หน้า 3 วิเคราะห์ : พิษรัฐประหาร การเมือง-สังคม ในทศวรรษ ความมืด

หน้า 3 วิเคราะห์ : พิษรัฐประหาร การเมือง-สังคม ในทศวรรษ ความมืด

19กันยายน 2549 คณะนายทหารนำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่มี ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

จากปี 2549 สู่ปี 2550 ประเทศไทยกลับสู่การเลือกตั้งด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550

ผลการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมยังคงเป็นพรรคการเมืองที่สนับสนุน “ทักษิณ”

หลังจากนั้นการเมืองล้มลุกคลุกคลาน เกิดเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง

Advertisement

กระทั่งมีคนถูกสังหาร 99 ศพ ในปี 2553

ปี 2554 เกิดการเลือกตั้งอีกครั้ง พรรคเพื่อไทยมีจำนวน ส.ส.มากที่สุดและผลักดัน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลพรรคเพื่อไทยบริหารประเทศมาได้อีก 2 ปีกว่าๆ

Advertisement

วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะเป็น ผบ.ทบ.ก็นำคณะทหารเข้ายึดอำนาจ

นับตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยจึงอยู่ในอิทธิพลของการยึดอำนาจ

ผลจากการยึดอำนาจได้แพร่พิษเข้าใส่สังคมไทยจนตกอยู่ในสภาพที่แลเห็น

การรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศปฏิรูปประเทศ สร้างความปรองดอง และนำความสุขกลับไปให้คนไทย

ณ เวลานั้นนักการเมืองและพรรคการเมืองถูกโจมตีว่าเป็น “วายร้าย” ที่ต้องปฏิรูป

เมื่อปี 2560 รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คณะกรรมการยกร่างระบุว่าเป็น “รัฐธรรมนูญปราบโกง” ได้ประกาศใช้

และเมื่อมีการเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งแม้จะได้ ส.ส.น้อยกว่าพรรคเพื่อไทย แต่สามารถรวบรวม ส.ส.ในสภาได้มากกว่าก็ผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ในช่วงแรกพรรคพลังประชารัฐ มี นายอุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้าพรรค มี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค

แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกิดความเคลื่อนไหวภายในพรรค กลุ่มนายอุตตมลาออก และเปิดทางให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาเป็นหัวหน้าพรรค

นายสนธิรัตน์ก็ต้องออก และเปิดทางให้ นายอนุชา นาคาศัย จากกลุ่มสามมิตรขึ้นเป็นเลขาฯ

แต่ขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งได้ไม่นาน การเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรคก็เกิดขึ้นอีกครั้ง

ครานี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สายบิ๊กป้อมได้ขึ้นนั่งเลขาธิการพรรค

และยังมีชื่อ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นเหรัญญิก

เมื่อหัวหน้า เลขาฯ และคนคุมการเงิน เป็นสายเดียวกันก็ดูเหมือนพรรคพลังประชารัฐจะเข้มแข็ง

เข้มแข็งจนล้ำเส้น พล.อ.ประยุทธ์ จนได้

การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่ทุกสายตามองเห็น

เกมในสภาจากศึกซักฟอกไม่รุนแรงเท่า เกมการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ

การวัดพลังระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ ร.อ.ธรรมนัส เปิดเผยโจ่งแจ้ง กลายเป็นข่าวใหญ่ เพราะเกี่ยวกับเสียงโหวตคว่ำนายกฯ

กระทั่งสุดท้าย พล.อ.ประวิตร ต้องออกมาแสดงตัว “ห้ามทัพ”

แต่ดูเหมือนว่า ความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประวิตรจะไม่สามารถทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เชื่อใจได้อีก

เมื่อการลงมติในศึกซักฟอกผ่านพ้น พล.อ.ประยุทธ์ก็ปลด ร.อ.ธรรมนัส และนางนฤมล พ้นจากรัฐมนตรีช่วย

เป็นการจัดการโดยที่ พล.อ.ประวิตร แทบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

กลายเป็นรอยร้าวของ 3 ป.

แม้ความขัดแย้งดังกล่าวจะจบลงด้วยอาการที่เสนอเป็นภาพข่าว พล.อ.ประยุทธ์ “โอบกอด” พล.อ.ประวิตร

และ ร.อ.ธรรมนัส กับนางนฤมล ยังคงเป็นแกนนำพรรคพลังประชารัฐ

แต่สังคมการเมืองล้วนมองออกว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร นั้นยังตกอยู่ในอาการหวาดระแวง

แม้ว่าก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์จะรู้สึกว่า “พลังประชารัฐ” คือพรรคของตน โดยมอบให้ “พี่ป้อม” ไปดูแลให้

แต่หลังจากเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะรู้สึกว่าตัวเองเข้าใจผิด

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ก็ต้องดูแลคนในสังกัด การปลด ร.อ.ธรรมนัส และนางนฤมล โดยไม่ปรึกษาหารือ ถือเป็นการไม่ไว้หน้า

ก่อเกิดเป็นกระแสข่าวว่า 2 ป. เริ่มไม่ไว้ใจกัน

การเมืองหลังจากนี้จึงอยู่บนความไม่ไว้วางใจ การที่ พล.อ.ประวิตร ตั้ง พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา มาเป็นประธานยุทธศาสตร์ของพรรคนั้นถูกตีความหลากหลาย

บ้างก็ว่ามาเป็นกาวใจระหว่าง พล.อ.ประวิตร กับ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

บ้างก็ว่ามาเป็นเครื่องป้องกันการล้วงลูกจากฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์

บ้างก็ว่า พล.อ.วิชญ์ กับ ร.อ.ธรรมนัส มีความคุ้นเคยกัน การตั้ง พล.อ.วิชญ์มาดูแลยุทธศาสตร์พรรค จะสามารถช่วยงาน พล.อ.ประวิตรได้มาก

อย่างไรก็ตาม ทุกประการที่มองแตกต่าง ล้วนอาจเกิดขึ้นได้ แต่ทุกกระแสแม้จะมองแตกต่างก็ยังคงมีข้อสรุปเดียวกัน

ความไว้ใจกันระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ไม่เหมือนเดิม

ในห้วงเวลาต่อไป การเมืองจึงมีโอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

ประการแรก มีโอกาสปรับ ครม. เพราะขณะนี้มีรัฐมนตรีช่วย 2 คนที่พ้นจากตำแหน่ง จึงมีเหตุสมควรที่ พล.อ.ประยุทธ์จะปรับคณะรัฐมนตรี เพื่อกระชับการทำงาน

ประการที่สอง ปรับพรรคพลังประชารัฐ เพราะในเวลาที่เหลืออยู่ รัฐบาลอาจต้องเสนอกฎหมายเข้าสภา ซึ่งต้องใช้เสียง ส.ส.สนับสนุน

การที่ ร.อ.ธรรมนัส ยังเป็นเลขาธิการพรรค และมีกำลัง ส.ส.ภายในพรรคสนับสนุน ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ไว้วางใจ

ถ้าจะให้ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเลือกที่จะผลักดันคนของตัวเองไปนั่งในตำแหน่งสำคัญของพลังประชารัฐ

ประการที่สาม ไม่ว่าจะปรับ ครม. หรือปรับพรรค พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยง เพราะขณะนี้เวลาของรัฐบาลใช้มาเกินครึ่ง

อีกครึ่งทางก่อนการเลือกตั้งเป็นห้วงเวลาที่ ส.ส.แต่ละคนเริ่มคิด

ประกอบกับกติกาใหม่ที่เพิ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้การเลือกตั้งใช้บัตร 2 ใบ ซึ่งทำให้พรรคเพื่อไทยที่เคยถูกกดมีโอกาสโผล่ขึ้นมาหายใจได้อีก

กติกาใหม่ย่อมเป็นปัจจัยในการตัดสินใจของ ส.ส.

ประการสุดท้าย หากรัฐบาลไปไม่ไหว ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ อาจต้องยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ต้องมั่นใจว่า ฐานกำลังที่จะผลักดันให้ตัวเองกลับคืนเก้าอี้นายกฯมีมากพอ

ยกเว้นเสียแต่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเลิกสนใจในตำแหน่งนายกฯแล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหนทางหนึ่งที่อาจเกิดขึ้น นั่นคือ การยึดอำนาจอีกครั้ง

หากแต่เป็นหนทางที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในประเทศไทยอีก

ทั้งนี้ เพราะตั้งแต่ปี 2549 เรื่อยมาจนถึงปี 2564 ทุกอย่างล้วนพิสูจน์แล้วว่า การปฏิรูปทุกด้านภายใต้การรัฐประหารมิอาจเกิดขึ้นได้

แม้แต่การปฏิรูปการเมืองก็ไม่เกิดขึ้น การเมืองยังวนเวียนอยู่กับที่

ความขัดแย้งในสังคมแม้จะถูกกดด้วยคำสั่งคณะรัฐประหารจะเกิดผลบ้าง แต่ก็เป็นระยะสั้น เพราะความขัดแย้งที่ถูกกด พร้อมจะปะทุออกมาได้เสมอ

ที่สำคัญที่สุดคือความสุขของประชาชน

ตั้งแต่เกิดการรัฐประหารมาจนถึงบัดนี้ สังคมน่าจะรับรู้แล้วว่าประชาชนมีความสุขมากหรือน้อย

มีความสุขเหมือนเดิม มีความสุขมากขึ้น หรือมีความสุขน้อยลง

ทศวรรษที่ผ่านมาประชาชนน่าจะได้ข้อสรุป

รัฐประหารคือยาวิเศษหรือเป็นยาพิษ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image