กสม.แนะครม. เร่งจัดหาวัคซีนให้กลุ่มเปราะบาง ตั้งศูนย์เฉพาะกันระดับชุมชน ช่วยปชช.

กสม.แนะครม.เร่งจัดหาวัคซีนให้กลุ่มเปราะบาง ตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจระดับชุมชนช่วยเหลือ ปชช. พร้อมให้ศธ.จัดทำแผนเตรียมความพร้อมเปิดเรียน จัดกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมฐานรากให้ผู้ได้รับผลกระทบ

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 23 กันยายน ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และน.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์เป็นครั้งแรก โดย น.ส.ศยามลกล่าวว่า กรณีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 กสม.ได้พิจารณาผลกระทบแยกเป็น 2 ประเด็น คือ ประเด็นสิทธิในสุขภาพและการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของรัฐ ได้แก่ การบังคับใช้มาตรการป้องกันและควบคุมโรค การค้นหาและตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ การรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคโควิด และการจัดการวัคซีน และประเด็นคุณภาพชีวิตและการเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐ ได้แก่ กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและแรงงานนอกระบบ เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้หญิง คนไร้บ้าน กลุ่มชาติพันธุ์และบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน และแรงงานข้ามชาติ

น.ส.ศยามลกล่าวต่อว่า กสม.มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกอบด้วย 1.ต้องเร่งจัดหาวัคซีนสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยคำนึงถึงคุณภาพ ประสิทธิภาพ และควรชี้แจงข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบถึงแผนการบริหารจัดการวัคซีนที่เป็นธรรม 2.ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจในระดับพื้นที่ชุมชนหรือท้องถิ่น เพื่อดูแลและให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงทีในลักษณะครบวงจร โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ครอบคลุมตั้งแต่การค้นหาและช่วยเหลือเชิงรุกผู้ที่ตกหล่นจากการลงทะเบียนวัคซีน การให้ความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ รวมไปถึงการปรับปรุงระบบฐานข้อมูลภาครัฐเกี่ยวกับผู้ด้อยโอกาสให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน

Advertisement

น.ส.ศยามลกล่าวต่ออีกว่า 3.ควรทบทวนและแก้ไขระเบียบกรมกิจการเด็กและเยาวชนว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้า ครอบคลุมเด็กแรกเกิดทุกคน เพื่อเป็นหลักประกันด้านสวัสดิการสำหรับเด็กและช่วยบรรเทาผลกระทบแก่ครอบครัวของเด็กจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 4.มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมในการเปิดสถานศึกษา และสำรวจนักเรียนที่มีความเสี่ยงจะออกจากระบบการศึกษาเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค พร้อมให้การช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน

น.ส.ศยามลกล่าวต่ออีกว่า 5.บูรณาการมาตรการป้องกันและควบคุมโรคกับมาตรการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมให้เชื่อมโยงและเสริมกัน เช่น การจ้างงานระยะสั้นแก่บุคคลในพื้นที่ที่มีการระบาดเพื่อสนับสนุนภารกิจควบคุมโรค การสนับสนุนผู้ประกอบการอาหารในพื้นที่สำหรับการดูแลประชาชนที่ต้องกักตัวในชุมชน 6.จัดให้มีกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฐานราก ให้แก่ชุมชนและกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ และ 7.ทบทวนการบังคับใช้กฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อการบริการด้านสาธารณสุขหรือกิจกรรมที่เอื้อต่อการสร้างรายได้หรือการช่วยเหลือกันของสมาชิกในชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมฐานราก เช่น พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 กฎหมายและนโยบายคนเข้าเมือง หรือการไม่มีสถานะทางกฎหมายของแรงงานข้ามชาติ นโยบายไล่รื้อชุมชนจากที่ดินสาธารณะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image