‘มะกัน-จีน’ชิงการนำ ผ่าน‘ออกัส-ซีพีทีพีพี’

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการและเอกชนภายหลังสหรัฐ สหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย บรรลุข้อตกลงทำสนธิสัญญาออกัส (AUKUS) เพื่อสร้างความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ขณะที่จีนยื่นใบสมัครเข้าร่วมเป็นชาติสมาชิกของ “ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (CPTPP)

ชัยชาญ เจริญสุข
ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท.

สําหรับข้อตกลงทางการค้าซีพีทีพีพีที่จีนเพิ่งประกาศเข้าร่วมนั้น ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาก็ยังเป็นสมาชิก โดยยังไม่มีท่าทีอะไรออกมาสำหรับการที่จีนเข้าร่วมด้วย ปัจจุบันประเทศที่เป็นสมาชิกของซีพีทีพีพีก็เป็นประเทศที่ทำการค้าขายกับไทยอยู่แล้ว ดังนั้นในเรื่องของการค้า ด้านโอกาสในการส่งออก เรื่องจีนเข้าร่วมซีพีทีพีพีก็เป็นสิ่งที่ดี

สำหรับการที่ไทยจะเข้าข้อตกลงทางการค้าซีพีทีพีพีหรือไม่ รัฐบาลก็ควรศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าร่วม ดูข้อมูลศึกษาวิจัยจากหลายๆ หน่วยงานให้รอบด้าน ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง สรท. มองว่าการทำข้อตกลง หรือ เขตการค้าเสรี ก็เป็นประโยชน์ต่อการส่งออกอยู่แล้ว แต่ควรทำการศึกษาผลกระทบธุรกิจด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ด้านการเกษตร และด้านสาธารณสุข ก็มีประเด็นหรือคิดว่าได้รับผลกระทบ หากรัฐบาลไทยตัดสินใจเข้าร่วมซีพีทีพีพี รัฐบาลต้องศึกษาและชั่งน้ำหนักถึงผลดีและเสียอย่างรอบคอบ ก่อนตัดสินใจเข้าร่วมหรือไม่

Advertisement

สิ่งแรกอยากให้รัฐบาลสนใจที่การเร่งทำข้อตกลงทางการค้าเสรีระดับภูมิภาค ระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) 10 ประเทศ กับคู่ภาคีอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ หรือที่เรียกว่าอาร์เซ็ป กับความตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (อียู) ก่อน ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวและได้ประโยชน์ชัดเจนกว่าซีพีทีพีพี

รัฐบาลน่าจะเร่งทำความตกลงทางการค้ากับสิ่งที่มันจับต้องได้ อย่างอาร์เซ็ปและอียูก่อน ส่วน ซีพีทีพีพีก็ลองฟังผลดีผลเสีย ผลดีก็มี แต่ผลเสียก็ลองฟังหลายๆ หน่วยงาน ก่อนเข้าร่วม การทำความตกลงการค้าเสรีอาร์เซ็ปนั้น จะเป็นผลดีต่อการค้าและการส่งออกของไทยอย่างมาก เนื่องจากประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศไทยส่วนใหญ่ก็อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน อย่างประเทศเพื่อนบ้านคืออาเซียน ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม ลาว เมียนมา และกัมพูชา และในทวีปเอเชียด้วยกันทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย รวมไปถึงนิวซีแลนด์ ซึ่งการทำความตกลงก็จะทำให้การส่งออกมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น

เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป หรืออียู ที่เป็นอีกตลาดการส่งออกที่สำคัญของไทย ที่มีการส่งออกเติบโตได้ดี โดยตัวเลขการส่งออกไปอียูใน 7 เดือนที่ผ่าน ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2564 ขยายตัวถึง 26% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นถือว่าเป็นโอกาสที่ดี

หากไทยมีความตกลงทางการค้ากับอียูมากขึ้นและชัดเจนขึ้นจะช่วยให้การค้าไทยขยายตัวได้มากกว่าในช่วงปี 2565 เป็นต้นไป

เกรียงไกร เธียรนุกุล
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

กรณีเคลื่อนไหวของประเทศมหาอำนาจในโลก ล่าสุด 2 ประเด็นหลัก คือ ความร่วมมือ AUKUS ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย โดยสหรัฐดึงอังกฤษมาร่วมสร้างเรือดำน้ำนิวเคลียร์พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับออสเตรเลีย จนฝรั่งเศสไม่พอใจถอนทูตออกจากสหรัฐ เพราะฝรั่งเศสดีลกับออสเตรเลียไว้ก่อน แต่ได้รับการแจ้งล่วงหน้าเพียง 2 ชั่วโมง ก่อนลงนามของ 3 ประเทศ โดยความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของสหรัฐครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐที่ต้องการเหนือจีน คู่แข่งสำคัญ ซึ่งพยายามจะสร้างแสนยานุภาพทางทะเลแข่งกับสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้เป็นมุมการเมืองที่เห็นการจับมือกันระหว่างประเทศมหาอำนาจ เป็นโมเดลสำคัญของโลกในเวลานี้ หลังจากที่ผ่านมาสหรัฐภายใต้การนำของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีชูนโยบายอเมริกัน เฟิร์สต์ ไม่สนใจพันธมิตรเดิม โดยเฉพาะท่าทีความไม่สนใจเวทีที่เกี่ยวกับการลดโลกร้อน และยังเปิดประเด็นเทรดวอร์ เกิดสงครามการค้ากับจีน
ที่เป็นมหาอำนาจเช่นกัน

ขณะที่นายไบเดนชูว่าอเมริกันพร้อมร่วมมือโลกร้อน แต่มุมต่อจีนเชื่อว่ายังเหมือนเดิม ดังนั้นเรื่องนี้ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเพราะก่อนนี้จีนเองก็จับมือกับรัสเซียและกลุ่มประเทศทวีปยูเรเซีย ตั้งองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (เอสซีโอ) และยังมีการร่วมกลุ่มอีกหลายกลุ่ม อาทิ จี7 จากประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำโลก ซึ่งเดิมมีรัสเซียแต่หลุดออกไป และกลุ่มนี้ไม่มีจีนร่วมด้วย

ขณะที่ท่าทีของจีนที่ขยับเช่นกัน ล่าสุดสมัครเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) จากปัจจุบันที่มี 11 ประเทศ ซึ่งเดิมความตกลงดังกล่าวมีสหรัฐ ยุคของ นายบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดี ภายใต้ชื่อทีพีพี แต่ต่อมานายทรัมป์ไม่ร่วม จึงเป็นซีพีทีพีพี มีญี่ปุ่นเป็นแกนนำ มีมูลค่าการค้าของกลุ่มประมาณ 30% หรือ 1 ใน 3 ของจีดีพีโลก ถือเป็นตลาดที่ใหญ่ ล่าสุดการสมัครเข้าร่วมของจีน ทำให้ทั้งโลกต้องจับตา เกาะติดความคืบหน้า สุดท้ายจีนอาจไม่ได้เข้าร่วมเพราะต้องได้รับการโหวตจากสมาชิกโดยเฉพาะประเทศไทยที่ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องนี้

ทั้งนี้ท่าทีต่อซีพีทีพีพี ในมุมของ ส.อ.ท.มีจุดยืนชัดเจนคือขอให้เข้าร่วมในขั้นตอนของการตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ ซึ่งเป็นขั้นตอน 3 จากทั้งหมด 10 ขั้นตอน เพื่อให้ไทยมีโอกาสได้พิจารณาผลดีผลเสีย เบื้องต้นมีบางภาคส่วนของไทยกังวลเรื่องประเด็น ยา เวชภัณฑ์ และเรื่องเกษตร ก็อยากให้ร่วมในขั้นการพิจารณาก่อน เพื่อศึกษาผลดีผลเสียในเชิงลึก ทั้งนี้จากท่าทีเวทีการเมืองโลกที่เชื่อมโยงกับการค้าโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้ เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ต้องจับตาครั้งใหญ่ ในมุมของไทยอยากให้จับตาอย่างใกล้ชิด แต่สิ่งหนึ่งที่อยากฝากรัฐบาล คือ การตัดสินใจที่ชัดเจนและอยู่ในกรอบเวลาที่เหมาะสม

อย่างกรณีการเข้าร่วมซีพีทีพีพี หากไทยช้าและอยากเข้าร่วมจะยากขึ้น ต้องเจรจารายประเทศ ใช้เวลา และอาจโดนประเทศสมาชิกสกัดเพราะไปแย่งตลาดประเทศนั้น การเข้าร่วมจะยากขึ้น ต้องเร่งตัดสินใจ เพราะปัจจุบันมีถึง 11 ประเทศแล้ว

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ส่งผลกระทบต่อไทยและอาเซียน ทั้งในเรื่องของการเมืองและเศรษฐกิจ ตอนที่อเมริกาได้เข้ามาร่วมข้อตกลง TPP ก็เพื่อเป็นเครื่องมือในการถ่วงดุลจีน โดยการยกระดับให้มีมาตรฐานสูงขึ้น เช่น สิทธิมนุษยชน สุขอนามัย สภาพแวดล้อม และเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม โดยจีนยังมีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุยกูร์ ละเมิดการใช้แรงงาน รวมไปถึงยังเป็นเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ ที่มีการอุดหนุนการค้า ทำให้จีนไม่สามารถเข้าร่วม TPP ได้

6 ปีที่แล้ว จีนใช้วิธีการทางอ้อม เสนอจัดตั้งกลุ่ม APEC เป็นเขตการค้าเสรี โดยสมาชิก TPP ทั้ง 12 ประเทศ ก็เป็นสมาชิกกลุ่ม APEC ด้วย แต่เมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ถอนตัวออกจากกลุ่ม TPP และได้เปลี่ยนชื่อเป็น CPTPP จีนเลยถือโอกาสสู้กับทางสหรัฐ ต้องการเร่งขยายอิทธิพลไปยัง 12 ประเทศสมาชิก โดยเฉพาะแคนาดา เม็กซิโก ชิลี เปรู ที่จีนยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศเหล่านี้

จีนพร้อมปรับมาตรฐานตัวเองใหม่ เพื่อเข้า CPTPP ให้ได้ เพราะการที่จะเข้าร่วมกลุ่มได้ ต้องให้ประเทศสมาชิกทั้งหมดรับรองเป็นเอกฉันท์ ประเทศไหนไม่เห็นด้วยจะเกิดปัญหา จีนเล็งเห็นการต่อสู้กับอเมริกา จึงได้พยายามขยายอิทธิพลทางการค้า ประกอบไปด้วยเส้นทางสายไหม (Belt and Road Initiative-BRI) ข้อตกลงทวิภาคีกับอาเซียน ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion-GMS) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ใช้กลไกพวกนี้ไปเสริมกับ CPTPP เพื่อไปยังทวีปอเมริกา จีนหวังว่าเมื่อเข้าไปแล้วจะสามารถกีดกันสหรัฐได้ เพราะคนที่เข้ามาทีหลังต้องได้รับอนุมัติจากประเทศสมาชิกเสียก่อน เป้าหมายหลักของจีน คือ 1.ต้องการชิงความได้เปรียบในการที่สหรัฐถอนตัวออก 2.ขยายอิทธิพลต่อเนื่องจากสิ่งที่เคยทำ 3.ถือโอกาสปรับมาตรฐานเพื่อรองรับการแข่งขัน ป้องกันการกีดกันมาตรฐานสินค้า

ต้องยอมรับว่าจีนก็ไม่ได้จะเข้าร่วม CPTPP ได้ง่ายๆ เพราะ 1.ต้องได้รับการอนุมัติจากประเทศสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ซึ่งก็มีประเทศที่เป็นพันธมิตรกับทางสหรัฐ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ที่มีปัญหากับจีนอยู่ในขณะนี้ ที่สำคัญทางประเทศอังกฤษก็กำลังสมัครเข้าร่วม CPTPP เช่นกัน ซึ่งมีโอกาสเข้าได้เร็วกว่าจีนแน่นอน 2.ปัญหาทางเทคนิค เนื่องจากจีนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ มีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน มีการอุดหนุนทางการค้า มีปัญหาเรื่องสุขอนามัยสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ผลกระทบต่อประเทศไทยถ้าจีนสามารถเข้าร่วม CPTPP ได้ 1.จีนเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของไทย ทำให้มาตรฐานสินค้าที่เข้าจีน จะมีมาตรฐานเดียวกับ CPTPP ซึ่งมีมาตรฐานที่สูงกว่า
ข้อตกลงทางการค้าอื่นๆ ก่อนหน้า แม้ว่าจะส่งสินค้าไปแบบไม่มีกำแพงทางภาษี แต่จีนอาจจะไม่รับสินค้าไทยเข้าประเทศ เพราะไม่ได้ใช้มาตรฐาน CPTPP นอกจากนั้นสินค้าที่ส่งไปประเทศอื่น
ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เขาก็ใช้มาตรฐาน CPTPP ด้วยเช่นกัน

สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำ คือ 1.ไทยต้องเข้าร่วม CPTPP เพราะถ้าไทยไม่เข้าร่วม จะต้องเสียเปรียบประเทศอาเซียนอย่าง เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน ประเทศเหล่านี้อยู่ใน CPTPP สามารถส่งสินค้าไปยังแคนาดา เม็กซิโก ชิลี เปรู โดยไม่ต้องเสียภาษี และใช้มาตรฐานสินค้า CPTPP เหมือนกัน นอกจากไทยจะทำข้อตกลง FTA แยกแต่ละประเทศเอง 2.CPTPP จะมีมาตรฐานลดภาวะโลกร้อน มาเกี่ยวข้องมากขึ้น ไทยจะถูกกีดกันทางการค้ามากขึ้น ไทยจะเสียภาษีในอัตราเท่ากับประเทศสมาชิก WTO แต่ประเทศสมาชิก CPTPP เก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า ไทยจะต้องปรับมาตรฐานสินค้าให้เท่ากับ CPTPP ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้เศรษฐกิจประเทศไทยจะสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันไปอย่างมาก เพราะประเทศเวียดนาม นอกจากจะเป็นสมาชิก CPTPP แล้ว เวียดนามยังได้มี FTA กับทางสหภาพยุโรป (อียู) อีกด้วย และอาจจะมี FTA ร่วมกับอังกฤษในเร็วๆ นี้

เป็นสิ่งที่น่าเสียดายที่ไทยไม่ได้เข้า CPTPP ตั้งแต่แรก แต่ถ้าจะมาสมัครในตอนนี้ก็ต้องรอไปอีกหลายปี และต้องได้รับการรับรองจากประเทศสมาชิกอื่นด้วยเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image