พปชร.-รัฐบาล จุดเปลี่ยน จุดสิ้นสุด ผลพวง รัฐประหาร

หน้า 3 วิเคราะห์ : พปชร.-รัฐบาล จุดเปลี่ยน จุดสิ้นสุด ผลพวง รัฐประหาร

หน้า 3 วิเคราะห์ : พปชร.-รัฐบาล จุดเปลี่ยน จุดสิ้นสุด ผลพวง รัฐประหาร

ปรากฏการณ์ของพรรคพลังประชารัฐกำลังถูกจับตามอง

จับตามองเพราะพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคแกนนำในฟากฝั่งของพรรคร่วมรัฐบาล

นอกจากนี้พรรคพลังประชารัฐยังมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้ง

พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารเมื่อปี 2557 และต้องการสืบสานอำนาจต่อเนื่อง

Advertisement

จาก คสช. มาสู่การเลือกตั้งปี 2562 และวาดหวังว่าจะอยู่บนตำแหน่งหลังการเลือกตั้งอีก 2 ปีข้างหน้า

สอดคล้องกับคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ก่อนหน้านี้

รัฐบาลจะอยู่ครบเทอม

อย่างไรก็ตาม ความหวังกับความจริงอาจจะไม่สอดคล้องกัน เพราะพรรคพลังประชารัฐในยามนี้ระส่ำหนัก

ข่าวคราวความแตกร้าวพาดพิงไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค

แม้แต่การออกตรวจพื้นที่เมื่อวันที่ 22 กันยายน ก็ปรากฏข่าวการประลองพลัง

ส.ส.กลุ่มใหญ่ร่วมทริปกับ พล.อ.ประวิตร เดินทางไปตรวจพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส.ส.อีก 9 คน ไปต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จังหวัดเพชรบุรี

กลายเป็นประเด็นความขัดแย้งในพรรคอยู่ในขณะนี้

ทั้งหมดสะท้อนอาการไม่มั่นคง

เมื่อพรรคแกนนำรัฐบาลเริ่มสั่นคลอน อนาคตของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ถูกจับตาตามไปด้วย

ย้อนกลับไปดูการรัฐประหารก่อนหน้าการรัฐประหารเมื่อปี 2557

พบว่า การรัฐประหารเมื่อปี 2534 มี พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้า ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ แต่งตั้ง นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็มีการเลือกตั้งในปี 2535

ครานั้นได้จัดตั้งพรรคสามัคคีธรรมขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร แต่ก็เกิดเหตุที่ทำให้ นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรค เป็นนายกฯ ไม่ได้

พล.อ.สุจินดา ต้องมารับตำแหน่งนายกฯ จนเกิดเหตุการณ์พฤษภา 35

สุดท้าย พล.อ.สุจินดาต้องลาออก แล้วพรรคสามัคคีธรรมก็ค่อยๆ สลายไป

ขณะที่การรัฐประหารเมื่อปี 2549 ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้านั้น เมื่อยึดอำนาจจากรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้ตั้งรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

บริหารประเทศเพียง 1 ปี ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้นก็เลือกตั้ง

พล.อ.สุรยุทธ์ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก เช่นเดียวกับ พล.อ.สนธิ ที่ลดบทบาทตัวเองออกไป

ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคพลังประชาชนได้เป็นรัฐบาล

การรัฐประหาร ปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้า ยึดอำนาจจากรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

หลังจากยึดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เอง และเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และประกาศใช้เมื่อปี 2560

มีการตั้งพรรคพลังประชารัฐขึ้นมาเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญมีกติกาที่เอื้อให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ โดยเฉพาะการให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯด้วย

ผลที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ

รวมระยะเวลาจากวันที่ 24 สิงหาคม 2557 มาถึงบัดนี้ก็กว่า 7 ปี

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐได้ทำหน้าที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ มาตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 โดยรัฐบาลจะครบเทอมในปี 2566

พอการเมืองเข้าสู่ปี 2564 ก่อนจะครบเทอม พรรคพลังประชารัฐก็เริ่มโซเซ

นับตั้งแต่การเคลื่อนไหวโละทีมบริหารชุดเดิมนำโดย นายอุตตม สาวนายน แล้วดัน พล.อ.ประวิตร ขึ้นเป็นหัวหน้าแทน มี นายอนุชา นาคาศัย จากกลุ่มสามมิตร เป็นเลขาธิการพรรค

จากนั้นไม่นาน เกิดความเคลื่อนไหวภายในพรรคอีกครั้ง โดยนายอนุชาลาออกจากเลขาธิการพรรค เปิดทางให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ขึ้นเป็นเลขาฯ

การปรับเปลี่ยนแกนนำของพรรคพลังประชารัฐเกี่ยวโยงกับการปรับ ครม.

เมื่อตอนที่เปลี่ยนหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐจาก นายอุตตม เป็น พล.อ.ประวิตร ก็เกิดการปรับ ครม.

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเลขาธิการพรรคจากนายอนุชา เป็น ร.อ.ธรรมนัส นั้น แม้ ครม.จะมีการปรับอีกครั้ง

แต่ ร.อ.ธรรมนัส ยังคงเป็นรัฐมนตรีช่วยเหมือนเดิม

กระทั่ง การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุด เกิดการวัดพลังกันในการโหวต โดยมีข่าวว่า ร.อ.ธรรมนัส เคลื่อนไหวผลักดันให้โหวตคว่ำ พล.อ.ประยุทธ์

แต่สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ พลิกเกมและสามารถได้รับเสียงสนับสนุน

หลังจากนั้น ร.อ.ธรรมนัส ก็ถูกปรับพ้นจาก ครม. โดยที่ พล.อ.ประวิตร ไม่รู้ล่วงหน้า

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อเกิดคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับนายกรัฐมนตรี

ถามถึงความสัมพันธ์ ระหว่าง พล.อ.ประวิตร กับ พล.อ.ประยุทธ์

ถามถึงอนาคตของพรรคการเมืองและรัฐบาลที่เป็นผลพวงจากการรัฐประหาร

เพราะทั้งพรรคพลังประชารัฐและรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กำลังเผชิญหน้ากับกฎธรรมชาติ

ไม่มีสรรพสิ่งใดที่อยู่อย่างอมตะ ทุกสรรพสิ่งต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง

พรรคพลังประชารัฐ และรัฐบาลต้องมีการเปลี่ยนแปลง

ต้องเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรี เพราะมีการปรับรัฐมนตรีช่วยออกไป 2 คน

ต้องเปลี่ยนแปลงเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มิเช่นนั้น พล.อ.ประยุทธ์ คงนอนไม่หลับ เพราะตกอยู่ในอาการหวาดระแวง

เนื่องจากรัฐบาลจำเป็นต้องมีเสียง ส.ส.สนับสนุนกฎหมายในสภา

และพรรคพลังประชารัฐคือฐานเสียงสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์

หาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐไม่เอาด้วย รัฐบาลก็มีโอกาสล้มคว่ำ

ยิ่งในระยะนี้เริ่มมีกระแสข่าวสอบถามความหมายของบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่

นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันเกิน 8 ปีมิได้

แม้รัฐธรรมนูญจะมีบทเฉพาะกาล ที่บัญญัติถึงการทำหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ก่อนจะมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้

แต่ไม่ได้เอ่ยถึงมาตรา 158

เมื่อเป็นเช่นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นนายกฯ มาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ก็จะดำรงตำแหน่งเกินวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ไม่ได้

บทบัญญัตินี้กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์

ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการตั้งพรรคการเมืองใหม่ และการวางตัวบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็เริ่มมีความคึกคัก

เมื่อพรรคพลังประชารัฐกำลังสั่นคลอน และมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาล

ณ ห้วงเวลานี้จึงต้องจับตามอง

จุดเปลี่ยนของพรรคและรัฐบาล ที่เป็นผลพวงจากการรัฐประหาร

หรืออาจจะเป็น “จุดสิ้นสุด” อีกรูปแบบหนึ่งของผลพวงจากการรัฐประหาร หากไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับโลกปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image