นักวิชาการดังเขียนบทความชื่นชม ‘ไผ่ทองไอสครีม’ ชี้ออกแถลงการณ์ได้น่าเคารพ

นักวิชาการดังเขียนบทความชื่นชม ‘ไผ่ทองไอสครีม’ ชี้ออกแถลงการณ์ได้น่าเคารพ มองเห็นคนจนเมืองผู้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดีกว่าผู้บริหารเมืองเสียอีก 

เมื่อวันที่ 21 กันยายน ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยแพร่บทความเรื่อง แถลงการณ์ของไผ่ทองไอสครีม : พื้นที่ คนจนเมือง และโลกทุนนิยม มีรายละเอียดดังนี้

เนื่องจากธุรกิจขายเร่เป็นอาชีพเก่าแก่ของโลกและของคนไทย พ่อค้าแม่ค้าธุรกิจนี้ส่วนใหญ่เป็นคนตัวเล็กที่มีเงินลงทุนไม่มาก จึงไม่ได้มีเงินพอสำหรับการเช่าร้านหรือพื้นที่ในการขายจำเป็นที่ต้องออกขายไปตามแหล่งต่างๆ ที่อาจขัดกับระเบียบกฎหมายบ้านเมือง
(แถลงการณ์ของไผ่ทองไอสครีม)

ผมขอขอบคุณบริษัทไผ่ทองไอสครีมที่ได้แถลงการณ์อันน่าเคารพฉบับนี้ เพื่อที่ทำให้คนในสังคมไทยในพื้นที่เมือง ได้มองเห็นและเข้าใจคนตัวเล็กตัวน้อยที่จำเป็นที่จะต้องหาเลี้ยงชีพ ที่สำคัญผมอยากจะให้แถลงการณ์นี้ซึมซับเข้าไปในหัวใจของนักการเมืองที่คิดว่าตนเองเป็นเจ้าของกรุงเทพฯทั้งๆ ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร (ที่แสนโสโครก) ที่มองเห็นเมืองเป็นเพียงพื้นที่สะอาดสวยงามแบบชนชั้นกลางทั่วไปเท่านั้น

Advertisement

“คนตัวเล็กที่มีเงินลงทุนไม่มาก” หรือคนจนในพื้นที่เมืองที่ทั้งหมดคือใคร

คนจนในเมืองคือ “ผู้หล่อเลี้ยงเมือง” และเป็นคนที่ทำให้ชีวิตของชนชั้นกลางได้ดำเนินไปอย่างมีปกติสุข หากปราศจากคนที่ทำงานในระดับล่างทั้งหมดในเมืองชีวิตชนชั้นกลางจะประสบปัญหาอย่างมากมายทีเดียว ตัวอย่างที่น่าจะเข้าใจง่ายที่สุด เช่น หากพี่น้องคนจนเมืองที่ทำหน้าที่เก็บขยะหยุดงานเพื่อประท้วงชนชั้นกลางเพียงแค่สามวัน เมืองใหญ่ทุกเมืองจะหมกเหม็นกับขยะกลาดเกลื่อน

ระบบเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยเฉพาะทุนใหญ่ซึ่งจ้างพนักงานจำนวนมากด้วยเงินเดือนที่ไม่มากนัก พนักงานเหล่านี้มีชีวิตอยู่รอดได้ก็เพราะคนจนเมืองทำงานหาบเร่แผงลอยขายอาหารราคาไม่แพงให้แก่พวกเขา ภาพชีวิตของคนจนเมืองทั้งหลายเป็นภาพที่พวกเราชนชั้นกลางเห็นทุกวี่ทุกวัน แต่เรากลับไม่เคย/ไม่ได้ตระหนักถึงสายใยความสัมพันธ์ของพวกเขาที่ได้ร่วมกันถักสานกันขึ้นมา ในการหล่อเลี้ยง/เกื้อหนุนในการทำให้ชีวิตของเมืองดำเนินไปได้

Advertisement

หากทำความเข้าใจให้กว้างขวางมากขึ้น เราก็จะเห็นความหมาย/ความสำคัญของพี่น้องคนจนเมืองที่มีต่อเมืองและสังคมมากยิ่งขึ้น ด้านหนึ่ง การดำเนินชีวิตของชนชั้นกลางในเมืองทุกคนจะเดือดร้อนอย่างยิ่งหากปราศจากพี่น้องคนจนเมือง ในอีกด้านหนึ่ง คนจนเมืองทั้งหมดเป็นผู้ค้าขายที่จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่รัฐเป็นจำนวนมากมหาศาล (คนเสียภาษีรายได้มีเพียงห้าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งเป็นรายได้เข้ารัฐอันดับที่สาม)

ที่สำคัญ มูลค่าโดยรวมจากการผลิตของพี่น้องคนจนที่อยู่ในเมืองหรือที่เรียกกันได้ว่าเป็นภาคการผลิตไม่เป็นทางการนั้นมีสัดส่วนที่สูงมากในผลผลิตมวลรวมประชาชาติ นักเศรษฐศาสตร์บางท่านได้กล่าวไว้ว่าน่าจะสูงถึงระดับหกสิบเปอร์เซ็นต์ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ

ดังนั้น การดำรงชีวิตของพี่น้องคนจนเมืองไม่ใช่การเกาะกินเมืองหรือทำให้เมืองสกปรก หากแต่เป็นพลังทางเศรษฐกิจสำคัญในการทำให้ระบบเศรษฐกิจของสังคมไทยดำเนินไปได้

การทำความเข้าใจความหมายและความสำคัญของคนจนเมืองที่มีต่อ “เมือง” และระบบเศรษฐกิจโดยรวมเช่นนี้ น่าจะช่วยทำให้ชนชั้นกลางในเมืองได้ตระหนักคิดถึงแนวทางการสร้างชีวิตที่จะอยู่ร่วมกันในพื้นที่เมืองอย่างสร้างสรรค์และผดุงความยุติธรรมให้แก่ทุกผู้คนในเมือง

กรอบความคิดสำคัญที่เกิดขึ้นในโลกวิชาการและพยายามขยายออกสู่ภาคปฏิบัติของพื้นที่เมืองในโลกได้แก่ การเน้นที่ “สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง (The Right to the City) (ผมขอใช้คำของอาจารย์บุญเลิศ วิเศษปรีชา นะครับ ซึ่งอาจารย์เป็นผู้ที่ขยายความคิดในเรื่องนี้อย่างกว้างขวางครับ) ซึ่งหมายความอย่างชัดเจนว่าคนที่ในพื้นที่เมืองทุกกลุ่มต้องมีส่วนกำหนดความเปลี่ยนแปลง/ความเป็นไปของความเป็นเมืองที่กำลังพลวัตอย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะทำให้ความเป็น “เมือง” นั้นกระจาย ”ความเจริญ” ให้ตกสู่ผู้คนทุกกลุ่ม/ทุกหมู่เหล่า คนจนเมืองที่มีคุณค่าต่อเมืองจะได้ไม่ถูกกีดกันออกจากผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนพื้นที่เมือง

ความเปลี่ยนแปลงของเมืองที่ถูกผลักดันโดยกลุ่มทุนได้ชะงักลงไปเพราะเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดจึงน่าจะเป็นโอกาสของสังคมไทยที่จะหันกลับมาทบทวนความเปลี่ยนแปลงของเมือง เพราะหากไม่คำนึงถึงคนทุกกลุ่มในสังคม คิดแต่เพียงเงินตราที่จะเข้ามาในประเทศ เช่น การขยายให้คนต่างชาติมีสิทธิในครอบครองบ้าน คอนโดมิเนียม ที่ดิน ยิ่งจะซ้ำเติมปัญหาของเมืองหนักหน่วงมากขึ้นไปอีก เพราะเท่ากับการดันให้ที่ดินที่พักอาศัยกลายเป็นสินค้าเต็มตัว อันจะทำให้คนในเมืองทั้งหมดเดือดร้อนมากขึ้น ไม่ใช่แค่คนจนเท่านั้น

คำแถลงการณ์ของไผ่ทองไอสครีมได้ทำให้เห็นได้ว่ากลุ่มทุนขนาดไม่ใหญ่นัก และเป็นกลุ่มทุนที่สัมพันธ์อยู่กับ “คนตัวเล็กตัวน้อย” มองเห็นและตระหนักถึงความหมายของชีวิตคนจนเมือง ซึ่งหวังใจว่าความรู้สึกของไผ่ทองไอสครีมเช่นนี้จะขยาย/กระจาย/ลงสู่หัวใจของพี่น้องคนเมืองทุกคน

ขอบคุณอีกครั้งครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image