‘บิ๊กตู่’ เดินหน้าแผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 พลิกโฉมประเทศ รับการเปลี่ยนแปลง แบบเมกกะเทรนด์

‘บิ๊กตู่’ เดินหน้าแผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 พลิกโฉมประเทศ รับการเปลี่ยนแปลง แบบเมกกะเทรนด์

เมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเปิดการประชุมประจำปี 64 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผ่านระบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ “เรื่องมิชชั่น ทู ทรานฟอร์ม 13 หมุดหมาย พลิกโฉมประเทศไทย” ว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 จะประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2566 – 2570 ถือเป็นแผนของการพัฒนาประเทศในระยะ 5 ปีข้างหน้า เป็นการวางแผนเพื่อก้าวไปสู่อนาคต โดยจำเป็นต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในโลกอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะแนวโน้มที่เรียกว่า เมกกะเทรนด์ ทั้ง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การเปลี่ยนแปลงค่านิยมและรูปแบบการใช้ชีวิต การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน ภาวะโลกร้อนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

ทั้งนี้จากเมกกะเทรนด์ ได้ทำให้เกิดโอกาสในการพัฒนารูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีขึ้นมาก่อน ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและพฤติกรรมของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม รวมถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งให้ให้เกิดเมกะเทรนด์ ดังนั้น การกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต จำเป็นต้องพิจารณาบริบทการเปลี่ยนแปลงภายนอกประเทศ ควบคู่กับการประเมินเงื่อนไขของปัจจัยภายในหรือสภาพแวดล้อม และศักยภาพของประเทศทั้งที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อน เพื่อตัดสินใจเลือกทิศทางและแนวทางที่จะเป็นประโยชน์มากที่สุดสำหรับประเทศในการก้าวต่อไปท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่ผันผวนรวดเร็วของโลก

“การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้รุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสภาพจิตใจของคนไทย โดยรัฐบาลไม่นิ่งนอนใจและพยายามควบคุมสถานการณ์ และออกมาตรการมาใช้ และเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชน เพื่อลดความเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต รัฐบาลขอให้คำมั่นว่าจะพยายามเร่งรัดและจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชนอย่างครอบคลุม ทั่วถึง และรวดเร็ว รวมถึงออกมาตรการทางเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนเพื่อเยียวยา และบรรเทาผลกระทบต่าง ๆ ให้กับประชาชน และจะนำพาประเทศรอดพ้นวิกฤตครั้งนี้โดยเร็ว พร้อมพลิกฟื้นประเทศให้เข้มแข็ง” นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงแผนฯฉบับที่ 13 กับการทำงานของรัฐบาลเพื่อพลิกโฉมประเทศว่า มีเป้าหมายที่สำคัญทั้งหมด 5 ประการ ดังนี้

Advertisement

1. การปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศให้เป็นเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานนวัตกรรม

2. การพัฒนาคนให้มีความสามารถและมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ โดยพัฒนาคนไทยให้มีความพร้อมในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21

3. การสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม ที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามขจัดความเหลื่อมล้ำในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ โดยปรับปรุงระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับผู้ถือบัตรอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแจกจ่ายเบี้ยยังชีพต่อเนื่องให้กับผู้มีรายได้น้อย

Advertisement

4.การสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ รัฐบาลมุ่งเน้นให้การพัฒนาประเทศในทุกมิติต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ รวมถึงมีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

และ 5.การเตรียมความพร้อมให้กับประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่

โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐที่ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศและสามารถรองรับการขนส่งและการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image