สกู๊ปหน้า 1 : ส่อง 4 ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย กมธ.ลุยถกวาระ 2

สกู๊ปหน้า 1 : ส่อง 4 ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย กมธ.ลุยถกวาระ 2

หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … มีทั้งหมด 4 ร่าง ได้แก่ 1.ร่างของคณะรัฐมนตรี 2.ร่างของนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 3.ร่างของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ (ปช.) และ 4.ร่างของนายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ จำนวน 25 คน แปรญัตติ 7 วัน โดยใช้ร่างของรัฐบาลเป็นร่างหลักในการพิจารณา กมธ.วิสามัญฯจำนวน 25 คนนั้น พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้เสนอชื่อ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย ส่วนพรรค ปชป.เสนอ นายสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ขณะที่พรรคเสรีรวมไทย (สร.) เสนอนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมเป็น กมธ.

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ นั้น นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ อธิบายว่า ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ ฉบับ กมธ.กฎหมายที่เสนอโดย นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.พรรค พปชร. คิดว่าเป็นร่างที่ดีที่สุด เพราะปรับปรุงมาจากร่างฉบับที่ประชาชนยื่นมาอีกทีหนึ่ง เป็นการปรับปรุงที่มีภาคประชาชนมาร่วมอยู่ด้วย ในเชิงกระบวนการที่มาของร่างนี้น่าสนใจเพราะประชาชนเป็นกลุ่มคนที่ทำเรื่องนี้โดยตรงเป็นเวลานาน และรวมถึงหลายกลุ่มร่วมจัดทำร่างนี้จึงมีความชอบธรรมและความน่าสนใจร่วมถึงร่างนี้เป็นร่างที่ ส.ส.จากหลากหลายพรรคการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านสนับสนุน อีกส่วนที่สำคัญคือ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ ทุกฉบับจะกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย (คณะกรรมการ) ขึ้นมาเป็นกลไกหนึ่งเหมือนกัน แต่ทั้งสี่ฉบับก็มีความแตกต่างกันในโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ฉบับที่เสนอโดย ครม. กำหนดคณะกรรมการไว้ 15 คน จะมีสัดส่วนของนักการเมืองและข้าราชการประจำค่อนข้างมาก โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นรองประธานกรรมการ และกรรมการโดยตำแหน่งอีกเจ็ดคน ประกอบไปด้วยข้าราชการประจำและนายกสภาทนายความ นอกจากนี้ ยังระบุให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ ครม.แต่งตั้ง 6 คน ผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน 4 คน ด้านการแพทย์ 1 คน ด้านจิตวิทยา 1 คน

ขณะที่ร่างของ กมธ.กฎหมายฯ มีการกำหนดสัดส่วนคณะกรรมการ ให้มีภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่า ประกอบไปด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการอีก 10 คน แต่งตั้งโดยนายกฯ โดยการเสนอของคณะกรรมการสรรหาของสภาผู้แทนราษฎร จะต้องเป็นผู้มีความรู้ด้านการทรมานหรือการอุ้มหายสองคน ผู้เสียหายหรือผู้แทนผู้เสียหายจากการทรมานและการอุ้มหายสองคน ผู้แทนจากภาคประชาสังคมที่ไม่ได้แสวงหากำไรและทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิสองคน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ด้านการตรวจพิสูจน์หลักฐานด้านนิติเวชศาสตร์ ด้านจิตวิทยาจำนวนสองคน และอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นกรรมการอีกหนึ่งคน

Advertisement

สาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.อุ้มหายของ กมธ.กฎหมายนี้มีการบัญญัติโทษในเรื่องของการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย ในเรื่องนี้คิดว่าเป็นเนื้อหาสาระสำคัญที่ทั่วโลกให้การยอมรับโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว การย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มีหลายระดับ การมีบัญญัติโทษที่จะป้องกันไม่ให้เราไปด้อยค่าชีวิตของคนอื่นไม่ว่าจะเป็น ศาสนา สีผิว เพศ ทั้งนี้ยังจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกันของประชาชนมากขึ้น

อย่างไรก็ตามเวลาจะผ่านกฎหมายแต่ละฉบับจะมีการตั้งคณะ กมธ. คนส่วนใหญ่จะไม่สนใจ แต่กรณีของ พ.ร.บ.นี้ คณะกรรมการถือว่ามีความสำคัญ เพราะสุดท้าย คณะกรรมการคือคนที่มีบทบาทในการมาช่วยครอบครัวหรือเพื่อนของคนที่สูญหายถูกซ้อมทรมาน เป็นคนที่จะช่วยออกนโยบายเพื่อบอกว่ารัฐบาลต้องทำอะไร ที่สำคัญคือช่วยในเรื่องการตามหาว่าเกิดอะไรขึ้นในการซ้อมทรมานหรือสูญหาย ฉะนั้นคนกลุ่มนี้จึงมีบทบาทสำคัญ คณะกรรมการมีที่มายึดโยงกับประชาชน เป็นตัวแทนจากผู้ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้และเป็นตัวแทนของคนที่ทำงานในเรื่องนี้ แม้สุดท้ายหัวโต๊ะจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แต่รวมกันแล้วกรรมการ 11 คน มีภาคประชาชนถึง 9 คน นอกจากนี้ยังมีตัวแทนของคนที่เป็นนักกฎหมายด้านนิติเวชมาร่วมด้วย การเลือกตัวแทนทั้ง 11 คน ที่มาคือการเลือกโดยพรรคการเมืองรัฐบาลและฝ่ายค้านร่วมกันเลือก จะทำให้คณะกรรมการเหล่านี้มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เมื่อเทียบกับที่อื่นๆ เราจะให้องค์กรอิสระเป็นคนเลือก แล้วถ้าไปดูกฎหมายในเรื่องนี้สัดส่วนของการให้ ส.ส.ไปเลือกมีมากขึ้นและให้น้ำหนักกับฝ่ายค้านมากที่สุด เพราะถือว่าเป็นฝ่ายตรวจสอบ จึงคิดว่าน่าสนใจและคนที่ถูกเลือกมาจะเป็นคนที่ทุกฝ่ายยอมรับ

นายรังสิมันต์อธิบายต่อว่า กระบวนการการทำหน้าที่ตามหาข้อเท็จจริง เมื่อได้ข้อเท็จจริงมาและส่งไปที่ศาลวิธีการในศาลจะแตกต่างกับคดีทั่วๆ ไปแต่จะคล้ายกับคดีทุจริต คือ ใช้มีการพิจารณาไต่สวน การพิจารณาไต่สวนจะลดภาระของฝ่ายได้รับความเสียหายและเพื่อให้ศาลได้เข้ามามีบทบาทตามหาข้อเท็จจริงมากขึ้นแล้วกำหนดเลยว่าจะเอาพยานหลักฐานอะไรให้คดีตรงประเด็นและไปสู่ทิศทางชัดเจนว่าตกลงสูญหายหรือไม่ ตกลงถูกซ้อมทรมานหรือไม่ จะส่งผลให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้รับการเยียวยามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ความสำคัญของกฎหมายนี้ยังมีเรื่องของอายุความจะไม่มีการกำหนด เพราะหากมีการกำหนดอายุความเกิดขึ้นในบางครั้งยากมากที่จะหาข้อยุติและบางอย่างจะสามารถจับหรือดำเนินการกับคนอุ้มหายหรือซ้อมทรมาน เพราะคนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีตำแหน่ง มีอำนาจหรืออาจมีใครอยู่เบื้องหลังด้วยดังนั้นถ้าเกิดไม่มีการกำหนดอายุความเลย หากวันหนึ่งหมดอำนาจแล้วเราอาจจะดำเนินการบางอย่างได้ ดังนั้นจึงไม่มีการกำหนดอายุความ เพราะเป็นคดีที่มีความยากและอาจจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการ

Advertisement

ยังมีเรื่องของการเยียวยาที่กำหนดให้คนที่ได้รับความเสียหายหรือครอบครัวจะได้รับการเยียวยา จะมีกลไกเข้ามาสนับสนุนเยียวยาครอบครัวที่ได้รับผลระทบในเรื่องนี้ด้วย เพราะหลายคนเป็นหัวหน้าครอบครัวต้องหาเงินเลี้ยงลูกจึงจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการเยียวยาเกิดขึ้น การเยียวยาตรงนี้ไม่ใช่แค่ความเสียหายตามจริงแต่รวมถึงเรื่องจิตใจ การเยียวยาอาจจะไม่ได้เห็นชัดเจนด้วยสายตาเป็นการเยียวยาประเภทต้องพาพบหมอจิตเวช เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีเรื่องขอบเขตอำนาจของศาล ที่มีการกำหนดเอาไว้ เพราะหลายครั้งในการอุ้มหายหรือการถูกซักซ้อมทรมาน ผู้ที่เป็นคนทำหรือคนที่ถูกกระทำเป็นคนไทย แต่เกิดเรื่องขึ้นที่ต่างประเทศ เราก็สามารถที่จะดำเนินคดี เพื่อทำให้คดีนี้สามารถดำเนินการในศาลไทยได้

ส่วนการพิจารณาในชั้น กมธ.ที่มีร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นร่างหลักจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นใดหรือไม่นั้น รังสิมันต์บอกว่า ต้องแก้เพิ่มเติมหลายประเด็น เพราะร่างของ ครม.ไม่มีหลายเรื่องอย่างเช่น เรื่อง คณะกรรมการ เข้าใจว่าในร่างดังกล่าวตัวแทนของคณะกรรมการจะเป็นข้าราชการเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นปลัดกระทรวงต่างๆ และมองว่าคนกลุ่มเหล่านี้อาจจะมีการเกี่ยวข้องกับคนที่สูญหายด้วยซ้ำ คือกฎหมายฉบับนี้คือการป้องกันการอุ้มหายแล้วป้องกันการอุ้มหายจากใคร โดยหลักไม่ได้มุ่งไปที่เอกชนกับเอกชน เช่น ประชาชน ก. ไปทำอะไรกับประชาชน ข. แต่เรามุ่งไปที่ราชการที่มีอำนาจมีความสามารถในการปกปิดเอาตัวรอดด้วยไม่ใช่แค่อุ้ม แล้วยังทำให้กลไกของกระบวนการยุติธรรมด้อยเตี้ยไป จุดนี้เป็นจุดที่เราโฟกัส ส่วนสำหรับประชาชนทั่วไปทำอะไรกันแล้วจะทำอย่างไร ตรงส่วนนี้มีกฎหมายในเรื่องอื่นๆ อยู่แล้วและก็ยังมองว่าประชาชนทั่วไปทางกระบวนการยุติธรรมน่าจะเอาอยู่ แต่เมื่อเป็นเจ้าหน้าที่รัฐคำถามก็คือ ถ้าคนที่ทรมานเราเป็นตำรวจและเราต้องแจ้งความที่ สน. ในเขตที่เกิดขึ้นและเป็น สน.นั้น จึงถามว่าเราจะได้รับความยุติธรรมหรือไม่ ตำรวจจะช่วยกันเองหรือเปล่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น การที่เอาปลัดกระทรวงต่างๆ เข้ามาดำเนินการเรื่องนี้ ไม่แน่ใจว่าจะมีทัศนคติที่สอดคล้องกับประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนแค่ไหน แล้วสุดท้ายจะช่วยกันหรือตัวเขาเองเป็นคนทำเอง เพราะเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่และหลายครั้งคนที่อยู่เบื้องหลังเป็นตัวใหญ่ทั้งนั้น ฉะนั้นในแง่ของกรรมการถ้าเป็นร่างหลักคงต้องปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับร่างของ กมธ.กฎหมาย ส่วนประเด็นอื่นๆ เช่น ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ร่างของรัฐบาลไม่มี ก็คงต้องเพิ่มไป ดังนั้นจึงมีหลายเรื่องที่จะต้องปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพขึ้น

“อยากผลักดันร่างของ กมธ.กฎหมาย ให้เป็นร่างที่จะได้รับการพิจารณาในวาระที่ 2 เพราะเชื่อว่าร่างนี้เป็นร่างที่สมบูรณ์ที่สุดและเป็นการเขียนโดยเอาอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยไปเซ็นมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาร่างนี้ เราใช้เวลากับร่างนี้นานและใช้เวลากับหลายฝ่ายเพื่อให้ร่างนี้สมบูรณ์ที่สุด ดังนั้นร่างนี้จึงเป็นร่างที่เป็นทิศทางที่จะต้องไป” รังสิมันต์ฝากทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image