จังหวะ การเมือง ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา แนวโน้ม ยุบสภา

จังหวะ การเมือง ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา แนวโน้ม ยุบสภา

ความขัดแย้ง เห็นต่างของระบบ “เลือกตั้ง” และการตัดสินใจ “เลือก” จะเป็นเครื่องชี้ชาด ทิศทางและแนวโน้มการเมือง

แม้ร่างแก้ไข “รัฐธรรมนูญ” จะผ่านวาระ 3 แล้ว

กระนั้น วันเวลาแห่งการรอคอยก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศและบังคับใช้ก็สำคัญ

ปมเงื่อนอยู่ที่ “ความหวาดกลัว”

Advertisement

การเคลื่อนไหวของกลุ่มพรรคการเมือง “ขนาดเล็ก” จำนวนหนึ่งอาจเป็นสัญญาณ เป็นสัญญาณจากความตระหนกในทางความคิด

เป็นความตระหนกจาก “กองเชียร์” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป็นความตระหนกว่าอาจตกหลุมพรางจากการขุดเอาไว้โดยพรรคเพื่อไทย ท่ามกลางความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์

เพราะทั้งหมดนี้มาจาก “แผนสมคบคิด” ทางการเมือง

ในความเชื่อของ “กองเชียร์” พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความเห็นอย่างหนักแน่นและจริงจังว่าหากการเลือกตั้งเป็นในแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540

นั่นคือ การเข้าทางของ “เพื่อไทย”

เพราะการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 พรรคอันดับ 1 คือ พรรคไทยรักไทย การเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทยชนะถล่มทลาย

เลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ก็เป็นพรรคพลังประชาชน

เลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ชัยชนะเป็นของพรรคเพื่อไทย แม้กระทั่งเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 พรรคเพื่อไทยก็ยังได้อันดับ 1

หากย้อนกลับไปเป็นบัตร 2 ใบ พรรคเพื่อไทยก็เหมือน “พยัคฆ์เสียบปีก”

ยิ่งเมื่อผ่านสถานการณ์วันที่ 8 กันยายน หากพรรคพลังประชารัฐไม่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นคนกุมบังเหียน ลางแพ้ก็ยิ่งเห็นเด่นชัด

ตรงนี้จึงเป็นคำถามแหลมคมต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ความหวั่นไหวจากสถานการณ์แห่งญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม ถึงวันที่ 4 กันยายน

เป็นความหวั่นไหวจากความเชื่อมั่นหนึ่งในทางการเมือง

นั่นก็คือ เชื่อว่าการเคลื่อนไหวของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า มิได้เป็นไปเพื่อสร้างบทบาทและความหมายในทางการเมือง

หากแต่เป็นการ “สมคบคิด” กับคนของพรรคการเมือง “อื่น”

จึงจำเป็นต้องใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี “ปลด” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่านางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ออกจากตำแหน่ง

และมาดหมายจะ “รุก” เข้าไปภายในพรรค

แต่เมื่อประสบกับการสร้าง “ป้อมค่าย” จากทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จึงก่อให้เกิดการตั้งหลักใหม่ในทางการเมือง

โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ “ทิศทาง” ของระบบ “เลือกตั้ง” เป็นสำคัญ

หากสามารถกุมอำนาจภายในพรรคพลังประชารัฐได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อนาคตของการเลือกตั้งก็เป็นไปตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

หากทุกอย่างไม่เป็นไปตาม “แผน”

การสกัดขัดขวางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อมิให้กระบวนการเลือกตั้งเป็นไปตามพิมพ์เขียวที่พรรคเพื่อไทยต้องการย่อมบังเกิด

บังเกิดผ่านกระบวนการ “ยุบสภา”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image