ระบอบ คสช.อยู่อีกยาว : สมหมาย ปาริจฉัตต์

การปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีภายหลังการลงมติญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ 5 รัฐมนตรี ทำให้คอการเมืองวิจารณ์กันว่าจะส่งผลต่อการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่กี่วัน

เพราะมีเชื้อปะทุรออยู่ก่อนแล้ว จากการที่พรรคภูมิใจไทย พรรคเล็กต่ำสิบ และ ส.ว.กลุ่มเสียงดัง ออกมาย้ำเตือนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนเฉพาะวิธีการเลือกตั้งจากบัตรใบเดียว เป็นสองใบ เป็นเรื่องผลประโยชน์ของพรรคการเมืองและนักการเมืองล้วนๆ ไม่เกิดประโยชน์ต่อชาวบ้านและระบบการเมืองสักเท่าไหร่

ผลการลงมติปรากฏว่า ที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบรับรองการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านฉลุย

นั่นเป็นสิ่งบ่งชี้ชัดว่าเสียงส่วนใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาลที่ ร.อ.ธรรมนัส ยังเป็นเลขาธิการพรรค พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา ส.ว.สายทหาร ตำรวจ พลเรือนส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะยืนข้างสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งต่อไป

Advertisement

ทั้งจากการลงมติไว้วางใจมากกว่าไม่ไว้วางใจ และการผ่านร่างรัฐธรรมนูญ

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในพรรคพลังประชารัฐซึ่งมีสัญญาณว่า อาจมีการลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จนมี ส.ส.แกนนำส่วนหนึ่งยกทีมไปให้กำลังใจระหว่างประชุมสภา และต่อมามีรายการเคลียร์ใจกันระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ และ ร.อ.ธรรมนัส โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเป็นกาวใจ จนผลการลงคะแนนไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ของพรรคร่วมรัฐบาลผ่านไปได้ด้วยดี แม้จะได้คะแนนรองบ๊วยก็ตาม

แต่แทนที่รอยร้าวจะทุเลา กลับเกิดรายการยื่นจดหมาย “ลาออก” กับ “ปลดออก” ร.อ.ธรรมนัส กับ นางนฤมลตามมา จนถึงวันนี้สังคมยังไม่รู้ความจริงว่า การพ้นจากตำแหน่งของสองรัฐมนตรีช่วยว่าการนั้นเป็นการลาออกหรือปลดออกกันแน่

Advertisement

ไม่ว่าจะลาออกหรือปลดออก สิ่งที่เกิดขึ้นยืนยันว่า เกิดความขัดแย้ง ไม่พอใจกันระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ ร.อ.ธรรมนัส อย่างแน่นอน และความขัดแย้งที่ว่าจะส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ทาง
การเมืองต่อไปอย่างไร ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงการเลือกตั้งทั่วไปสมัยหน้าต้นปี 2566

ที่สำคัญ เหตุแห่งความขัดแย้งเกิดขึ้นจากกรณีอะไร ถึงทำให้ต่างฝ่ายต่างไม่พอใจที่จะอยู่ร่วมกันต่อไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร.อ.ธรรมนัส ซึ่งยอมรับว่า ไม่สบายใจที่จะอยู่ร่วมรัฐบาลต่อ เกิดจากเหตุอะไรแน่นอน

ประการแรก ยอมรับว่าผลการดำเนินงานของรัฐบาลและเครดิตของหัวหน้ารัฐบาลตกต่ำย่ำแย่ เกิดปัญหาสะสมหลายต่อหลายเรื่อง โดยเฉพาะไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ภัยพิบัติโควิด-19 ได้ ทำให้คนป่วย และตายจำนวนมาก จนเกิดการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มองค์กรต่างๆ นอกสภาต่อเนื่องตามลำดับ และยอมรับคำอภิปรายของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ประการต่อมา ไม่พอใจที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงใหญ่โดยเฉพาะมหาดไทย ไม่ให้ความสำคัญ ใส่ใจ ห่างเหินกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของรัฐบาล ทำให้ลูกพรรคอึดอัด ในฐานะเลขาธิการพรรคต้องคอยช่วยแก้ปัญหาเรื่อยมาตลอด

ประการที่สาม ทั้งก่อนและหลังจากได้รับตำแหน่งแม่บ้านของพรรค เสียสละทุ่มเท เป็นหัวหอกเคลื่อนไหวในการเลือกตั้งซ่อมครั้งแล้วครั้งเล่า ประสานกับ ส.ส.พรรคเล็กให้คอยเป็นฐานสนับสนุนรัฐบาล ผลงานเป็นที่ประจักษ์ แต่ก็ยังต้องนั่งเก้าอี้ตัวเดิม ไม่มีสัญญาณว่าจะได้รับการปูนบำเหน็จสมกับความเหนื่อยยาก ขยับปรับตำแหน่งให้เหมาะสมกับศักดิ์ศรี หน้าตาระดับเลขาธิการพรรคใหญ่

จากเหตุสามข้อที่ว่าข้อใดเป็นหลัก ข้อใดเป็นรอง ล้วนเป็นความในใจระหว่างกัน

ความจริงที่แท้จะเป็นประการใดก็แล้วแต่ ความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้วภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจจบสิ้นลง ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นผลงานและผลกระทบส่วนหนึ่งจากการทำหน้าที่ของ ส.ส.ฝ่ายค้านในการประชุมอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ประเด็นอยู่ที่ว่า ความขัดแย้งที่ยังดำรงอยู่นี้จะพัฒนาต่อไปอย่างไร เกิดเหตุอะไรขึ้นอีกเมื่อไหร่

ภายใต้ข้อได้เปรียบ ในฐานะของนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงมีอำนาจต่อรองสูงกว่า เพราะกุมอำนาจจะเอาพรรคใดเข้า ออก เอารัฐมนตรีคนใดออกและเข้า มีวุฒิสมาชิกสายทหาร ตำรวจ พลเรือนกว่าค่อนสภาเป็นฐานกำลัง จนกระทั่งอำนาจในการยุบสภา

ขณะที่ธรรมชาติของ ส.ส.ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ไม่มีใครอยากตกงานก่อนเวลาอันควร ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงจริงๆ ไม่อยากให้มีการยุบสภา พรรคร่วมรัฐบาลจึงต้องการอยู่ในอำนาจฝ่ายบริหารให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้

สถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ พลังอำนาจและเครือข่ายของ ร.อ.ธรรมนัส แม้ยังมีอยู่และได้รับความสนับสนุนจาก พล.อ.ประวิตร ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ถึงอย่างไรก็เป็นรอง พล.อ.ประยุทธ์

ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้นายกรัฐมนตรีกล้าตัดสินใจปลดเลขาธิการพรรคใหญ่ พรรคแกนนำออกจากเก้าอี้รัฐมนตรีทีเดียวสองคน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

ทั้งหลายทั้งปวง ทุกฝ่ายต้องทนกับระบอบ คสช.และการเป็นหัวหน้ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์กันต่อไป แม้จะอึดอัดขัดข้อง ไม่พอใจขนาดไหนก็ตาม

สมหมาย ปาริจฉัตต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image