ปลุกใจ กระจายข่าวด่วน ชวนชุมนุม ‘6 ตุลา’ กับ ศิลปะรับใช้ ปชช. ผ่าน ‘โปสเตอร์’

ปลุกใจ กระจายข่าวด่วน ชวนชุมนุม ‘6 ตุลา’ กับ ศิลปะรับใช้ ปชช. ผ่าน ‘โปสเตอร์’

เมื่อวันที่ 22 กันยายน แฟนเพจ “บันทึก 6 ตุลา – Documentation of Oct 6” ได้เผยแพร่ข้อเขียน เกี่ยวกับเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 โดยระบุว่า

การเคลื่อนไหวของราษฎรในยุคนี้ มีกราฟิกประกาศวันชุมนุมและภาพวาดการเมืองสุดแสบสันเป็นองค์ประกอบสำคัญฉันใด การเคลื่อนไหวของประชาชนฝ่ายก้าวหน้าในปี 2516-2519 ก็มี “โปสเตอร์” และ “คัตเอาต์” เป็นองค์ประกอบสำคัญฉันนั้น ด้วยเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวและประชาชนสำหรับการชุมนุมใหญ่ๆ ในยุคที่เทคโนโลยีสื่อสารยังจำกัด

ส่วนใหญ่โปสเตอร์และคัตเอาต์เหล่านี้ถูกสร้างสรรค์โดยแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย อันเป็นการรวมตัวกันของนักศึกษาศิลปะจากวิทยาลัยเพาะช่าง วิทยาลัยช่างศิลป มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ซึ่งต่างมีความชำนาญในการแปรสารทางการเมืองสู่สัญญะในงานศิลปะ อีกทั้งยังต้องมีความว่องไวในการออกแบบเพื่อส่งต่อข่าวสารไปสู่ประชาชนได้อย่างทันท่วงที

ส่วนคัตเอาต์นั้นต้องอาศัยแรงช่วยเหลือจากประชาชนในการขึ้นโครงไม้อัดขนาดใหญ่เพื่อให้ศิลปินได้สร้างสรรค์ผลงาน ทั้งยังช่วยกันขนส่งไปติดตั้งในจุดชุมนุมต่าง ๆ งานเหล่านี้จึงเรียกได้ว่าเป็นความร่วมมือร่วมใจของประชาชนอย่างแท้จริง

Advertisement

โปสเตอร์แต่ละใบมีวิธีสร้างสรรค์ยังไง คัตเอาต์แต่ละฉากเริ่มจากวิธีคิดแบบไหน บริบทอะไรในยุค 2516-2519 ที่มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะเหล่านี้ นี่คือส่วนหนึ่งของข้อมูลที่รวบรวมไว้ในหนังสือ “สร้างสานตำนานศิลป์ : 20 ปี แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย 2517-2537” พร้อมทั้งคำอธิบายโดย “สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย” อดีตนักศึกษาวิทยาลัยเพาะช่าง ผู้ประสานงานแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย ประจำตึก ก.ต.ป. (ปัจจุบันคือห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา)

“ปลุกใจ กระจายข่าวด่วน เชิญชวนชุมนุม”
3 ประเภทโปสเตอร์ในการเคลื่อนไหว ยุค 2516-2519

ช่วงปี 2516-2519 เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารยังมีจำกัด โปสเตอร์จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสาร เพราะเป็นตัวกลางที่สามารถกระจายข่าวได้ในวงกว้างและรวดเร็ว

Advertisement

โดยโปสเตอร์ในการชุมนุมใหญ่นั้นแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ ตามเป้าหมายในการสื่อสาร คือ

1.ประกาศข่าวด่วน เช่น เหตุร้าย มีการฆาตกรรมคนในขบวน และนัดรวมตัวชุมนุมด่วนเมื่อเกิดสถานการณ์คับขัน
2.ประกาศชุมนุมหรือเชิญชวนร่วมงานสำคัญซึ่งมีการนัดหมายล่วงหน้า เช่น การเฉลิมฉลองวันครบรอบ 1 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ
3.โปสเตอร์ปลุกใจฝ่ายก้าวหน้า

ส่วนใหญ่โปสเตอร์ในยุคนั้นจะใช้ขนาด “ตัดสอง” ซึ่งหมายถึงขนาดกระดาษที่แท่นพิมพ์ตัดออกเป็น 2 แผ่น หากเทียบกับปัจจุบันจะมีขนาดประมาณ A3 นอกจากนี้การพิมพ์ในแต่ละครั้งจะสั่งหลายหมื่นใบกับบพิธการพิมพ์ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้วัดมหรรณพฯ ในปัจจุบัน “หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นักศึกษาต้องหนีกันกระเจิดกระเจิง ทำให้เป็นหนี้โรงพิมพ์บพิธกัน คิดเป็นเงินตอนนี้ก็คงหลายล้าน เพราะพิมพ์กันทุกวัน” สินธุ์สวัสดิ์ทวนความหลัง

“โปสเตอร์ข่าวด่วน” ศิลปะแห่งการงัดข้อกับข่าวสารภาครัฐ

ขบวนการนักศึกษาใช้โปสเตอร์ข่าวด่วนในการกระจายข่าวสารไปสู่ประชาชนในวงกว้าง เพื่อหักล้างข้อมูลจากภาครัฐ ซึ่งในตอนนั้นกุมกระแสข่าวหลักผ่านสื่อ อย่าง หนังสือพิมพ์ และวิทยุเอาไว้

ตามที่ชื่อบอกใบ้ การออกแบบโปสเตอร์ข่าวด่วนนั้น เน้นความเรียบง่ายและรวดเร็ว ดูจากโปสเตอร์ตัวอย่างจะเห็นว่ามีเพียงรูปถ่ายและข้อความเท่านั้น นอกเหนือจากข้อได้เปรียบเรื่องความเร็ว แนวร่วมศิลปินฯ ยังตั้งใจใช้ภาพจริงเพื่อให้ประชาชนเห็นภาพเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น ดังที่เห็นในโปสเตอร์ว่า “ชดใช้หนี้เลือด เพื่อความเป็นธรรม กรรมกรทั้งหลายจงจัดตั้งการต่อสู้” ซึ่งมีภาพศพของ “สำราญ คำกลั่น” กรรมกรอ้อมน้อยที่ถูกฆาตกรรมระหว่างการต่อสู้ของกรรมกรหญิงโรงงานกระเบื้องเคลือบวัฒนาวินิลไทม์ เมื่อปี 2518

ส่วนฟอนต์ต่างๆ ที่อยู่ในโปสเตอร์ สินธุ์สวัสดิ์บอกว่า กลุ่มแนวร่วมศิลปินฯ มีนักออกแบบฟอนต์ระดับหัวกะทิที่ทำงานให้กับโรงพิมพ์และเป็นหนึ่งในสมาชิกของแนวร่วมอยู่แล้ว จึงสามารถเลือกใช้ฟอนต์ของโรงพิมพ์ในโปสเตอร์ได้เลย

 “โปสเตอร์ประกาศชุมนุม” ศิลปะแห่งการรวมตัวประชาชนโดยนัดหมาย

สำหรับโปสเตอร์ประกาศชุมนุมที่มีการนัดหมายล่วงหน้าหลายเดือนหรือข้ามปี ส่วนใหญ่จะออกแบบโดยศิลปินในกลุ่มแนวร่วมศิลปินฯ ซึ่งสามารถใช้จินตนาการวาดภาพลงบนโปสเตอร์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ภาพจริงอย่างโปสเตอร์ข่าวด่วน

อย่างโปสเตอร์ชิ้นนี้ เป็นการนัดชุมนุมต่อต้านชาติตะวันตก ออกแบบโดย “พิทักษ์ ปิยะพงษ์” หนึ่งในแนวร่วมศิลปินฯ ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันได้ดีถึงความไม่พอใจของนักศึกษาต่ออเมริกาในยุคนั้น เพราะนอกจากชนชั้นนำผู้มีอำนาจในการกำหนดการเมืองภายในประเทศแล้ว ตัวละครอีกกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อการเมืองไทยไม่น้อยก็คือ ชาติตะวันตกอย่าง อเมริกา นั่นเอง

สินธุ์สวัสดิ์อธิบายถึงบริบทตอนนั้นให้ฟังว่า ตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกามีหน่วยงานสืบราชการลับชื่อ OSS เข้าไปช่วยประเทศต่างๆ ให้จัดตั้งขบวนการเสรี เช่น ขบวนการเสรีไทย หลังจากสงครามโลกสิ้นสุด สถานการณ์การเมืองก็เริ่มเปลี่ยนไป

“OSS จึงถูกเปลี่ยนสถานะเป็น CIA มีหน้าที่เข้าไปก่อกวนประเทศที่กระด้างกระเดื่อง หรือประเทศที่ต้องการเป็นประชาธิปไตยจ๋าให้อยู่ภายใต้อาณัติของอเมริกา เพราะส่วนหนึ่งที่สำคัญและประสบความสำเร็จของอเมริกาคือการขายอาวุธให้กับประเทศโลกที่สามในราคาแพงลิ่ว นโยบายเปลี่ยนไปจนเกิดเป็นสงครามเย็นขึ้น เกิดเป็นคู่ตรงข้ามระหว่างโลกเสรีนิยมกับโลกคอมมิวนิสต์

“อเมริกาถือว่าตัวเองเป็นพี่เบิ้มเพราะว่าชนะสงครามมา ก็เข้าไปแทรกแซงการเมือง อย่างในเมืองไทยสมัยจอมพลสฤษดิ์ มาจนถนอม ก็ร่วมมือกับอเมริกาอย่างเต็มที่ในการที่จะให้มีฐานทัพ จะให้ทหาร G.I. เข้ามาอยู่ในเมืองไทย” สินธุ์สวัสดิ์เล่า

“14 ตุลาคม รำลึกถึงวีรชนคนกล้า” ออกแบบโดย “ธรรมศักดิ์ บุญเชิด” เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปี 14 ตุลาฯ

แม้โปสเตอร์ใบนี้จะมีธงชาติไทยเป็นสัญลักษณ์หลัก แต่โดยรวมแล้วศิลปะและองค์ประกอบของงานชิ้นนี้ได้รับอิทธิพลจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นอย่างมาก

สินธุ์สวัสดิ์บอกว่า การออกแบบโปสเตอร์และคัตเอาต์ในยุคนั้น มักเป็นการผสมผสานของวัฒนธรรมจีนและวัฒนธรรมตะวันตก เพราะในแนวร่วมฯ นั้นมีทั้งนักศึกษาที่เป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และนักศึกษาที่ได้รับวัฒนธรรมการต่อสู้แบบตะวันตก

“โปสเตอร์ปลุกใจ” ศิลปะแห่งการสร้างเสริมความฮึกเหิม

แม้หลายคนจะเรียกเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 และช่วงเวลาหลังจากนั้นว่า “ชัยชนะของประชาชน” แต่ระหว่างทางก่อนจะดำเนินมาถึงวันที่ 6 ตุลาฯ 2519 นั้น ฝ่ายขวาพยายามทำลายการเคลื่อนไหวและการตื่นตัวทางการเมืองของนักศึกษา กรรมกร และชาวนาอยู่หลายครั้งหลายครา เช่น การใช้ความรุนแรงผ่านกลุ่มจัดตั้งต่างๆ และการกลับมาของจอมพลถนอม ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการชุมนุมใหญ่ในปี 2519

เพื่อไม่ให้คนในขบวนย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ การหมั่นเติมกำลังใจให้กันอยู่เสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องทำผ่านโปสเตอร์

อย่างเช่นชิ้นนี้ซึ่งออกแบบโดย “พิทักษ์ ปิยะพงษ์” โดยใช้คำว่า “สู้! สู้! สู้!” สื่อสารกับประชาชนตรงตัว โปสเตอร์นี้เป็นงานชิ้นสุดท้ายของกลุ่มแนวร่วมศิลปินฯ ที่ผลิตออกมาแจกประชาชนก่อนจะเกิดเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาฯ ผู้ประสานงานแนวร่วมศิลปินฯ เล่าว่า พวกเขานัดหมายกันในกลุ่มว่าจะนำโปสเตอร์ชิ้นนี้ออกมาติดพร้อมกันหากเกิดการรัฐประหารขึ้น

“การติดโปสเตอร์” ปฎิบัติการ หลังเที่ยงคืนที่เสี่ยงภัยไม่แพ้การชุมนุม

หลังจากโรงพิมพ์พิมพ์โปสเตอร์เสร็จเรียบร้อย ก็จะนำมารวมกันที่ตึกสันทนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลรามาธิบดี) โดยศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย รับหน้าที่เป็นแม่งานในการติดโปสเตอร์ ซึ่งมีทั้งนักเรียน และนักศึกษาจากหลากหลายสถาบันมาช่วยกัน

แต่ก่อนจะออกปฏิบัติการ “กุลชีพ วรพงษ์” อดีตนักศึกษาที่เคยทำหนังสือพิมพ์ที่จัดทำโดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย อย่างหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ เล่าว่า จะมีกลุ่มคนที่ตั้งไฟเอาแป้งมาละลายน้ำเพื่อให้เป็น “แป้งเปียก” สำหรับติดโปสเตอร์ก่อน หลังจากนั้นหน่วยติดโปสเตอร์จะเริ่มทำงาน โดยแบ่งคนออกเป็น 3 สายตามย่านต่างๆ อย่าง ฝั่งธนฯ สุขุมวิท และใจกลางเมือง โดยจะมีผู้รับผิดชอบประจำการแต่ละสายประมาณสิบกว่าคน

“สันติ เชิญรุ่งโรจน์” หนึ่งในผู้ชุมนุมยุคนั้นเล่าว่า เขาอยู่ในหน่วยติดโปสเตอร์ รับหน้าที่เป็นคนขับรถกระบะพาเพื่อนๆ ร่วมทีมไปด้วย วิธีการทำงานของพวกเขาคือเลือกตำแหน่งที่ติดให้อยู่ในระดับสายตาคน โดยจะจับคู่กันเดินไปติดตามที่ต่างๆ คนหนึ่งทำหน้าที่ใช้แป้งเปียกลูบกำแพง อีกคนทำหน้าที่ทาบโปสเตอร์ลงไปแล้วรีดให้เรียบ ที่สำคัญ ถ้าไม่ใช่โปสเตอร์ข่าวด่วน หรือเรียกนัดชุมนุมด่วน หน่วยติดโปสเตอร์จะเลือกออกปฏิบัติการหลังเที่ยงคืน เพราะคนไม่พลุกพล่าน

อย่างไรก็ตาม การออกไปติดโปสเตอร์แต่ละครั้งก็มักจะเจอการก่อกวนของฝ่ายขวาอย่างกลุ่มกระทิงแดง ทำให้ปืนกลายเป็นอาวุธสำคัญที่บางคนพกติดตัวไปด้วย

“คัตเอาต์” ศิลปะที่รับใช้มวลชน

นอกจากคัตเอาต์ซึ่งกระจายติดทั่วกรุงเทพฯ แล้ว การมีคัตเอาต์ในพื้นที่ชุมนุมก็มีความสำคัญไม่น้อย เพราะเป็นเครื่องมือในการปลุกใจให้คนตื่นตัว ทั้งยังเป็นพื้นที่ให้ศิลปินสื่อสารเหตุการณ์บ้านเมืองออกมาเป็นผลงานตามสไตล์ตัวเองด้วย

ลักษณะของคัตเอาต์จะเป็นการใช้ไม้อัดมาขึ้นโครง ก่อนจะให้ศิลปินวาดลวดลายลงไป หากต้องการคัตเอาต์ชิ้นใหญ่จะต้องนำไม้อัดที่ขึ้นโครงแล้วมาต่อกัน ซึ่งเราจะสังเกตเห็นรอยแยกซึ่งเป็นการประกอบโครงไม้ในแต่ละภาพได้ชัดเจน โดยการต่อโครงคัตเอาต์นั้นเป็นความร่วมแรงร่วมใจของประชาชนในละแวกนั้นที่แวะเวียนเข้ามาช่วยเหลือ

งานที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นผลงานของ “ธรรมศักดิ์ บุญเชิด” ซึ่งขณะนั้นเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา ซึ่งเป็นศูนย์รวมของแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยภาคอีสาน โดยเขานำผลงานสเกตช์ของนักศึกษา 2 ชิ้นมาวาดลงคัตเอาต์แล้วลงสี แม้เราจะเห็นภาพนี้เป็นขาว-ดำ (ด้วยข้อจำกัดของกล้องยุคนั้น) แต่สินธุ์สวัสดิ์อธิบายว่า ยุคนั้นนิยมใช้สีทึบ (solid) ลักษณะคล้ายป๊อปอาร์ต เพื่อให้สีดึงดูดสายตาคนแม้จะมองจากระยะไกล ซึ่งงานชิ้นนี้ก็ใช้สีทึบเช่นกัน

หากสังเกตดูให้ดี ไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์หรือคัตเอาต์มักมี “กำปั้น” เป็นส่วนประกอบสำคัญ เหตุผลเพราะเป็นสัญลักษณ์ที่ขบวนการเคลื่อนไหวในยุคนั้นใช้บ่อยที่สุด

เหล่านักศึกษาได้รับอิทธิพลจากประเด็นสำคัญระดับโลกอย่าง “สงครามเวียดนาม” ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ขบวนการนักศึกษาไทยตื่นตัวทางการเมืองด้วย โดยกำปั้นนั้นเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้สื่อสารกันอย่างแพร่หลายในขบวนการเคลื่อนไหวนานาชาติ เพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเพื่อสื่อสารว่าขบวนการนี้ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนร่วมกันต่อสู้ เกื้อหนุนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

อย่างผลงานของ “โชคชัย ตักโพธิ์” ชิ้นนี้เล่าถึงเหตุการณ์ในช่วง 14 ตุลาฯ และหลังวันชัยชนะของประชาชน ในภาพประกอบด้วยอุดมการณ์ 3 ประสาน คือ นักศึกษา กรรมกร และชาวนา รวมกันเป็นมัดไว้เพื่อสู้กับเผด็จการซึ่งมีรถถังอยู่ พร้อมด้วยอนุสาวรีย์สีดำที่มีกองศพของประชาชนอยู่บนนั้น

“อาจารย์โชคชัยได้รับอิทธิพลจากงานในยุโรปตะวันตก พวก Edvard Munch แล้วเอามา apply จนเป็นสไตล์ของแกเอง ช่วงนั้นเป็นช่วงสูงสุดในการทำงานแนวนี้” สินธุ์สวัสดิ์อธิบาย

แวะเล่าถึงศิลปินสักนิด “โชคชัย ตักโพธิ์” ถือเป็นศิลปินมือฉกาจ และเป็นนักเรียนเพาะช่างที่มีชื่อเสียงอย่างมากในยุคนั้น สินธุ์สวัสดิ์เล่าว่า ครั้งหนึ่งโชคชัยได้คะแนน C- จากงานศิลปะที่วาดด้วยแท่งถ่านเกรยอง แต่พอส่งผลงานชิ้นนั้นเข้าประกวดเขากลับได้รางวัลชนะเลิศ จึงเป็นที่หมายตาของคณาจารย์และผู้คนโดยทั่วไป หลังจากมาร่วมสร้างงานศิลปะกับขบวนการเคลื่อนไหว โชคชัยถูกตามล่าในช่วง 6 ตุลาฯ จนเกือบเสียชีวิตและต้องไปรักษาตัว ปัจจุบันเขายังคงเป็นศิลปินและใช้ชีวิตอยู่ที่อุบลราชธานี

นี่เป็นผลงานอีกชิ้นของ “โชคชัย ตักโพธิ์” ซึ่งเป็นคัตเอาต์เพียงไม่กี่อันที่ทำเป็นแนวตั้ง โดยมีเรื่องความรุนแรงเป็นเมสเซจหลักในภาพ

“การใช้สวัสดิกะในความหมายของคนในช่วงนั้นคือเผด็จการ เป็นตัวแทนฝ่ายตรงข้ามกับประชาธิปไตย ไม่ได้มองลึกไปว่าสวัสดิกะมาจากศาสนาอะไรที่ฮิตเลอร์ไปหยิบขึ้นมา” สินธุ์สวัสดิ์อธิบาย

“ส่วนใหญ่จะใช้สัญลักษณ์ที่ไม่ได้ซับซ้อน อย่างตัวของผู้ที่สวมหมวกมีเขี้ยวคืออาการกระหายเลือด ด้านหลังมีธงชาติอเมริกาและด้านล่างเป็นธงชาติไทย อันนี้คือสื่อสารว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นถูกดำเนินไปบนบริบทประเทศไทย ซึ่งเป็นงานที่ต่อต้านจักรวรรดินิยมด้วย เพราะพูดถึงการเข้ามากอบโกยและรุกรานของอเมริกา”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image