‘ไตรรงค์’ มาแล้ว เขียนบทความร่ายยาว ปชต.ที่แท้จริงต้องต้านทั้งเผด็จการทหาร-เผด็จการสภา


‘ไตรรงค์’ มาแล้ว เขียนบทความร่ายยาว ปชต.ที่แท้จริงต้องต้านทั้งเผด็จการทหาร-เผด็จการสภา

เมื่อวันที่ 23 กันยายน นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ส.หลายสมัย เขียนบทความเกี่ยวกับการเมือง โดยเฉพาะเรื่องแนวคิดประชาธิปไตยและเผด็จการ ระบุว่า

คอร์รัปชั่นกับระบบการเมืองการปกครอง

1) ถ้าเราถามคนทั่วๆ ไปที่มิใช่นักวิชาการ ว่าทำไมเขาจึงเกลียดเผด็จการ เขาก็จะตอบและอธิบายตามความรู้สึกพื้นๆ อยู่ 2-3 ประการ เช่น

1.1) เขาไม่ชอบก็เพราะ เผด็จการมักจะใช้อำนาจตามอำเภอใจ ไม่ต้องกลัวว่าใครจะตรวจสอบ เพราะเป็นระบบที่พยายามไม่ให้มีการตรวจสอบ และไม่อยากให้มีความเห็นต่าง จะหาทางขยี้ ผู้ขัดขวางอำนาจ โดยไม่สนใจหลักมนุษยธรรม

Advertisement

1.2) เมื่อไม่มีการตรวจสอบ เช่น ไม่มีฝ่ายค้านที่ทำงานได้อย่างจริงจัง ไม่มีองค์กรอิสระที่สามารถมีอิสรภาพในการตรวจสอบได้อย่างแท้จริง พวกเผด็จการก็จะไม่ต้องคำนึงถึงกฎหมายและศีลธรรม จะ #รวมหัวกันใช้อำนาจในการกอบโกยโกงกิน (CORRUPTION) สร้างความร่ำรวยให้กับตนเอง ญาติโกโหติกา และผู้สนับสนุนใกล้ชิดบนความซูบผอมและเจริญตามธรรมชาติไม่ได้ของประเทศ

1.3) พวกเขามักจะหลงตัวเอง ว่าพวกเขาเท่านั้นที่ฉลาดและเก่งกว่าคนอื่น ไม่ต้องไปฟังเสียงใครไม่ต้องไปสนใจในความเห็นต่าง ฟังแต่ความเห็นของพวกประจบสอพลอก็พอแล้ว จึงมักจะตัดสินใจทำอะไรแบบไม่รอบคอบ ลองผิดลองถูก แม้จะเกิดความเสียหายอย่างมหาศาลต่อชาติบ้านเมืองในบางครั้ง พวกเขาก็ไม่สนใจ ทำเป็นไม่เห็นและแกล้งลืม เขาคิดแต่เพียงว่าเงินงบประมาณของแผ่นดินมันไม่ใช่เงินของกู มันไม่ใช่เงินของแม่กู และมันก็ไม่ใช่เงินของเมียกู (เราลองทบทวนดูว่าในอดีตที่ผ่านมา ชาติได้รับความเสียหายไปเท่าใดกับความคิดเช่นนี้ของนักการเมืองและผู้มีอำนาจ)

2) เผด็จการที่มีความประพฤติดังกล่าวทั้ง 3 ข้อ ย่อมเกิดขึ้นได้ทั้งในรูปของเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จของกำลังฝ่ายทหารเช่นที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เผด็จการฮิตเลอร์ในเยอรมัน เผด็จการมุสโสลินีในอิตาลี เผด็จการนายพลปิโนเซ่แห่งประเทศชิลี เผด็จการซูฮาร์โต้แห่งอินโดนีเซีย เคยมีและยังมีเผด็จการเช่นนั้นอยู่ในอีกหลายประเทศทั้งในแอฟริกาและตะวันออกกลาง

ส่วนเผด็จการอีกแบบหนึ่งก็คือเผด็จการพลเรือน (บางที่เรียกว่าเผด็จการรัฐสภา) เพราะเป็นเผด็จการที่ใช้ระบบเลือกตั้งเป็นบันไดไต่เต้าเข้าสู่การมีอำนาจสูงสุด เมื่อได้อำนาจนั้นแล้วก็จะใช้อำนาจนั้นทำลายฝ่ายค้าน สื่อสารมวลชน ทำลายระบบการตรวจสอบความโปร่งใส หลังจากนั้นก็เหลือทางสะดวกให้สามารถทำชั่ว ประพฤติเลวเหมือนพวกเผด็จการทหารที่สมบูรณ์ (บางครั้งทำได้เลวกว่าเสียด้วยซ้ำไป) โลกได้ประสบพบเห็นเผด็จการในรูปแบบนี้มามากมาย เช่น เผด็จการเปรองในอาร์เจนตินา เผด็จการฟูจิมูริในเปรู เผด็จการดิอาซ (DIAZ) และพรรค PRI ตลอด 70 ปี ในเม็กซิโก เผด็จการมาร์คอสในฟิลิปปินส์ เผด็จการชาเวซในเวเนซุเอลา และเผด็จการทักษิณในประเทศไทย (แม้เผด็จการฮิตเลอร์และเผด็จการมุสโสลินีก็อาจจัดให้อยู่ในกลุ่มนี้ได้เช่นกัน)

ผู้เป็นเผด็จการทั้งสองรูปแบบ อาจจะมิใช่คนชั่วแต่กำเนิด หากระบบการเมืองและราชการที่อ่อนแอเปิดโอกาสให้เขาเป็นเช่นนั้น เพราะการมีอำนาจมากโดยขาดการตรวจสอบสามารถ ทำให้คนดีเป็นคนเลวได้เสมอ

3) นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจริงๆ จึงต้อง คัดค้านเผด็จการทั้งสองรูปแบบนั้น โดยไม่มีข้อยกเว้น แม้ว่าในโลกนี้ไม่เคยมีประเทศใดที่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ตามอุดมคติที่แท้จริง แต่ก็ควรมีรูปแบบประชาธิปไตยที่พอเหมาะพอสมกับขนบธรรมเนียมประเพณี นิสัยใจคอของประชาชน และประวัติศาสตร์ของประเทศนั้นๆ จะลอกแบบของใครๆ มาใช้อย่างชนิด 100% ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้ และไม่มีทางจะทำให้เกิดความสงบ โปร่งใส และมีความเจริญทุกด้านอย่างราบรื่นไปได้อย่างแน่นอน

แน่นอนว่า หลักใหญ่ของระบอบประชาธิปไตยอันหนึ่งก็คือผู้มีเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา (ในระบบอังกฤษและฝรั่งเศส) ต้องเป็นผู้มีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ (หลัก majority vule) แต่การใช้อำนาจดังกล่าวต้องมีความโปร่งใส ไม่ขัดหลักนิติธรรม และต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเพียงเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่เคยได้ยินใครด่าประณามนายลี กวนยู ว่าเป็นเผด็จการของสิงคโปร์ เพราะนายลี กวนยู และพรรคพวกไม่เคยโกงกินคอร์รัปชั่น ใครมีความประพฤติที่ไม่ดี จะถูกนายลี กวนยู ใช้อำนาจทางการเมืองปลดออกจากตำแหน่งทันที ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่เป็นประธานาธิบดีของประเทศก็เคยถูกปลดมาแล้ว

แต่ใครจะมาคิดลอกแบบการเมืองการปกครองของสิงคโปร์มาใช้กับประเทศไทยนั้นเป็นการคิดผิดเพราะคนไทยไม่ใช่คนสิงคโปร์ นักการเมืองไทยก็ยังห่างมากกับมาตรฐานของนักการเมืองสิงคโปร์หลายเท่า (รวมทั้งเงินเดือนด้วย)

4) กติกาในการกำหนดรูปแบบการเมืองการปกครองของประเทศ จึงต้องมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง #ของใครก็ของมัน ชาติมหาอำนาจใดๆ จะมาบีบบังคับแทรกแซงเพื่อจะให้ประเทศใดๆ ที่อ่อนแอกว่าใช้ระบบและกติกาการเมืองการปกครองให้เหมือนของตนย่อมเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ไม่ถูกต้องทั้งทางทฤษฎีการเมืองและมารยาทระหว่างประเทศ

ระบบการเมืองการปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีนก็เป็นระบบที่เหมาะสมกับบริบทหลายๆ อย่าง รวมทั้งประวัติศาสตร์ของพวกเขา ประชาธิปไตย (รวมศูนย์) แบบของเขาก็อาจจะดีที่สุดสำหรับประเทศของเขา ใครจะมาพูดว่าประชาธิปไตยแบบอเมริกาดีกว่าของจีน ก็ย่อมไม่ได้และไม่ถูกต้อง คนส่วนใหญ่ของจีนอาจจะพอใจในระบบของเขา แน่นอนว่าก็คงไม่ถึง 100% เช่นกัน มิฉะนั้นจะเกิดมีกบฏเทียนอันเหมิน (ปี พ.ศ.2532) และกบฏประชาธิปไตยในฮ่องกง เมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมาได้อย่างไร

5) การเมืองประชาธิปไตยแบบอเมริกา ถ้ายอมรับความจริง ไม่มีการดัดจริตพูดกันก็เป็นเพียง การเมืองที่ออกแบบให้คนจนเลือกตัวแทนของคนชนชั้นรวยๆ ชึ้นไปจัดตั้งรัฐบาลปกครองประเทศเท่านั้น อังกฤษก็เหมือนกัน ฝรั่งเศสก็เหมือนกัน เยอรมันก็เหมือนกัน ญี่ปุ่นก็เหมือนกัน ฯลฯ ถ้าจะให้ยกเว้นได้บ้างก็คงจะเป็นประเทศในสแกนดิเนเวีย เพราะคนทั้งประเทศมีรายได้ใกล้เคียงกันมาก รัฐบาลจากการเลือกตั้งของพวกเขา จึงจะพออนุโลมได้ว่าเป็นรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง (นั่นแหละคือรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ค่อนข้างจะใกล้เคียงความเป็นจริง แม้จะไม่ 100% ก็ตาม)

6) ประเทศที่มีความแตกต่างในรายได้ระหว่างชนชั้นสูงมากๆ กล่าวคือ มีคนจนจำนวนมาก มีคนรวยจำนวนน้อย ชนชั้นกลางยังมีความอ่อนแอ การเมืองก็จะถูกควบคุมโดยคนในชนชั้นรวย เพราะยังสามารถซื้อเสียงได้จากคนจนในเขตเลือกตั้งต่างๆ ทั่วประเทศ และเมื่อเข้ามาอยู่ในสภาได้แล้ว ก็ยังสามารถซื้อเสียงจากนักการเมืองด้วยกันทั้งจาก ส.ส. ในพรรครัฐบาลและ ส.ส. ในซีกของฝ่ายค้านจึงจะสามารถบริหารประเทศได้อย่างราบรื่นและมีเสถียรภาพ ประธานาธิบดีลินคอล์นแห่งสหรัฐอเมริกา ถ้าไม่ใช้วิธีนี้มีหรือจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยกเลิกการมีทาสได้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 13 ในเดือนธันวาคม ค.ศ.1865 หรือมีอเมริกันคนหน้าไหนจะกล้าเถียงว่าเรื่องนี้ “ไม่จริง” (อย่าลืมว่าผมเรียนเรื่องนี้มาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard) สหรัฐอเมริกานะครับ)

หมายเหตุ คนมันเหนือกว่าสัตว์ก็ตรงราคาเนื้อของมันต่อกิโลกรัมนั้นแพงกว่าเนื้อของสัตว์หลายเท่า ทั้งๆ ที่เนื้อของคนจะใช้กินสักคำก็ยังไม่ได้เลย

7) กติกาในการกำหนดรูปแบบการปกครองประเทศของแต่ละประเทศจึงต้องมีความละเอียดอ่อนให้ #คล้องจองกับบริบทของประเทศนั้นๆ อย่างแท้จริง ทฤษฎีประชาธิปไตยต่างๆ มันล้วนแต่เป็นอุดมคติ ช่วยเป็นเพียงเข็มทิศชี้ทาง แต่ยังไม่เคยเห็นมีประเทศใดในโลกปฏิบัติได้จริงๆ 100% แน่นอนว่าการบ้าประชาธิปไตยย่อมดีกว่าการบ้าเผด็จการ แต่อย่าบ้าทฤษฎีมากจนลืมไปว่าประเทศของกูไม่ได้เหมือนประเทศของคนอื่น ระบบของกูก็ต้องเหมาะกับประเทศของกู ประเทศอื่นก็ไม่ควรมาเสือก เพราะประเทศของกูไม่ใช่ประเทศของมึง พ่อของพวกมึงก็ไม่ใช่พ่อของพวกกู พ่อของพวกกูก็ไม่ใช่พ่อของพวกมึง

พวกบ้าประชาธิปไตยแบบตะวันตกนั้น ยิ่งเคร่งครัดตามทฤษฎีตะวันตกมากขึ้นเพียงใดก็จะยิ่งอยู่ห่างไกลจากบริบทความเป็นจริง ทั้งในความเป็นคนของคนและความเป็นประเทศของประเทศมากยิ่งขึ้นเพียงนั้น คนที่สอนเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคือ ศาสตราจารย์ปิแอร์ เลอกรองค์ (PIERRE LEGRAND) แห่งมหาวิทยาลัยปารีส

ซึ่งเคยได้รับเชิญให้มาสอนเรื่องระบบกฎหมายเปรียบเทียบที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge) ประเทศอังกฤษซึ่งผมได้มีโอกาสเป็นลูกศิษย์ของท่านในปี ค.ศ.2012 (เมื่อผมไปเรียนเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์)

สรุป : นักการเมืองใดที่ปากพร่ำพูดว่า กูรักประชาธิปไตย แต่ไม่มีความกล้าพอที่จะต่อต้านและป้องกันมิให้ชาติต้องมีเผด็จการรูปแบบหนึ่งรูปแบบใดในสองรูปแบบนี้อย่างจริงจังก็ถือว่าเป็นคน สักแต่พูดให้ตนดูดี แต่ก้นบึ้งของหัวใจเต็มไปด้วยความขี้ขลาดและมีแต่ความโลภอยากได้ผลประโยชน์ ลาภ ยศ สรรเสริญ แก่ตนเองเพียงเท่านั้น หาได้มีความจริงใจต่อชาติและอนาคตของบ้านเมืองแต่อย่างใด เพราะต่างก็รู้กันอยู่แล้วว่า เผด็จการทั้งสองรูปแบบเป็นเหตุให้เกิดการโกงกิน คอร์รัปชั่นอย่างมหาศาล การโกงกินฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศไทยอย่างแท้จริง การป้องกันการคอร์รัปชั่นต้องเริ่มจากการป้องกันการเกิดเผด็จการทั้งสองรูปแบบเสียก่อน ถือว่าเป็นความจำเป็นในระดับต้นๆ เลยทีเดียว

ผมขอเรียนว่าความเห็นที่ลงในเฟซบุ๊ก เป็นความเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับพรรค ปชป.แต่อย่างใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image