช้เวลายาวนานในการรวบรวมหลักฐานและพิจารณาข้อเท็จจริง และกำหนดให้มีการสืบสวนสอบสวนคดีอุ้มหายที่เกิดขึ้นก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.นี้จะบังคับใช้ด้วย เพื่อค้นหาความจริงและคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่ถูกกระทำในอดีต จึงหวังว่าการรับหลักการร่าง พ.ร.บ.นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดวงจรอุบาทว์ ที่ประชาชนเห็นต่างจากรัฐจนบาดเจ็บล้มตายหรืออุ้มหายไร้ร่องรอย” นายรังสิมันต์กล่าว

Advertisement

จากนั้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายว่า เห็นชอบที่จะรับหลักการทั้ง 4 ร่าง เพราะแต่ละร่างมีเนื้อหาที่ดีที่แตกต่างกัน โดยความจำเป็นที่เราต้องรับหลักการร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้ก็เพราะถ้าช้ากว่านี้ นอกจากสูญหายแล้ว จะกลายเป็นเกิดการคลุมหัว อุ้มฆ่าตามมาในอนาคต กฎหมายนี้จะเป็นการป้องกันและปราบปราบไม่ให้เกิดการทรมานและบังคับให้บุคคลสูญหาย ซึ่งตนมองว่า การป้องกัน

น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ 

ถือเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องบันทึกและเปิดเผยข้อมูลของบุคคลที่ถูกจำกัดเสรีภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ ส่วนการกำหนดบทลงโทษก็มีความสำคัญ ผู้กระทำจะต้องได้รับโทษอย่างเหมาะสม โดยจะอ้างสิ่งใดมายกเว้นความผิดไม่ได้ ทั้งนี้ ขอฝากให้ กมธ. นำหลักการที่ดีในแต่ละร่างไปปรับให้สอดรับกันด้วย

จากนั้น น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ได้อภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 4 ร่าง โดยช่วงหนึ่ง น.ส.เพชรดาวได้ยกเหตุการณ์คนในครอบครัวของตัวเองที่ถูกบังคับให้สูญหาย ด้วยเสียงสะอื้นและสั่นเครือ พร้อมขอให้การพิจารณาโทษของคดีนี้ไม่มีอายุความ

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image