เปิดพื้นที่เจรจา คลายวิกฤต‘ม็อบ’

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการกรณีตัวแทนองค์การนิสิตนักศึกษา สโมสรนิสิตนักศึกษา และกลุ่มนิสิตนักศึกษา 7 มหาวิทยาลัย ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้เปิดพื้นที่ในการหารือพูดคุยเพื่อแสวงหาทางออกจากวิกฤตทางการเมืองและขอให้มีการตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐต่อผู้ชุมนุม

ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

กรณีแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว ขณะนั้นมีกลไกของกรรมาธิการ (กมธ.) หลายส่วนในรัฐสภา ซึ่งมีความพยายามเป็นเจ้าภาพ และจริงๆ แล้วกลไกที่เหมาะสมที่สุดในปัจจุบัน ก็คือ กมธ.ในรัฐสภาที่ควรมีบทบาทนำในการทำให้ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเข้มแข็ง แต่เรื่องนี้มีนัยยะหลายประเด็น จึงอาจต้องเชิญองค์กรอิสระเข้ามามีส่วนด้วย เช่น กรรมการสิทธิมนุษยชน หรือแม้กระทั่งองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กและสตรี รวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคม

Advertisement

การชุมนุมประท้วงของนิสิต นักศึกษา อีกทั้งกรณีม็อบดินแดง เยาวชนหลายคนมาจากครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด ทำให้เกิดความไม่พอใจรัฐบาล จึงควรพิจารณาว่าบทบาทเยาวชนสะท้อนปัญหาคนรากหญ้าด้วยหรือไม่ การสร้างพื้นที่แบบนี้ต้องมีหลักความปลอดภัยให้ทุกฝ่ายสามารถแสดงออกได้ รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะประเด็นกฎหมายที่หากไม่ได้ผิดมากจนเกินไป น่าจะอะลุ่มอะล่วยได้บ้าง เพราะต้องสร้างบรรยากาศในการพูดคุยกันก่อน กล่าวโดยสรุปคือ กลไก กมธ.ในรัฐสภา จึงควรเป็นกลไกนำ

ส่วนการนำข้อบกพร่องจากครั้งก่อนมาปรับปรุง มองว่าตอนนั้นมีปัญหาเรื่องความล่าช้าในคณะกรรมการ
ชุดนั้น กล่าวคือ มีการพบปะกันแล้ว แต่กลับไม่มีผลในทางปฏิบัติ วิกฤตการเมืองที่กำลังคุกรุ่น ต้องการทางออก เมื่อกรรมการที่ตั้งขึ้นไม่ได้มีแนวทางและผลที่ชัดเจน ก็เกิดความเบื่อหน่าย ถ้าจะให้ดีต้องถอดบทเรียนในครั้งก่อนๆ ว่าหากคุยกันแล้วต้องมีผลในทางปฏิบัติด้วย

สำหรับสถานการณ์ชุมนุมปัจจุบัน ปัญหามีความหลากหลาย และมีคนหลายกลุ่มพยายามเข้ามาแสดงออก สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อน ทั้งปัญหาทางการเมือง และปัญหาด้านผลกระทบจากโควิด ซึ่งยังไม่มีมาตรการภาครัฐที่จะไปทำความเข้าใจ หรือช่วยคนเหล่านี้ได้อย่างหลากหลาย เมื่อเกิดการชุมนุมประท้วงที่มีหลากหลายกลุ่ม การกำหนดทิศทางยังเป็นปัญหา จึงเป็นจุดอ่อน ทั้งเรื่องแกนนำ และยังมีประเด็นเรื่องการเก็บอารมณ์ รวมถึงการเข้ามามีบทบาทของมือที่ 3 ดังนั้น การพูดคุยและใช้กลไกที่จะทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมน่าจะเป็นอีกความหวังหนึ่ง

ทั้งนี้ สถานการณ์ในเดือนกันยายน มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง คือรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ดังนั้น การชุมนุมในเดือนนี้คงจะมีเนื้อหาหลักในด้านการสื่อสารถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเกิดอะไรขึ้นในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ ยังเป็นการตอกย้ำความทรงจำ โดยเฉพาะประเด็นความชอบธรรมทางการเมือง เมื่อความทรงจำที่เจ็บปวดยังไม่ถูกแก้ไข มันก็จะสะเทือนในลักษณะของการรับรู้ของรัฐบาลปัจจุบัน เพราะฉะนั้น ระหว่างเดือนกันยายนถึงตุลาคม เชื่อว่าจะมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งรัฐบาลต้องรับรู้และเรียนรู้

การชุมนุมที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ถ้าพิจารณาในเชิงคู่ขนานระหว่างการเมืองในสภาและการเมืองบนท้องถนน ในอดีตเรามองว่าเครือข่ายบนท้องถนนเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายด้านการเมือง สะท้อนว่ารัฐบาลจะรอดหรือไม่รอด ถ้าม็อบออกมาเยอะสะท้อนว่ารัฐบาลเริ่มสั่นคลอน โอกาสการยุบสภามีมาก แต่ทุกวันนี้จะมองแบบคู่ขนานอย่างนั้นไม่ได้แล้ว ม็อบบนถนนในการเมืองไทย 2 ปีที่ผ่านมา มีความอิสระจากการเมืองในระดับหนึ่ง แม้ว่าจะมีความเกี่ยวพันบ้าง แต่จุดยืนของเขามีเพดานการต่อสู้เรื่องความชอบธรรมและอำนาจรัฐด้วย

ซึ่งหากวันนี้และอนาคตกลไกการตรวจสอบไม่สามารถตอบคำถามได้ ก็จะสะท้อนประเด็นความชอบธรรมของอำนาจในระบบ

ธีระพล อันมัย
อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

คิดว่าเวทีนี้ ควรเป็นเวทีที่เป็นกลาง น่ารับฟัง อาจเป็นมหาวิทยาลัยใดมหาวิทยาลัยหนึ่งเปิดพื้นที่ให้มีการเสวนาหรือการคุยกันเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในตอนนี้ หากจะมีใครเป็นคนจัด ควรเป็นเครือข่ายทางวิชาการที่ไม่มีอำนาจมากดทับ หากรัฐบาลเป็นผู้จัด คิดว่าชาวบ้านและนักศึกษาอาจไม่กล้าเข้าร่วม นอกจากนี้ อาจเป็นกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรชุดหนึ่งจัดโดยให้มีตัวแทนกลุ่มเล็กๆ ไปถกเถียง พูดคุยกัน กล่าวโดยสรุปคือ หากไม่จัดที่มหาวิทยาลัย ก็ควรเป็นรัฐสภาซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่กลางๆ ในการพูดคุย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ผ่านมาคือหากจัดในมหาวิทยาลัย แล้วฝ่ายรัฐบาลส่งคนมา จะเป็นบุคคลที่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ ดังนั้น อาจเปิดห้องในสภา จัดงานให้เป็นจริงเป็นจัง ให้มีตัวแทนของแต่ละฝ่ายมาคุยกัน ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ฝ่ายนักศึกษา ฝ่ายประชาชน และอื่นๆ โดยขอให้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสะดวกที่จะไปปรากฏตัวและพูดคุย รัฐสภาเป็นพื้นที่ที่ทุกคนควรได้ใช้ในการพูดคุยประเด็นสาธารณะไม่ใช่รอให้ใครไปแถลงอย่างเดียว จริงๆ ควรจะเป็นพื้นที่ที่ทุกฝ่ายควรได้พูดคุยกัน ถกกันและอยู่ท่ามกลางสายตาของสื่อมวลชนด้วย

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน มองว่ากลุ่มทะลุแก๊ซเป็นตัวแทนความอัดอั้นของประชาชน มันคือการแสดงออกทางการเมืองอย่างหนึ่ง จากที่ถูกทำให้ด้อยค่า รัฐบาลทำให้พวกเขาดูเป็นผู้ก่อการร้ายไปแล้ว แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำกับผู้ชุมนุมหรือแม้แต่คนที่ไม่ได้ไปชุมนุมนั้นมีมากมาย แต่ยิ่งใช้อำนาจในทางมิชอบกับประชาชน ประชาชนก็ยิ่งจะลุกขึ้นมามากขึ้น จะมีแนวร่วมมากขึ้น

เมื่อก่อนเราไม่เคยคิดว่าจะมีม็อบทะลุแก๊ซ เราคิดว่าจะมีแค่เยาวชนปลดแอก ธรรมศาสตร์และการชุมนุม คณะราษฎร ดังนั้น แนวโน้มต่อไปจะไม่ได้มีเพียงม็อบใหญ่แต่จะมีม็อบที่กระจายออกไปมากขึ้นตราบใดที่รัฐบาลยังใช้มาตรการกดปราบ ทั้งใช้กฎหมาย ตั้งข้อกล่าวหาเล่นงานผู้คนจนรู้สึกว่าประเทศนี้มันไม่มีอะไรที่เราจะสามารถแสดงออกได้

นอกจากใช้กฎหมายแล้ว ขณะเดียวกันยังใช้กำลังเจ้าหน้าที่ซึ่งเรียกว่า คฝ.ปราบการชุมนุมโดยไม่สนใจว่าจะกระทบกับชีวิตหรือทรัพย์สินของใคร ซึ่งจะยิ่งทำให้คนโกรธแค้นมากขึ้น สำหรับการชุมนุมครั้งใหญ่ ส่วนตัวยังนึกไม่ออกว่าจะมีได้อีกหรือไม่ มันจะมีปัจจัยหรือเงื่อนไขอะไรอีก แต่เชื่อว่ายิ่งมีการปราบมากขึ้น คนก็จะยิ่งเห็นว่าจะถูกกดอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ จะพร้อมลุกขึ้นสู้

อย่างไรก็ตาม คิดว่าการต่อสู้ การเรียกร้องแบบกระจัดกระจายยังมีอยู่และจะมีต่อไปเรื่อยๆ ยิ่งรัฐใช้กำลังก็ยิ่งสร้างความเจ็บแค้น สร้างแรงกดดันให้กับประชาชน รัฐบาลถนัดมากในการปราบประชาชน แต่เรื่องการเยียวยาหรือการทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขเป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ไม่มีฝีมือ ไม่มีความสามารถ เช่นประเด็นเรื่องวัคซีน

แนวทางการชุมนุมควรมีการจัดการที่จริงจังกว่านี้ มีการนัดหมายล่วงหน้า ต้องกำหนดวาระขึ้นมาว่าเดือนนี้ควรชุมนุมใหญ่กันสักครั้งหนึ่ง จะมีประเด็นอะไรบ้าง กำหนดวิธีการเคลื่อนไหวที่จะทำให้คนอยากเข้าร่วม ที่ผ่านมาเมื่อจัดชุมนุมใหญ่จะมีแกนนำ พอจบกิจกรรม แกนนำก็จะโดนจับ เจอคดีขึ้นโรงขึ้นศาล แต่การชุมนุมย่อยมีข้อดีคือไม่มีใครถูกหมายหัวเฉพาะ จะไม่เจอคดีมากมายก่ายกอง

โคทม อารียา
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

การดำเนินการที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งเพราะฝ่ายนักศึกษาที่เคลื่อนไหวบอกว่า หากเป็นเวทีกรรมการสมานฉันท์ ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลมากถึงร้อยละ 70 ถือว่าไม่สมดุล จึงปฏิเสธการเข้าร่วม ส่วนในครั้งนี้เป็นการดำเนินการโดยนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งทางภาคอีสาน ซึ่งส่วนตัวไม่ทราบว่าจะรวมไปถึงปรากฏการณ์ใหม่ คือกลุ่มทะลุแก๊ซหรือไม่ มีคนไปสัมภาษณ์เยาวชนรายหนึ่ง ซึ่งอาจใช้เป็นตัวแทนของทั้งหมดไม่ได้ เขากล่าวว่า ไปแน่ แล้วจะไปไล่ตรงเวทีให้ประยุทธ์ต้องลาออก ก็ถือเป็นอีกสไตล์หนึ่งในการสื่อสาร ซึ่งในการแสดงออกด้านการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ การจัดกิจกรรมต่างๆ ความหลากหลายเป็นเรื่องธรรมดา แต่มีจิตสำนึกร่วมกันคือไม่เอาอำนาจนิยม

สำหรับเจ้าภาพในครั้งนี้ การที่นักศึกษาไปยื่น กมธ.ตำรวจ แสดงว่าต้องการให้กรรมาธิการดังกล่าวเป็นผู้จัด ซึ่งก็ต้องดูทีท่าของ กมธ.ว่าจะจัดหรือไม่ และจะเป็นเวทีที่เปิดกว้างและปลอดภัยหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นได้คงเป็นเวทีที่เยาวชนเข้าร่วม แต่ถามว่าจะได้ผลหรือไม่ ไม่มีใครให้หลักประกันได้ แต่ก็เป็นความพยายามที่โดยส่วนตัวแล้วเห็นด้วย

ส่วนสถานการณ์การชุมนุม ฝ่ายผู้ชุมนุมก็มีการปรับเปลี่ยนวิธีการไป ตำรวจซึ่งตอนนี้ตกอยู่ในที่นั่งจำเลยสังคมก็ต้องพยายามปรับ ส่วนจะอธิบายว่าทำไมจึงทำในเรื่องที่ไม่ควรทำกับผู้ชุมนุมหลังเคอร์ฟิวก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งที่พวกเขากระจายตัวและมีจำนวนนิดเดียว เทียบกันไม่ได้กับตำรวจ หรือถ้าต้องการจับกุมบางคน เขาก็ให้จับ แต่ก็ต้องไม่ไปทำร้ายหลังจากที่เขาไม่สู้แล้ว แต่กลับมีภาพออกมาเยอะ ตำรวจไม่ต้องการให้มีภาพในลักษณะนี้ออกไป จึงมาเข้มงวดกับสื่อมวลชน โดยใช้คำอธิบายเรื่องเคอร์ฟิวทั้งที่เคอร์ฟิวมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันโรคระบาด ถ้าตรงไหนจัดปาร์ตี้ แล้วตำรวจเข้าไปจับกุม บอกว่าต้องรักษากฎหมาย ต้องแสดงความคึกคัก ก็เข้าใจได้

แต่การชุมนุมที่แม้มีตะลุมบอนบ้าง หลอกล่อตำรวจบ้างนั้น ไม่ใช่ประเด็นโรคระบาดแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image