ครม.รับทราบ ภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 64 ตามที่ “สศช.” เสนอ

ครม.รับทราบ ภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 64 ตามที่ “สศช.” เสนอ

เมื่อวันที่ 21 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2564 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสสอง ปี 2564 ประกอบด้วย เรื่องการจ้างงาน โดยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการจ้างงานภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 จากการเคลื่อนย้ายเข้าไปทำงานของแรงงานที่ว่างงานและถูกเลิกจ้างและราคาสินค้าเกษตรที่จูงใจ และการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8

ทั้งนี้การว่างงานยังอยู่ในระดับสูงจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.89 คิดเป็นผู้ว่างงาน 7.3 แสนคน นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงขึ้นเป็นร้อยละ 3.18 และ 3.44 ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่าการว่างงานในปัจจุบันอยู่ในกลุ่มแรงงานทักษะสูง ส่วนการว่างงานในระบบผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีจำนวน 3.1 แสนคน คิดเป็นสัดส่วนต่อผู้ประกันตนร้อยละ 2.8 ลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อยแต่ยังคงสูงกว่าสถานการณ์ปกติ ขณะที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยมีจำนวน 32,920 คน เพิ่มขึ้น 4 เท่าจากไตรมาสก่อนที่มีจำนวนเพียง 7,964 คน

ทั้งนี้ต้องติดตามผลกระทบและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน การมีงานทำ และรายได้ โดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ การปรับตัวของแรงงานที่ได้รับผลกระทบในกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อน และผู้จบการศึกษาใหม่ ขณะที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น และต้องเฝ้าระวังคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลง

Advertisement

โดยไตรมาสที่หนึ่ง ปี 2564 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90.5 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการเลื่อนและพักชำระหนี้ ที่ทำให้ยอดหนี้คงค้างไม่ลดลง รวมทั้งครัวเรือนที่ไม่ได้รับผลกระทบมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น หนี้เสียของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.92 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.84 ในไตรมาส ยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัย

สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนเริ่มมีปัญหาในการหารายได้หรือสถานะทางการเงินเปราะบางมากขึ้น ส่วนภาวะทางสังคมอื่น ยังเฝ้าติดตาม เช่น การเจ็บป่วยโดยรวม ผลกระทบด้านสุขภาพจิตของประชาชนจากโควิด-19 ความรุนแรงในครอบครัว จากการดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งคดีอาญาจากคดียาเสพติด ประทุษร้ายต่อทรัพย์ การค้ามนุษย์ และการร้องเรียนต่างๆ

2. สำหรับสถานการณ์ทางสังคมพบว่า การพัฒนาคนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน ปี 2564 ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 28 จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานได้รับการจัดอันดับอยู่ในระดับต่ำ

โดยเฉพาะด้านการศึกษาอยู่ในอันดับที่ 56 จึงต้องเร่งพัฒนาคุณภาพคน เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สร้างกลไกให้เกิดการเรียนรู้ สภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้คนทุกกลุ่มสามารถพัฒนาทักษะของตนได้ง่ายขึ้น และนำเทคโนโลยีมาพัฒนาด้านการศึกษา เพื่อเพิ่มคุณภาพของเนื้อหาและการเรียนการสอน การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา

รวมถึงการช่วยเพิ่มโอกาสให้เข้าถึงการเรียนรู้ในช่วงโควิด-19 ควรให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษา ขณะที่บทบาทสื่อกับบริบทสังคมไทย สื่อมีส่วนสำคัญในการกำหนดการรับรู้ให้ประชาชนทั่วไป จึงจำเป็นต้องพิจารณาความเหมาะสมของบทบาทสื่อรูปแบบต่างๆโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่มีการส่งต่อข่าวปลอมได้ง่าย และกระจายไปได้รวดเร็ว จึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและสื่อดิจิทัลแก่ประชาชนทุกกลุ่มวัยต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบทความเรื่อง “ประเทศไทยกับความพร้อมของรูปแบบการทำงานที่บ้าน” จากผลสำรวจของสวนดุสิตโพลเรื่อง พฤติกรรมของคนไทยกับการทำงานที่บ้าน ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า คนไทยมีการทำงานที่บ้านร้อยละ 43 และทำงานทั้งที่บ้านและที่ทำงานร้อยละ 34 โดยมีข้อดี ได้แก่ ช่วยลดการแพร่ระบาดของโรค ประหยัดค่าเดินทาง และเป็นการให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ส่วนข้อเสีย ได้แก่ มีค่าใช้จ่ายที่บ้านเพิ่มขึ้น อุปกรณ์เครื่องมือไม่สะดวก และการสื่อสาร ติดต่อล่าช้า

ในส่วนของผู้ประกอบการ มีการประเมินว่า ร้อยละ 20 ของบริษัทในปัจจุบันมีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้าน ดังนั้นควรเตรียมให้ไทยพร้อมรับกับรูปแบบการทำงานที่บ้าน โดยเตรียมความพร้อมขององค์กรสำหรับการทำงานรูปแบบใหม่ และยกระดับความพร้อมด้านเทคโนโลยีสำหรับองค์กร และพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่พนักงาน พิจารณาให้การทำงานนอกสถานที่ทำงานเป็นนโยบายขององค์กร และ และการพิจารณาการปรับรูปแบบการทำงานสู่การทำงานที่บ้านให้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยสนับสนุนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้มีความเสถียรและครอบคลุม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image