รายงานหน้า 2 : ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ มองทิศทางส่งออกปี’65สดใส

รายงานหน้า 2 : ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ มองทิศทางส่งออกปี’65สดใส

ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
มองทิศทางส่งออกปี’65สดใส

หมายเหตุ : หนังสือพิมพ์มติชน จัดงานสัมมนา “ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย” วันที่ 22 กันยายน 2564 รูปแบบ Live Streaming โดย นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ต่อแนวทางดำเนินการและทิศทางส่งออกจากปี 2564 สู่ปี 2565

⦁ไฮไลต์สำคัญของการส่งออกไทยในช่วงที่ผ่านมา

การส่งออกรายเดือนของไทยในปี 2564 มีมูลค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี อีกทั้งทำนิวไฮ โดยเดือนมีนาคม 2564 มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 24,222.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการส่งออกช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวสูงถึง 16.2% ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ที่ 4% กว่า 4 เท่า เนื่องจากการทำงานเชิงรุกและดำเนินตามแผนส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น รวมถึงปัจจัยค่าเงินบาทอ่อนค่า และราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ล้วนช่วยสนับสนุนให้การส่งออกดีขึ้น

Advertisement

สำหรับสินค้าส่งออกที่ขยายตัวได้ดีเป็นสินค้าที่ได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ สินค้าหมวดคงทนฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้หดตัวรุนแรง เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และยางรถยนต์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เป็นต้น สินค้าที่เปลี่ยนโมเดลตามการใช้นวัตกรรมที่สูงขึ้น โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ การปรับสู่เทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลให้สินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่กิจกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตอย่างมากในช่วงโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่ไทยมีศักยภาพเป็นสินค้าดาวเด่นที่ไม่ได้รับผลกระทบช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 และเติบโตอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เป็นสินค้าที่อยู่ในวัฏจักรขยายตัว เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งปรุงรสอาหาร ผลไม้ รวมทั้งสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น

⦁ความท้าทายต่อการส่งออกไทย

ความท้าทายของภาคการส่งออกในปี 2564 คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และขยายไปหลายประเทศทั่วโลก อาจทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขาดช่วง รวมทั้งส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ ขณะที่ไทยการแพร่ระบาดในโรงงานทำให้ต้องหยุดการผลิตชั่วคราว อาจส่งผลต่อภาคการผลิตอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม โรงงานต่างๆ ได้มีมาตรการป้องกันเข้มงวดและเร่งรัดการฉีดวัคซีน ทำให้สามารถกลับมาเปิดโรงงานได้เร็ว ส่วนอีกปัญหาคือค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น และปัญหาการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลก เนื่องจากความต้องการทั่วโลกเพิ่มขึ้น

⦁โอกาสของการส่งออกไทย

ส่วนการเติบโตของภูมิภาคเอเชียที่การส่งออกขยายตัวอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลก จากการค้าขายที่แข็งแกร่งภายในภูมิภาค นำโดยจีน อินเดีย และอาเซียน กลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่เติบโตสูงของโลกเป็นภูมิภาคที่มีฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลก ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันการส่งออกของภูมิภาค ส่งผลให้การส่งออกของไทยที่เชื่อมโยงในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของภูมิภาคขยายตัวตามไปด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ การกระจายวัคซีนมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4/2564 ประเทศพัฒนาแล้วที่สำคัญของโลกเริ่มฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สาม ช่วยสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค และการกระจายวัคซีนมากขึ้นช่วยส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศทยอยเปิดประเทศมากขึ้น

⦁ทิศทางการส่งออกของไทยในปี’65 และนโยบายผลักดันการส่งออก

สำหรับภาพรวมการส่งออกปี 2565 คาดว่าจะยังคงมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) มองว่าเศรษฐกิจและการค้าโลกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกจนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งนโยบายผลักดันการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ช่วยเตรียมความพร้อมแก่ภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลก

ทั้งนี้ เพื่อผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการส่งออกของไทย 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ยึดหลักการทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างเข้มแข็ง 2.ผลักดันให้ภาคเอกชนไทยเร่งปรับตัวให้ทันสถานการณ์โลก 3.ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเร่งศึกษาหาประโยชน์จากความตกลงทางการค้า (เอฟทีเอ) ผลักดันให้ใช้ประโยชน์ทั้งเอฟทีเอ ทวิภาคีและพหุภาคี โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์ซีอีพี ซึ่งไทยจะเร่งให้สัตยาบันให้ทันภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 และ 4.ส่งเสริมภาคบริการ ได้แก่ บริการคอนเทนต์ บริการโลจิสติกส์ บริการท่องเที่ยว ไทยมีศักยภาพสูง นอกจากนี้ ในยุคต่อไปไทยต้องไม่เน้นการแข่งขันด้านราคาเพียงอย่างเดียว เนื่องจากมีต้นทุนที่สูงกว่า แต่ต้องเน้นการแข่งขันด้านคุณภาพ และเน้นใช้นวัตกรรมให้มากขึ้น

⦁เมกะเทรนด์และทิศทางการค้าโลกที่มีผลต่อไทย

สนค.ได้ศึกษาแนวโน้มที่จะมีผลต่อรูปแบบการค้าและความต้องการสินค้าในอนาคต หลังจากการเกิดขึ้นของโควิด-19 ที่กระทบทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการใช้ชีวิตของประชาชน เป็นตัวเร่งที่ทำให้แนวโน้มสำคัญของโลกเกิดเร็วขึ้น และยังทำให้รูปแบบการค้าและความต้องการสินค้าเปลี่ยนแปลงไปด้วย ผู้นำทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐ สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ที่ล้วนเป็นคู่ค้าสำคัญและตลาดส่งออกหลักของไทย ต่างเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวโน้มโลก โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับภาคการผลิต เน้นสร้างมูลค่าเพิ่มทางการค้าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

จากการศึกษา สนค.ประเมินว่ารูปแบบการค้าและความต้องการสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในระยะยาวหลังยุคโควิด-19 จะทำให้ความต้องการสินค้าเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ 1.กระแสการเข้าสู่ยุคดิจิทัลและการใช้เทคโนโลยี ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้นในด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยี อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ หุ่นยนต์ ซอฟต์แวร์ และดิจิทัลคอนเทนต์ 2.กระแสการขยายความเป็นเมือง เพิ่มโอกาสให้สินค้าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง รถจักรยาน รถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพืชพันธุ์ไม้ การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อสนับสนุนเมืองอัจฉริยะ

3.กระแสการเข้าสู่สังคมสูงวัย ผู้สูงอายุต้องการสินค้าที่ตอบโจทย์ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สินค้าและบริการที่มีโอกาสจากเทรนด์นี้ ได้แก่ สินค้านวัตกรรมเพื่อสุขภาพ เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ที่ใช้ในบ้านสำหรับผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์อาหารบำรุงและชะลอวัย เครื่องสำอางจากธรรมชาติ เทคโนโลยีดูแลสุขภาพ และแอพพลิเคชั่นดูแลสุขภาพทางไกล 4.กระแสการใช้ชีวิตในบ้านมากขึ้น การใช้ชีวิตภายในบ้านในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้กระตุ้นให้เกิดความต้องการในสินค้า อาทิ ของตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์กีฬาในร่ม เป็นต้น

5.กระแสการใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีความต้องการในสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ ยานยนต์ไฟฟ้า สินค้าด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ สินค้าที่ช่วยการผลิตพลังงานหมุนเวียน และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำเสียและบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น 6.กระแสการใส่ใจสุขภาพ กระแสการรักษาสุขภาพเกิดแนวโน้มการบริโภคอาหารที่ดี ทำให้ความต้องการอาหารออร์แกนิค อาหารและเครื่องดื่มฟังก์ชั่น อาหารและโปรตีนจากพืชเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้ ความต้องการสินค้าเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ สิ่งทอทางการแพทย์เป็นที่ต้องการมากขึ้น ซึ่งไทยจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายส่งเสริมการค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไปด้วย

⦁การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าของไทย

ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าของไทย ขณะนี้ สนค.อยู่ระหว่างจัดทำยุทธศาสตร์การค้าของไทย พ.ศ.2565-2570 ซึ่งจะเป็นแนวทางการขับเคลื่อนการค้าของชาติในอีก 5 ปีข้างหน้า ยุทธศาสตร์การค้าฉบับนี้มุ่งเน้นการสร้างขีดความสามารถ และความพร้อมที่จะรับมือ ฟื้นตัว และใช้ประโยชน์จากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง สร้างสินค้าและบริการใหม่ๆ ด้วยนวัตกรรม และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และยังเน้นให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน สนับสนุนผู้ประกอบการชุมชน และท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าไทย

หลังจากรับฟังความเห็นของหลายภาคส่วนสามารถสรุปได้ 5 ยุทธศาสตร์สำคัญ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ขับเคลื่อนการค้าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการค้าให้เข้มแข็ง เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า ลดต้นทุน และเพิ่มโอกาสขยายตลาด ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการค้าไทยสู่ตลาดโลก ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทุนมนุษย์ โดยพัฒนาแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมศักยภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นทิศทางส่งเสริมการค้าในอนาคตให้มีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโลก ภูมิรัฐศาสตร์ เมกะเทรนด์สำคัญ ตลอดจนสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (บีซีจี) อีกทั้งยังมีแนวทางในการนำไปสู่การขับเคลื่อนการค้าของไทยให้สามารถสร้างความโดดเด่น และเป็นที่ดึงดูดการค้าการลงทุนมากขึ้น

⦁ภารกิจของ สนค.ที่จะช่วยสนับสนุนและเตรียมความพร้อมให้กับผู้ส่งออก

สำหรับภารกิจของ สนค.เป็นหน่วยงาน Think Tank ของกระทรวงพาณิชย์ มีหน้าที่สำคัญในการชี้แนะทิศทางเศรษฐกิจการค้าของประเทศ จัดทำยุทธศาสตร์การค้า ติดตามสถานการณ์การค้าการลงทุนและมาตรการการค้าที่สำคัญ จัดทำและพัฒนาเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจการค้า รวมถึงศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ทางการค้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน อีกทั้งเป็นศูนย์กลางระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเชิงลึกด้านการเศรษฐกิจการค้า เพื่อเสนอแนะนโยบาย เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน สร้างโอกาสและช่องทางการค้า สำหรับภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

ทั้งนี้ ในการสนับสนุนผู้ประกอบการส่งออก สนค.นอกจากกำหนดยุทธศาสตร์การค้าเพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมผู้ส่งออกให้เติบโตอย่างเข้มแข็งแล้ว ยังได้เตรียมเครื่องมือในการวิเคราะห์ทางการค้าด้วยการใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อน Data-Driven โดยมีการพัฒนาระบบข้อมูลเชิงลึกด้านเศรษฐกิจการค้า เพื่อติดตามสถานการณ์การค้าในประเด็นสำคัญต่างๆ อาทิ สินค้าเกษตรที่สำคัญ เศรษฐกิจระดับจังหวัด การค้าระหว่างประเทศ และธุรกิจบริการ ซึ่งจะแสดงผลในรูป Dashboard ใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์ในหลายมุมมอง ซึ่งจะช่วยยกระดับการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจการค้าของประเทศและแก้ไขปัญหาตามภารกิจของกระทรวงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็วขึ้น โดยจะเปิดให้ผู้ส่งออก เกษตรกร นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้เพื่อติดตามประเด็นที่ตนสนใจผ่านทางเว็บไซต์ คิดค้า.com

นอกจากนี้ สนค.ได้ติดตามเทรนด์ของโลกที่จะเป็นโอกาสในการส่งออกของไทย โดยจะมีการนำเสนอผลการศึกษาและบทวิเคราะห์ที่เป็นแนวโน้มทิศทางการค้าที่น่าสนใจ ครอบคลุมประเด็นการค้าใหม่ๆ มีความหลากหลาย และเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกอย่างสม่ำเสมอ ทุกท่านสามารถเข้ามาติดตามได้ทั้งในเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ สนค. เราพร้อมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการในทุกภาคส่วนให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

นอกจากบทสัมภาษณ์ดังกล่าวแล้ว สามารถรับฟังได้เพิ่มเติมในงานสัมมนา “ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย” จัดโดยมติชน ร่วมกับพันธมิตรชั้นนำ โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษ “ความหวัง ส่งออกไทย ในมรสุมโควิด” จากนั้นเปิดมุมมอง บอกเล่าทิศทางการทำงานภาครัฐ ในวงเสวนา “2021 สู่ 2022 ทิศทางส่งออกไทย” โดย นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)

อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญที่พลาดไม่ได้! กับวงเสวนา “มุมมองผู้ส่งออก ความหวังเศรษฐกิจไทย” ตัวแทนจากภาคเอกชนที่จะมาร่วมถอดบทเรียนในครั้งนี้ นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติคุณสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย และ ดร.การัณย์ อังอุบลกุล ประธานกรรมการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ โคราช จำกัด ในวันพุธที่ 22 กันยายน 2564 เวลา 09.00-12.00 น. ในรูปแบบ Live Streaming ที่

FB : Matichon Online – มติชนออนไลน์

FB : Khaosod – ข่าวสด

FB : Prachachat – ประชาชาติธุรกิจ

YouTube : matichon tv – มติชน ทีวี

#มติชน #สัมมนา #ปลุกพลังส่งออกพลิกเศรษฐกิจไทย #ประเทศไทยไปต่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image