‘เรืองไกร’ ร้อง ‘ชวน’ ปมรธน. เก่า-ใหม่ ขัดแย้งกันหรือไม่

‘เรืองไกร’ ร้อง ‘ชวน’ ปมรธน.เก่า-ใหม่ ขัดแย้งกันหรือไม่ พร้อมส่งหนังสือถึง ‘บิ๊กตู่’ ให้ใช้อำนาจตาม ม.148 วรรคหนึ่ง (2) ตรวจสอบร่างรธน.

เมื่อวันที่ 23 กันยายน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว. กล่าวว่า ตามที่รัฐสภาลงมติผ่านร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้วนั้น เมื่อมาตรวจสอบพบว่า บทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ อาจมีความขัดแย้งกับบทบัญญัติเดิม บางมาตรา เดิมประธารกรรมาธิการ (กมธ.) เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ซึ่งมีการแก้ไขมาตรา 83 มาตรา 86 และมาตรา 91 นั้น ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตราอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย คือ มาตรา 85 มาตรา 92 มาตรา 94 มาตรา 105 เพื่อให้สอดรับกันด้วย แต่ต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม ประธาน กมธ. ได้ขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับวันที่ 13 สิงหาคม โดยตัดมาตรา 85 มาตรา 92 มาตรา 94 มาตรา 105 คงมีการแก้ไขเฉพาะมาตรา 83 มาตรา 86 และมาตรา 91 เท่านั้น เมื่อรัฐสภาลงมติวาระสามไปแล้ว โดยไม่มีการแก้ไขมาตราอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับลงวันที่ 13 สิงหาคม กรณีจึงมีปัญหาตามมาว่า บทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับลงวันที่ 24 สิงหาคม ยังมีความขัดแย้งกับบทบัญญัติเดิมบางมาตรา เช่น มาตรา 92 มาตรา 93 มาตรา 94 และมาตรา 105

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตส.ว.

กรณีที่บทบัญญัติใหม่ ขัดแย้งกับบทบัญญัติเดิม จะเห็นได้จากการนำความตามบทบัญญัติมาตรา 83 มาตรา 86 และมาตรา 91 ไปแทนที่ของเดิม แล้วจะพบว่า บทบัญญัติทั้งสามมาตรา ไม่สอดรับกับมาตราเดิม คือ มาตรา 92 มาตรา 93 มาตรา 94 และมาตรา 105 ซึ่งเป็นการขัดแย้งกันในเนื้อกฎหมาย ซึ่งเป็นสาระสำคัญ
นายเรืองไกรกล่าวว่า กรณีที่ร่างกฎหมายขัดแย้งกันนั้น เคยมีในสมัย สนช. ปี 2550 มาแล้ว ดังเช่น ตามรายงาน สนช. ครั้งที่ 65 วันที่ 14 พฤศจิกายน 2550 ซึ่งเป็นข้อขัดแย้งที่ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่ยังต้องนำลงมติให้นำกลับมาทบทวน ตามความเห็นของนายวิษณุ เครืองาม และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

นายเรืองไกรกล่าวอีกว่า ดังนั้น กรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่ผ่านวาระสามแล้วนั้น มีข้อความที่เป็นสาระสำคัญขัดแย้งกัน อีกทั้งรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติจึงไม่ควรมีความขัดหรือแย้งกัน เมื่อพบว่า มีความขัดหรือแย้งกัน ก็ควรมีการทบทวนแก้ไข และยังไม่ควรจะมีการส่งให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป

Advertisement

ด้วยเหตุนี้ ตนจึงได้ไปส่งหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ใหม่ กับ เก่า ที่มีความขัดแย้งกัน โดยได้ยื่นหนังสือแล้วเมื่อเช้านี้ ตามเลขรับที่แจ้งมาด้วยแล้ว ทั้งนี้ ได้ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ทางไปรษณีย์ เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามความในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (2) ตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ว่ามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ อีกทางหนึ่งด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image