กลุ่มด้วยใจ ทวนข้อเสนอ ‘พ.ร.บ.อุ้มหาย’ ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้อง รัฐต้องใจกว้าง-สร้างกม.ใหม่ ปฏิรูปกระบวนการ ยธ.

กลุ่มด้วยใจ ทวนข้อเสนอ ‘พ.ร.บ.อุ้มหาย’ ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้อง รัฐต้องใจกว้าง-สร้างกม.ใหม่ ปฏิรูปกระบวนการ ยธ.

เมื่อวันที่ 17 กันยายน สืบเนื่องกรณี สภาผู้แทนราษฎร ลงคะแนนเสียงเห็นชอบในหลักการต่อร่างกฎหมาย ที่มุ่งกำหนดความผิดอาญาจากการกระทำทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทยเป็นครั้งแรก นั้น

อ่านข่าว : 

กลุ่ม “ด้วยใจ” ได้โพสต์ข้อความ บอกเล่าเรื่องราวการทรมานและการบังคับสูญหาย ผ่านทางแฟนเพจ Duayjai Group กลุ่มด้วยใจ โดยระบุว่า

ด้วยความดีใจที่รัฐสภาได้รับร่าง พ.ร.บ.ทรมานและเข้าสู่การปรับปรุงร่างเพื่อนำสู่การบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป หลายคนอาจจำได้ว่าเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันระลึกถึงผู้เสียหายจากการถูกทรมาน และกลุ่มด้วยใจก็ได้จัดเสวนาเรื่องพ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย

Advertisement

ในโอกาสที่ พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหายได้ผ่านวาระ ที่ 1 กลุ่มด้วยใจขอนำเสนอใจความสำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญได้แลกเปลี่ยนไว้ในวันที่ 26 มิถุนายน 2564

การเสวนา “บทสนทนาจาก อัสอารี สู่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ”

การซ้อมทรมานและการอุ้มหายเกิดขึ้นได้ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ กระทั่งปัจจุบันก็ยังมีให้เห็น ซึ่งเป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไข จากเรื่องราวที่เราเห็นได้จากหนังสั้น อัสอารี นำมาสู่การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุดแล้วก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม และด้วยเหตุการณ์ยังคงมีต่อเนื่อง จึงเป็นแรงผลักดันจากหน่วยงานและภาคประชาสังคมเสนอร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เสียหายและผู้กระทำผิดได้รับการลงโทษ

อิสมาแอ เตะ ประธานองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) เผยว่า การซ้อมทรมานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันวิธีการซ้อมหรือทำร้ายร่างกายมีการเปลี่ยนรูปแบบใหม่ เช่น ในอดีตนี้ การซ้อมทรมานมีบาดแผลชัดเจนการทำร้ายร่างกายในสถานที่แห่งหนึ่งในค่ายทหารในพื้นที่ ปัจจุบันก็ยังมีอยู่แต่การซ้อมทรมาน ไม่มีบาดแผลกระทบทางด้านจิตใจสังคมและวัฒนธรรมในพื้นที่ยังคงมี ทำให้ไม่ได้รับการร้องเรียนเท่าไหร่ สถิติการร้องเรียนจึงลดลง

ดร.นพ.นพพร ตันติรังสี ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 ชี้แจงว่า จากการลงพื้นที่เยี่ยมเคสผู้เสียหายไม่มีการแสดงออกทางร่างกายแต่จะเป็นในเรื่องของแผลใจ ถ้าไม่ได้รับการเยียวยาที่เหมาะสมก็จะเป็นแผลในใจ ไปอีกนานแสนนาน กลุ่มนี้ที่เจอหลักๆ ก็จะเป็นในเรื่องของความคิดทางลบเป็นความคิดอัตโนมัติทางลบ บางคนมีภาวะที่เรียกว่า PTSD และมีอีก 80% ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีความกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่ไว้วางใจผู้อื่นถ้าไม่ใช่คนในครอบครัว ทางศูนย์ 12 ก็ได้มีการติดตาม เยียวยาและมีการส่งต่อเคสไปยังโรงพยาบาล

น.ส.สุภาวดี สายวารี ทนายจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดยะลา รายงานว่า การรับเรื่องร้องเรียนประเด็นการซ้อมทรมานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 –ปัจจุบัน มีจำนวนลดลงจากอดีตนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี ทั้งนี้ทั้งนั้น ในส่วนของการฟ้องร้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่กระทำทรมานก็อาจจะไม่สามารถฟ้องได้ เพราะไม่ปรากฏบาดแผลและบาดแผลหายเร็ว ผู้เสียหายไม่กล้าที่จะพูดและไม่รู้ว่าผู้กระทำเป็นใคร อีกอย่างคือระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินเรื่องตรงนี้เองที่ทำให้ผู้ถูกละเมิดไม่อยากฟ้อง ตอนนี้ก็เลยยังไม่มีเคสไหนที่ประสบความสำเร็จในการฟ้องเรื่องทำร้ายร่างกาย

ผศ.สุทธิชัย คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชี้แจงว่า การซ้อมทรมานและการบังคับสูญหายนั้นหากดูจากกฎหมายในประเทศไทยแล้ว การเอาผิดเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่ทำการทรมาน ยากในการที่จะหาพยานหลักฐานในการเอาผิด จุดเชื่อมโยงของการกระทำผิด ดังนั้น ปัญหาอยู่ที่เราในการกำหนดประเด็นเฉพาะ การนับอายุความ การตีความของผู้เสียหาย และที่สำคัญ NGO ที่ให้ความช่วยเหลือมักจะโดนฟ้องกลับ

อนึ่ง คนที่กระทำทรมานในกรอบของกฎหมายอาญาก็จะมีความผิดเฉพาะคนนั้น โดยที่ผู้บังคับบัญชาไม่ได้รู้เห็นหรือเข้ามาเกี่ยวข้องก็ได้ และอีกอย่างพยานหลักฐานเชื่อมโยงมีจุดบอดจุดลื่น ไม่รู้ใครอะไรอย่างไร ดังนั้น เราจึงต้องเขียนรายละเอียดในการดำเนินการการควบคุมตัวเพิ่มเติมเข้าไป ถ้ามีตรงนี้ก็ทำให้มีพยานหลักฐานได้ชัดขึ้นและเชื่อมโยงรวมถึงผู้บังคับบัญชาด้วย

น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม(CrCF) กล่าวว่า การทรมานเป็นสารตั้งต้นบังคับให้สูญหาย การเอาคนหนึ่งคนไปก็เพราะว่าเราต้องการข้อมูลหรือเราต้องการการเชื่อมโยงบางอย่าง สุดท้ายการกระทำแบบนั้นประกอบด้วยการทรมานร่างกายแล้วก็จิตใจ ร่วมกันจนทำให้เขาบาดเจ็บสาหัสแ ล้วเขาไม่สามารถกลับคืนสู่สังคมได้ เขาก็อาจจะตายในการควบคุมตัว อาจจะพบศพหรือไม่พบศพก็ได้กลายเป็นการบังคับให้สูญหายไปโดยปริยาย กลายเป็นบาดแผลทางด้านจิตใจสำหรับญาติซึ่งไม่มีอายุความจะคงอยู่ตลอดไป

ในด้านของผู้สูญหายปี พ.ศ.2547 ทางเราได้มีบันทึก 30 กรณีแต่ที่ได้รับการรับรองจากทางการและได้เงินชดเชยเยียวยาไปมี 16 กรณี หลังจากเคสฟาเดล ปีพ.ศ. 2556 ก็ไม่มีอีกเลย ในส่วนของการซ้อมทรมานเขาให้เงินเยียวยา 30,000 บาทสำหรับคนที่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ โดยไม่ระบุว่าเป็นการยอมรับว่าอาจจะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นคือ ซ้อม ไม่ซ้อมจ่ายหมด

น.ส.พรเพ็ญ เผยอีกว่าร่าง พ.ร.บ. มีความพร้อมอยู่ทั้ง 4 ร่างก็คือ รัฐบาล 1 ร่าง ของกระทรวงยุติธรรม ร่างของ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ร่วมกับพรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชาติ 4 ร่าง รอคิวอยู่ แต่ว่ายังไม่เข้าสู่การพิจารณา (รัฐสภาพิจารณารับร่างวันที่ 16 กันยายน 2564 )

สิ่งที่ได้รับจากผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายนั้น ทำให้เห็นว่าการตรวจสอบการทรมานอุ้มหายเป็น “ขาว กับดำ” โดยที่ไม่มีหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพเและเป็นอิสระเพียงพอที่จะทำให้เกิดข้อเท็จจริงปรากฏสู่สายตาครอบครัวผู้เสียหาย สังคมและประเทศได้ ประชาชนเกิดความไม่ไว้วางใจ และไม่เชื่อมั่นในรัฐ อีกอย่าง ในปัจจุบันการทวงหาความยุติธรรมเป็นไปได้ยาก ดังนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับกฎหมายใหม่ที่มีความผิดสำหรับผู้ที่กระทำการทรมานหรืออุ้มหายด้านนี้โดยเฉพาะ

ที่สำคัญที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน คือ สร้างกฎหมายขึ้นมาใหม่ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และรัฐต้องใจกว้างยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

#พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ
#วันต่อต้านการซ้อมทรมานสากล

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image