#เหตุเกิดที่ประตูแดง แห่รำลึก 45 ปี ‘แขวนคอ 2 ช่างไฟฟ้า’ ย้อนชนวน 6 ตุลา-จัดคลับเฮ้าส์คืนนี้

#เหตุเกิดที่ประตูแดง แห่รำลึก 45 ปี ‘แขวนคอ 2 ช่างไฟฟ้า’ ย้อนชนวน 6 ตุลา-จัดคลับเฮ้าส์คืนนี้

เมื่อวันที่ 24 กันยายน เนื่องในวันครบรอบ 24 กันยายน 2519 นายวิชัย เกษศรีพงศ์ษา และ นายชุมพร ทุมไมย พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นครปฐม สมาชิกแนวร่วมประชาชน ถูกแขวนคอที่ ‘ประตูแดง’ จ.นครปฐม จากการออกติดโปสเตอร์ต่อต้าน จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในชนวนของเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (24 ก.ย.) โลกออนไลน์มีการโพสต์ภาพและข้อความรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก อาทิ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ.2554 ซึ่งล่าสุด ถูกยกเลิกการประกาศ ยกย่องเชิดชูเกียรติ โดย คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ร่วมโพสต์ข้อความ ระบุว่า 24 กันยายน 2519 เมื่อ 45 ปีก่อน เป็นวันที่พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จังหวัดนครปฐม 2 คนได้ถูกกลุ่มคนในขบวน “ขวาพิฆาตซ้าย” นำไปแขนคออย่างทารุณที่ “ประตูแดง”

ด้าน นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา หรือ อู๊ด บิดาของ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ก็ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กว่า 24 กันยายน 2519 เป็นวันสำคัญของประเทศไทย ตำนานประตูแดง ไม่รู้ #ปล่อยเพื่อนเรา

Advertisement

ขณะที่กลุ่ม “ราษฎรเอ้ย” โพสต์ข้อความ เชิญชวนร่วมรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา

“จากเหตุการณ์ 2 ช่างไฟฟ้าถูกฆาตกรรมด้วยการแขวนคอจนเสียชีวิตหน้าประตูแดง ชนวนแห่งประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ของรัฐบาล ถนอม
ร่วมกันรำลึกด้วยการติด #เหตุเกิดที่ประตูแดง อย่างพร้อมเพียงกันวันนี้”

Advertisement

นอกจากนี้ แฟนเพจ “ราษฎรนครปฐม” ได้โพสต์ข้อเขียนเผยแพร่รายละเอียดของเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อบอกเล่าถึงประชาชนในยุคปัจจุบัน ความว่า

อะไรเกิดขึ้นที่ประตูแดง?

ย้อนรอยประวัติศาสตร์ที่มาของคดีฆาตกรรม 2 ศพพนักงานการไฟฟ้า ที่คนนครปฐมไม่รู้ไม่เห็น แต่นักศึกษาทุกสถาบันพร้อมใจกันลุกฮือ จนเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่สะเทือนขวัญที่รู้จักกันในนาม ‘หกตุลา’

45 ปีแห่งประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ณ องค์พระปฐมเจดีย์
เราในนามราษฎรนครปฐม จะไม่ยอมให้เรื่องนี้ถูกลบไปด้วยกาลเวลา

หากคุณยังไม่รู้เรื่องราวเหล่านี้ ไล่อ่านเรื่องราวทั้งหมดทีละรูปไปพร้อมกับเรา
อุทิศแด่ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา และ ชุมพร ทุมไมย
ผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะต้องไม่ตายเปล่า

#หกตุลา #เหตุเกิดที่ประตูแดง #ราษฎรนครปฐม

ประตูรั้วบานนี้ไม่ใช่สีแดง หากแต่โดนแดดทนฝนจนสนิมสีแดงกลืนไปทั้งบาน มันตั้งอยู่บนพื้นที่หมู่ 2 ตำบลพระประโทน มาห้าสิบปี ชาวบ้านแถวนั้นเมื่อก่อนเรียกมันว่าประตูแดง

ถนนทางเข้าที่ตรงมายังประตูนี้ยังไม่เคยถูกลาดยาง เป็นแค่ทางดินระหว่างแปลง สองข้างทางเคยเป็นป่ารก บานประตูขึ้นสนิมเป็นบ้านของนายตำรวจใหญ่ และตกทอดมาเป็นบ้านของลูกชายคือ ลุงต้อ เจ้าของบ้านคนปัจจุบัน

ปัจจุบันประตูบานนี้ถูกจัดเก็บไปโดยพิพิธภัณฑ์หกตุลา ในฐานะหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ คนนครปฐมแทบจะลืมคดีนี้ในเวลาไม่นาน ราวกับว่าเคยชินกับการถูกฆ่าและอุ้มหาย โดยเจ้าพนักงาน หรือผู้มีอิทธิพลใดๆในท้องที่ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองนักเลง

ไม่มีใครเจอผีหรือวิญญาณใดๆ แต่เรื่องจริงเท่าที่เรารู้คือทั้งสองศพบนบานประตู คือ “วิชัย เกษศรีพงศ์ษา” และ “ชุมพร ทุมไมย” ที่ไม่ใช่คนนครปฐมโดยกำเนิด แต่มาทำงานเป็นพนักงานการไฟฟ้าที่นี่ เมื่อ 45 ปีก่อน

เรื่องราวเป็นอย่างไร? ทำไมพนักงานการไฟฟ้าสองคนต้องถูกฆ่าประจาน?
เรื่องนี้ต้องเท้าความไปก่อนหน้านั้นอีกสัก 3 ปี ที่อำเภอบางเลน ไม่ไกลนักจากประตูแดง…

29 เมษายน 2516
อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

เฮลิคอปเตอร์เบลล์ของกองทัพบกลำหนึ่งเกิดอุบัติเหตุตก เรื่องทั้งหมดอาจจะไม่บานปลาย หากว่าเฮลิคอปเตอร์ลำนั้นไม่มีผู้เสียชีวิตหกคน พร้อมซากสัตว์ป่าสงวนมากมายบรรทุกมาด้วย สัตว์ป่านั้นล่ามาจากทุ่งใหญ่นเรศวร บริเวณพื้นที่กาญจนบุรี อุทัยธานี และตาก

โดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีทั้งบรรดาเศรษฐี ศักดินา ดาราชื่อดัง รวมไปถึงพันเอกณรงค์ กิตติขจร ตัวละครสำคัญผู้ซึ่งเป็นลูกชายของจอมพลผู้ทำรัฐประหารขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีนามถนอม กิตติขจร ซึ่งดูเหมือนเหตุการณ์ล่าสัตว์สงวนที่ทุ่งใหญ่นเรศวรก็ดันมาซ้ำรอยเมื่อไม่นานที่ผ่านมา กับเจ้าสัวนามเปรมชัย กับเสือดำที่ตายฟรี งานอดิเรกล่าสัตว์ป่าที่สงวนไว้ส

ประชาชนเริ่มจับตาการล่าสัตว์ป่าสงวนด้วยทรัพย์สินของราชการครั้งนี้ว่า จอมพลถนอม นายกรัฐมนตรี
จะแก้ต่างให้กิจกรรมอดิเรกของลูกชายหัวแก้วหัวแหวนยศพันเอกว่าอย่างไร…

  • จอมพลคนสุดท้าย นามถนอม กิตติขจร

ชายชาติทหารผู้ไต่เต้าจนถึงยศสูงสุดขั้นจอมพล ผู้ทำการปฏิวัติตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงการเลือกตั้ง
ทรราชย์ผู้ต่ออายุราชการให้ตนเอง และยืนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 4 สมัย
ออกมาชี้แจงถึงกรณีเฮลิคอปเตอร์เบลล์ของกองทัพบก ด้วยเหตุผลที่กังขาประชาชนเป็นอย่างมาก

โดยกล่าวว่า ‘เฮลิคอปเตอร์ลำที่ตกนั้น ได้กลับมาจากการปฏิบัติภารกิจลับเกี่ยวกับความมั่นคง’ และร่วมอารักขาความปลอดภัยให้กับ ‘นายพลเน วิน’ ผู้นำพม่า ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยพอดี แสดงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างทหารสองประเทศนี้ เหลือไว้แต่ความข้องใจเกี่ยวกับปฏิบัติการลับที่ว่าแก่ประชาชนชาวไทย

นักเขียนการ์ตูนล้อเลียนชื่อดังนาม “ประยูร จรรยาวงศ์” ได้เขียนภาพซากกระทิงคลุมด้วยธงชาติไทย
ตั้งคำถามถึงวีรกรรมแบบใดถึงมีซากสัตว์เต็มเครื่อง? กลุ่มนักศึกษาได้รวมตัวกันอภิปรายกันในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะได้ข้อสรุปและตีพิมพ์หนังสือ ‘บันทึกลับจากทุ่งใหญ่’ จำนวน 5,000 เล่ม
หน้าปกเป็นใบบัวกำลังปิดซากช้าง ฉบับพิมพ์ครั้งแรกถูกจำหน่ายหมดเกลี้ยงในเวลาอันรวดเร็ว

เรื่องราวบานปลายใหญ่ขึ้น เมื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง 9 คน
ถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย เหตุเพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตีพิมพ์หนังสือเล่มดังกล่าว…

หลังจากเหตุการณ์ไม่ชอบมาพากลทั้งหมด ตั้งแต่ถนอมได้ปฏิวัติ และต่ออายุราชการให้ตนเอง
จอมพลถนอมได้แต่งตั้งคนสนิทนาม “ประภาส จารุเสถียร” ขึ้นเป็นจอมพลอีกคนหนึ่ง ทั้งที่ไม่ได้มีวีรกรรมหรือผลงานใดๆที่น่ายกย่อง เรื่องน่าสนใจคือจอมพลประภาส เป็นบิดาของ ‘สุภาพร จารุเสถียร’ คู่สมรสของ ‘พันเอกณรงค์ กิตติขจร’ นอกจากเป็นเม่ทัพคนสนิท แต่ยังเกี่ยวดองเป็นญาติกันกับจอมพลถนอมทางการแต่งงานเสียด้วย

นักศึกษากว่าแสนคนทั่วประเทศ จึงมาชุมนุมมืดฟ้ามัวดินจนแน่นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อขับไล่
“จอมพลถนอม จอมพลประภาส และพันเอกณรงค์” สามทรราชย์ ให้พ้นจากอำนาจในวันที่ 14 ตุลาคม 2516
ดังที่รู้จักกันในชื่อเล่นว่า ‘14 ตุลา สงครามประชาชน’

เหตุการณ์วันนั้น มีคนสังเกตเห็นเฮลิคอปเตอร์ของพันเอกณรงค์บินเหนือขบวนนักศึกษา
การ์ตูนล้อเลียนหลายแห่งมีการอ้างว่า พันเอกณรงค์เป็นผู้ที่เรียกรถถังและเครื่องบิน
มาเพื่อปราบปรามนักศึกษาด้วยตนเอง

เกิดการปะทะขึ้นระหว่างทหารที่มาล้อมปราบและนักศึกษาที่คาดคะเนได้ราว 400,000 คน
โดยการนำของแกนนำอย่าง ธีรยุทธ บุญมี และเสกสรรค์ ประเสริฐกุล (พ่อของวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล แห่งเถื่อนทราเวล)

ชัยชนะในวันนั้นเป็นของนักศึกษา แต่แลกมากับการสละ 70 กว่าชีวิต และบาดเจ็บอีกกว่า 800 คน อนุสาวรีย์ถูกสร้างขึ้นที่ถนนราชดำเนิน ไม่ไกลนักจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ถนอม ประภาส และณรงค์ถูกขับไล่ออกนอกประเทศ แต่เรื่องราวทั้งหมด ไม่ได้จบอยู่แค่ในบรรทัดนี้…

  • การกลับมาในผ้าเหลืองของจอมพลถนอม

3 ปีถัดมา ในวันที่ 19 กันยายน ของปี 2519

“จอมพลถนอม” ดาวร้ายที่สุดในนาฏกรรมเรื่องนี้ยังไม่ตาย แต่ไปบวชในประเทศสิงคโปร์
ก่อนจะกลับเข้ามาในประเทศไทยโดยเครื่องบิน ในฐานะ ‘สามเณรถนอม’ เพื่อมาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์ อย่างถูกต้องในประเทศไทย สร้างความฮือฮาแก่ประชาชนจนเป็นข่าวลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ

มีข่าวบันทึกไว้ว่า “สมัคร สุนทรเวช” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น เป็นผู้ไปเชิญถนอมกลับเข้าประเทศ ด้วยถ้อยคำใจความว่า ‘อนุญาตให้กลับ’

พิธีการบวชถูกปิดอย่างไม่ชอบมาพากล เนื่องจากกลัวว่าจะมีประชาชนต่อต้าน เพราะต้องการให้ถนอมชดใช้ความผิดตามกฎหมาย และกังวลแผนรัฐประหารอีกครั้ง

กลุ่มกระทิงแดงจำนวนหนึ่งได้ล้อมวัดเอาไว้ เพื่อให้สามเณรถนอมอุปสมบทสำเร็จ ท่ามกลางความงุนงงของคนทั้งประเทศ โดยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ ซึ่งภายหลังได้กลายมาเป็นสมเด็จพระสังฆราช คือสมเด็จพระญาณสังวร สกลมหาสังฆปรินายก

  • 23 กันยายน 2519 กลับมาที่นครปฐม

“วิชัย เกษศรีพงศ์ษา” ชาวบุรีรัมย์และเพื่อนรัก “ชุมพร ทุมไมย” ชาวอุบลราชธานี ช่างไฟฟ้าหนุ่ม 2 คน ที่สนิทสนมกันตั้งแต่เรียนวิทยาลัยเทคนิคโคราช มาทำงานไกลบ้านเกิดที่การไฟฟ้า จังหวัดนครปฐม

เขาทั้ง 2 คนศึกษาการเมืองแนวคิดก้าวหน้า เคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกันตั้งแต่เรียนวิทยาลัยเทคนิค
เมื่อทรราชย์ที่ยังไม่ได้รับผิดชอบตามความผิด กลับได้บวชอย่างถูกทำนองคลองธรรม ทั้งสองคนจึงตัดสินใจออกไปปิดแผ่นป้ายรอบองค์พระปฐมเจดีย์ เพื่อป่าวประกาศต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอมในคราวนี้

นับเป็นการตื่นตัวทางประชาธิปไตยในนครปฐมที่ควรจะเบ่งบาน
ทั้งสองคนกลับถูกรวบตัวโดยตำรวจในคืนวันที่ 23 กันยายน…

เช้าวันที่ 24 กันยายน วิชัย เกษศรีพงศ์ษา และ ชุมพร ทุมไมย
สองช่างไฟฟ้าในจังหวัดนครปฐมถูกแขวนคอเหนือประตูแดง
ในสภาพลิ้นจุกปาก เนื้อตัวมีรอยฟกช้ำจากการซ้อมทรมาน

ไม่มีใครรู้ว่าวิชัยและทุมพรตายจากการถูกรัดคอ หรือซ้อมจนตายก่อนแล้วจึงนำมาแขวนคอที่นี่
แต่ที่แน่ๆ ชาวบ้านในสมัยนั้นรู้กันหมดว่าเป็นฝีมือของตำรวจ 2-3 คน ที่จับกุมทั้งสองคนหลังจากการติดป้ายประท้วงที่องค์พระฯ

ไม่มีใครพบจนรุ่งสาง มีคนพบร่างสองเพื่อนรักในสภาพไร้ลมหายใจ ในพื้นที่บริเวณพระประโทน
สองข้างทางเป็นป่า เหนือประตูรั้วบ้านที่ไม่มีใครอยู่ของนายตำรวจใหญ่ เป็นข่าวดังในหน้าหนึ่งทุกฉบับ แต่สำนวนคดีนี้กลับทุกทิ้งให้เงียบหายไป

ไม่มีใครหน้าไหนออกมาแสดงความรับผิดชอบตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน
ไม่มีตำรวจคนใดให้การสารภาพ พยานที่เห็นปิดปากเงียบ ไม่มีหลักฐาน
ไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ราวกับเรื่องอุ้มฆ่าหรือยิงกันตายในนครปฐม
เป็นเรื่องธรรมดาที่เจอกันทุกวัน และทุกคนก็เงียบเพราะไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้อง

เรื่องนี้อาจจะเกิดครั้งแรกในฐานะคดีการเมือง แต่อาจจะเกินขึ้นจนชินชาแล้วกับอำนาจเกินขอบเขตของมาเฟียในคราบตำรวจ

แม้จะมีการทำลายแผ่นป้ายที่ทั้ง 2 คนไปติดบริเวณองค์พระไปจนไม่เหลือ
ไม่มีใครจำได้ว่าข้อความประท้วงในป้ายมีรายละเอียดเป็นอย่างไร

ทุกคนจำได้แค่ว่าชายช่างไฟฟ้า 2 คน ถูกซ้อมทรมานจนตาย
แค่เพราะติดป้ายต่อต้านเผด็จการ

ทั้ง 2 คนสิ้นลมไกลจากบ้านเกิดหลายร้อยกิโลเมตร
และการตายของทั้งคู่ก็ส่งแรงกระเพื่อมไปยังเหตุการณ์ที่ชื่อ ‘หกตุลา’

  • ภาพของวิชัยและทุมพรเหนือประตูแดง
    สร้างแรงขับเคลื่อนอีกครั้งแก่หมู่นักศึกษา

ทุกคนเห็นเงาของเผด็จการเข้ามามีอำนาจเหนือชีวิตคนที่เรียกร้อง

4 ตุลาคม ชุมนุมนาฏศิลป์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ (ซินแสชื่อดังในปัจจุบัน) ตัดสินใจทำละครล้อเลียน

เนื้อหาส่วนหนึ่งมีการจำลองการแขวนคอสองศพที่ประตูแดง นักศึกษาแต่งตัวเลียนแบบพระถนอม และขอบิณฑบาตอีกสี่ห้าศพ บางส่วนมีการแสดงเป็นศพ และต่อกันเป็นบันไดเพื่อประชดการสอบ เล่นซ้ำแล้วซ้ำอีก

เพราะอยากให้นักศึกษาสนใจเรื่องสังคมเวลานั้นที่สำคัญกว่า

“พวกฉันเป็นนักศึกษาและประชาชนที่ร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์ 14 ตุลา
พวกฉันบาดเจ็บล้มตายเพราะเรียกร้องประชาธิปไตยให้ได้มา
แล้วเธอจะยังไปสอบอีกหรือ
ในเมื่อเหตุการณ์ที่พวกฉันต่อสู้ล้มตายไปได้กลับมาแล้ว” นักศึกษาที่นอนเป็นบันไดพูด

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีในขณะนั้นลงมาประกาศให้หยุดการแสดงละคร
แต่ห้องสอบก็มีนักเรียนเข้าน้อยจนทางมหาลัยยอมยกเลิกสอบในที่สุด

เรื่องราวประท้วงหยุดสอบนั้นแพร่สะพัดไปยังเครือข่ายนักศึกษา ทุกคนตื่นตัวของเรื่องนี้ถึงขีดสุดหลังเหตุการณ์ประตูแดงราวหนึ่งอาทิตย์ และมารวมตัวกันที่ลานโพธิ์เพื่อเตรียมการเคลื่อนไหวที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง

สถานีวิทยุยานเกราะโดยสมัคร สุนทรเวช (และนักเขียนชื่อดังนาม ทมยันตี) กล่าวใส่ร้ายชุมนุมนักศึกษา ว่าเป็นการนำเข้าลัทธิคอมมิวนิสต์บ้าง ซ่องสุมกำลังอาวุธบ้าง

หนังสือพิมพ์ดาวสยามลงรูปการแสดงแขวนคอลอกเลียนการตายของ วิชัย และทุมพร
ถูกนำไปใส่กับข้อความบิดเบือนว่านักศึกษาทำการหมิ่นฯ เพราะนำคนที่หน้าคล้ายมาแขวน ซึ่งคุณอภินันท์ บัวหภักดี
ผู้รับบทหุ่นที่แขวนในรูปก็ไม่ได้มีใบหน้าที่คล้ายคลึงขนาดนั้น เขายังเล่าว่าเป็นแค่สมาชิก ชมรมวอลเลย์บอลที่มาเปลี่ยนตัวแสดง ในระหว่างที่ตัวแสดงหลักพักแค่ไม่ถึงชั่วโมงเท่านั้น

ระหว่างที่สื่ออย่างวิทยุยานเกราะ และหนังสือพิมพ์ดาวสยาม สุมไฟให้เฟคนิวส์
ขบวนการนวพล ขบวนการกระทิงแดง และกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ที่รักและหวงแหนสถาบันจึงหลงเชื่อและลุกมาเข้าร่วมกับทหาร ส่วนนักศึกษาจากหลากหลายสถาบันก็ไหลมารวมตัวกันที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  • 6 ตุลาคม 2519

ระเบิด M79 ถูกยิงเข้ามาในรั้วธรรมศาสตร์ ตั้งแต่เช้ามืด มีคนตายทันที 9 คน
ฝ่ายขวาแนวอย่างกลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดง และกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน
ร่วมมาสมทบกองกำลังตำรวจและทหาร มหาวิทยาลัยถูกล้อมไว้ทุกด้าน
เกิดการกราดยิงด้วยปืนเล็กยาว ปืนกลหนัก ปืนไรเฟิลติดลำกล้องแบบไม่เลือกเป้าหมาย

การปะทะครั้งนี้ต่างจากเหตุการณ์ 14 ตุลามาก
ตรงที่นักศึกษาทุกคนมาด้วยสันติวิธี แต่ธรรมศาสตร์ก็เปลี่ยนเป็นทุ่งสังหารตั้งแต่เช้าตรู่

โชคดีหรือโชคร้ายสักอย่างที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ติดแม่น้ำเจ้าพระยา
ผู้บาดเจ็บบางส่วนถูกนำลงเรือเพื่อข้ามไปยังฝั่งศิริราช บางคนหนีตายกระโดดลงไปในน้ำ

การขนส่งทางเรือกลับถูกตำรวจดักจับ
กลุ่มกระทิงแดงและตำรวจบางส่วนเล็งปืนมาจากอีกฝั่งแม่น้ำ
หมายไม่ให้เหลือใครเล็ดรอดไปไ้ด้ บางคนถูกยิงขณะว่ายน้ำหนี
บางคนที่หลบเข้าไปซ่อนในร้านรวงถูกบังคับให้มอบตัว
มิฉะนั้น จะกราดยิงทั้งร้านโดยไม่เลือก

ศูนย์กลางนิสิตพยายามขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี แต่ถูกปฏิเสธ
โฆษกเวทีประกาศยอมจำนนแล้ว แต่เขากลับถูกยิงกลับมาด้วยอาวุธปืน M16

นักศึกษาร่วมพัน ทั้งชายหญิง ถูกบังคับให้ถอดเสื้อและหมอบลงบนพื้น
กลุ่มนวพล และกลุ่มกระทิงแดงบางส่วน เริ่มผสมโรงปล้นทรัพย์สินส่วนตัวของนักศึกษา
รายงานทางการกล่าวว่ามีคนเสียชีวิต 46 ศพ แต่ ดร.ป๋วย อธิการบดีในขณะนั้น ได้ยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่าร้อย และมูลนิธิร่วมกตัญญูยังกล่าวว่าอาจจะมากถึง 400 ด้วยซ้ำ

บางคนถูกยิงจมหายไปในน้ำ บางคนถูกยิงล้มจากด้านหลัง บางคนถูกซ้อมเสื้อผ้าฉีกขาด
นักศึกษาหญิงบางศพตายในสภาพเปลือย มีร่องรอยของการถูกข่มขืนกระทำชำเรา

เรื่องละครหมิ่น ภายหลังคณะกรรมการสอบสวนสรุปว่าไม่จริง
รวมถึงเรื่องซ่องสุมกำลังก็ไม่เป็นจริงเช่นเดียวกัน

เรื่องเดียวที่จะเอาผิดนักศึกษาเหล่านี้ได้คือ เผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์อันเป็นอันตราย ต่อ ‘ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข’ ทำให้เหตุการณ์นี้ชอบธรรม

6 ตุลา มีอนุสาวรีย์เล็กๆ ที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แต่ยังไม่มีการรับผิดชอบใดๆ จากรัฐเป็นเวลา 45 ปี ตั้งแต่ในอดีตจวบจนปัจจุบัน

ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล นักประวัติศาสตร์การเมืองไทยกล่าวถึง 6 ตุลาว่า
เป็นเหตุการณ์ที่ต่อให้อยากลืมก็เลวร้ายเกินกว่าจะลืมได้ ต่อให้อยากจำก็เจ็บปวดจนจำไม่ลง

  • เรื่องทั้งหมดไม่ได้จบลงอย่างสวยงาม

“ประภาส จารุเสถียร” กลับมาจากไต้หวัน “พระถนอม” ลาสิกขาและอยู่จนเป็นจอมพลคนสุดท้าย
และตายในผืนแผ่นดินไทย ส่วน “พันเอกณรงค์” ลูกชาย ยังมีชีวิตอยู่จนทุกวันนี้

6 ตุลาที่ว่างเปล่า เริ่มมีคนพยายามจะประกอบเศษรอยร้าวขึ้นมาและทำให้มันชัดขึ้นเรื่อยๆ อย่างบันทึกหกตุลา หรือพิพิธภัณฑ์หกตุลา ที่ถอดประตูแดงไปเก็บเอาไว้ และถูกนำไปแสดงเวลาที่หกตุลาถูกกล่าวถึง
(ปีนี้น่าจะด้วยสถานการณ์โควิด หวังว่าเราคงจะได้เห็นประตูแดงในนิรรศการออนไลน์)

แต่เรื่องไม่ควรจะจบแบบนี้
เราไม่อาจเงียบเฉยเพื่อรอให้วันหนึ่งเป็นเรื่องราวของคนใกล้ตัวของเรา

ไม่ใช่มีแค่วิชัย เกษศรีพงศ์ษา และ ชุมพร ทุมไมย
ไม่ใช่มีแค่พี่น้องนักศึกษาในวันที่ 14 ตุลา และ 6 ตุลาที่สูญเสีย

ยังมีอีกหลายคนที่ถูกอุ้มหาย และใช้ความรุนแรงในนามรัฐทั้งตายและไม่ตาย
การเผาผู้ที่ถูกสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ลงถังแดงกว่าสามพันศพที่พัทลุง
เหตุการณ์ความรุนแรงของศาสนาที่แตกต่างอย่างครอบครัวชาวคริสต์ ที่สองคอน หรือพี่น้องมุสลิมที่ตากใบ
การอุ้มหายของเตียง ศิริขันธ์, หะยีสุหลง มาจนบิลลี่ พอละจี และวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์
เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เหตุกราดยิงพี่น้องเสื้อแดงเมื่อปี 53 รวมถึงการจับกุมวัยรุ่นทะลุแก๊ซในวันนี้
และอีกมากมายเกินกว่าที่หน้ากระดาษนี้จะบันทึกได้หมด แต่เราก็อยากให้คุณจำเรื่องของพวกเขา

อย่าปล่อยให้อาชญากรรมเหล่านี้ถูกยกเว้นโดยกฎหมาย
หากเราไม่เรียกร้องความยุติธรรมให้กับพวกเขา

ถ้าวันนี้เราไม่พูดเพื่อพวกเขา วันหนึ่งก็จะไม่เหลือใครพูดเพื่อเรา

หากคิดว่าเรื่องนี้คนนครปฐมควรตื่นตัว โปรดช่วยแชร์ออกไป
หลายเรื่องยังดูคับคล้ายกับเรื่องราวทุกวันนี้
การต่อสู้ของผู้คนในอดีตกับวันนี้เป็นเรื่องเดียวกัน

แด่ทุกชีวิตที่สูญเสีย ด้วยอำนาจที่ริดรอนเสรีภาพ

เมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยวันนี้อาจยังไม่เบ่งบาน
แต่ใครก็หยุดการผลิบานของฤดูใบไม้ผลิไม่ได้
เพราะประเทศนี้ประกอบสร้างขึ้นมาด้วยประชาชนทุกคน

ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ

ข้อมูลทั้งหมดสามารถหาอ่านเพิ่มเติมในรายละเอียดได้อีกมาก
อย่าลืมแฮชแท็ก #เหตุเกิดที่ประตูแดง

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมในประเด็นประตูแดงของเรา
ทั้งวาดภาพประตูแดง สนทนาคลับเฮาส์โดยแขกรับเชิญสุดพิเศษ
และเสื้อยืดโอกาสครบรอบ 45 ปีประตูแดง เร็วๆ นี้
ติดตามการเคลื่อไหวตลอดอาทิตย์ได้ที่ เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ของราษฎรนครปฐม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “กลุ่มราษฎรนครปฐม” ยังเชิญชวนร่วมวงสนทนา ผ่านแอพพลิเคชั่น คลับเฮ้าส์ ในวันนี้ (24 กันยายน) เวลา 20.45 น. เป็นต้นไป

โดยระบุว่า “ครบรอบ 45 ปี คดีประตูแดง”
มาพูดคุยกันว่าเกิดอะไรขึ้น เรื่องจริงเป็นอย่างไร
และเกี่ยวอะไรกับเหตุบ้านการเมืองตอนนี้ มาเจอกันได้ที่นี่คืนนี้!
https://www.clubhouse.com/event/xLrJ0OnL

โดยมีวิทยากรรับเชิญพิเศษร่วมพูดคุย อาทิ

รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ จากภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้คร่ำหวอดในการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย และใช้ชีวิตวัยเด็กในนครปฐม ณ ช่วงเวลา 45 ปีก่อน ในประเด็น ‘ประตูแดงและ 6 ตุลา – การต่อสู้เผด็จการในอดีตและปัจจุบันในบ้านเราเปลี่ยนไปอย่างไร และจะไปต่ออย่างไร’

ภัทรภร ภู่ทอง หรือ อ้อ หนึ่งในคณะทำงานสารคดี ‘สองพี่น้อง’ ในประเด็นการสืบหาเรื่องจริงของรูปคดี บันทึกประตูแดงลงบนความทรงจำ คดีความที่เงียบหายและการตื่นรู้ของคนนครปฐม และแขกรับเชิญอีกมากมายที่ร่วมสนทนา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image