ประวิตร ยกคณะบริหาร พปชร. ลงกรุงเก่า ตรวจความพร้อมรับมือน้ำหลาก มั่นใจไม่ซ้ำรอยปี ’54

“พล.อ.ประวิตร” ควงคณะบริหารพรรค พปชร. ลงพื้นที่กรุงเก่า ตรวจความพร้อมพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำหลาก มั่นใจไม่เกิดมหาอุทกภัยซ้ำรอย ปี ’54 แน่นอน พร้อมเร่ง 9 แผนหลักบรรเทาอุทกภัยลุ่มเจ้าพระยา

เมื่อวันที่ 22 กันยายน ณ บริเวณโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) และในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นำคณะผู้บริหารพรรค ประกอบด้วย พลเอก วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานยุทธศาสตร์พรรคร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รวมทั้งรัฐมนตรีของพรรคอาทิ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง นายอธิรัช รมช.คมนาคม และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส พร้อมด้วย ส.ส.ในหลายพื้นที่ มาร่วมให้การต้อนรับอย่างพร้อมเพรียงเพื่อร่วมติดตามความพร้อมของการบริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

โดยนายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวต้อนรับและรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำเสนอภาพรวมการบริหารจัดการน้ำรับน้ำหลากตามมาตรการ กอนช. และแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบในลุ่มน้ำเจ้าพระยา นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นำเสนอแนวทางการจัดการและเตรียมพื้นที่รับน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำ และนายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นำเสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือประชาชน พร้อมด้วย ผู้แทนหน่วยงานในพื้นที่ เข้าร่วมประชุม

Advertisement

พลเอกประวิตรกล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ที่ในขณะนี้มีปริมาณน้ำท่าตามธรรมชาติที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ซึ่งกรมชลประทานได้เพิ่มอัตราการระบายของเขื่อนเจ้าพระยาเป็น 1,481 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณท้ายเขื่อนบางแห่งที่ได้รับผลกระทบ จากมวลน้ำเข้าพื้นที่ เกษตร ประกอบด้วย พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา และแม่น้ำน้อยที่ ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีราษฎรประมาณ 602 ครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์น้ำท่วมเช่นนี้เป็นเรื่องปกติที่ชาวบ้านในพื้นที่รับรู้ว่าจะเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่ง กอนช.ได้ให้กรมชลประทานเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังยังจุดเสี่ยงล่วงหน้า พร้อมทั้งประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานท้องถิ่น เพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างต่อเนื่องแล้ว

Advertisement

สำหรับความพร้อมของพื้นที่ในการรับน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ได้มอบหมายให้ทุกจังหวัดในพื้นที่ โดยเฉพาะ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นด่านหน้าก่อนมวลน้ำจะไหลเข้าสู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดำเนินการตาม 9มาตรการรับมือฤดูฝนของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงรับน้ำหลากและเตรียมแผนเผชิญเหตุให้พร้อม และให้จังหวัดร่วมบูรณาการกับกรมชลประทานพิจารณาความเหมาะการรับน้ำหลากเข้าทุ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้ง 10 แห่ง

โดยกำหนดให้ดำเนินการหลังวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ประกอบด้วย ทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด และทุ่งโครงการฯ โพธิ์พระยา รวมทั้งให้ปรับลดการระบายน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก พร้อมทั้งวางแผนเก็บน้ำสํารองทุกแหล่งทั้งผิวดินและใต้ดิน ไว้รองรับในช่วงฤดูแล้งหน้า

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำกรมชลประทานเร่งดำเนินโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ซึ่งเป็น 1 ใน 9 แผนหลักของการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายในปี 2566 ขณะเดียวกัน จะต้องทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้และรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้การยอมรับและเกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนแผนงานด้านน้ำระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาด้านน้ำในพื้นที่ได้อย่างตรงจุดและยั่งยืนด้วย

สำหรับ ทุ่งบางบาลมีสภาพเป็นเกาะ มีพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มผืนใหญ่ล้อมรอบไปด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และคลองโผงเผง (คลองบางหลวง) ช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำจากแม่น้ำลำคลองซึ่งล้อมรอบทุ่งบางบาล จะไหลบ่าเข้าไปในทุ่งเป็นประจำทุกปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ทุ่งบางบาลที่ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาหว่านที่ต้องอาศัยน้ำฝนไถหว่านตอนต้นฤดู กรมชลประทานจึงได้เข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยการดำเนิน โครงการสูบน้ำทุ่งบางบาล” บ้านมะขามเทศ หมู่ 2 จ.พระนครศรีอยุธยา ขึ้นโดยก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2513 และดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2525 ใช้งบประมาณ ประมาณ 450 ล้านบาท โครงการนี้จึงมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาน้ำหลาก ในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image