อดีต กกต. เชื่อ ปม ‘บิ๊กตู่’ เป็นนายกฯเกิน 8 ปี จะถูกนำมาเป็นประเด็นร้อนในอนาคตแน่

อดีต กกต. เชื่อ ปม “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯเกิน 8 ปี จะถูกนำมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นประเด็นร้อนในอนาคตแน่ มั่นใจมีผลสะเทือนมากกว่ายื่นตีความแน่

เมื่อวันที่ 26 กันยายน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัย รังสิตและอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการหยิบยกรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ที่กำหนดว่านายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ว่า ตนขออ้างความเห็นนายบุญส่ง ชเลธร มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งให้ความเห็นออกมาแยกเป็น 3 กรณี โดยกรณีแรกนับตั้งแต่การเป็นนายกรัฐมนตรี สมัย คสช. ซึ่งวันที่ 23 สิงหาคม 2565 จะครบ 8 ปี กรณีที่สองนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 จะครบ 8 ปี วันที่ 5 เมษายน 2568 และกรณีที่สาม วันที่ได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นนายกรัฐมนตรี ที่มาจากการเลือกตั้ง 9 มิถุนายน 2562 จะครบ 8 ปี วันที่ 8 มิถุนายน 2570 สำหรับความเห็นส่วนตัว กรณีแรกรัฐธรรมนูญไม่น่ามีผลเชิงย้อนหลัง ตามหลักกฎหมายก็ควรจะยึดแนวทางที่สองโดยไม่ได้สนใจว่าจะเป็นนายกฯจากการเลือกตั้งหรือไม่ แต่เป็นนายกฯภายหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้แล้ว ดังนั้น แนวทางที่สองควรเป็นแนวทางที่ถูกต้องตามกฎหมาย

นายสมชัยกล่าวต่อว่า กรณีที่สองหมายความว่าวาระที่ 1 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถอยู่ได้จนครบวาระ ไม่ต้องกังวลว่าปีหน้าจะพ้นหรือไม่พ้นจากตำแหน่ง แต่ว่าจะก่อให้เกิดความเสียเปรียบว่าชื่อของพล.อ.ประยุทธ์ จะไม่สามารถเป็นจุดขายในการหาเสียงครั้งต่อไปได้ เพราะถ้าจะมีการเลือกตั้งปี 2566 เท่ากับว่าจะเหลือการดำรงตำแหน่งได้แค่ครึ่งวาระเท่านั้น จะกลายเป็นจุดอ่อนของการหาเสียง ซึ่งพรรคการเมืองก็อาจไม่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ได้ ส่วนมุมที่ฝ่ายการเมืองมองอาจจะมองในกรณีแรก คือ ต้องนับย้อนกลับไปสมัยที่เป็น คสช.ด้วย ซึ่งถ้าตนมองในเชิงกฎหมายไม่ได้เป็นความรับผิดชอบที่จะต้องรับผิดชอบในช่วงดังกล่าว เนื่องจากรัฐธรรมนูญยังไม่มีการประกาศใช้ แต่ถ้าหากมองในเชิงความสง่างาม สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องการให้ใครอยู่ในตำแหน่งนานเกินไป พล.อ.ประยุทธ์ ต้องคิดเองว่าจะใช้สิทธิตามกฎหมายหรือจะมองที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

“ถ้าเขามองตามเจตนารมณ์ของกฎหมายสามารถจะดึงตัวเองออกจากสถานการณ์ด้วยการลาออกจากตำแหน่ง แต่ถ้าใช้สิ่งที่เป็นโอกาสทางกฏหมาย ก็อาจกลายเป็นประเด็นในการโจมตีได้ว่าเขาอาศัยช่องว่างของกฎหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ผมเชื่อว่าประเด็นนี้จะเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองที่เกิดขึ้นในอนาคตช่วงจังหวะที่ใกล้กับการครบวาระ 8 ปีที่รวมสมัย คสช. ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ต้องตัดสินใจว่าจะเลือกเส้นทางไหน” อดีต กกต.กล่าว

เมื่อถามว่า เพื่อไม่ให้เกิดข้อสงสัยควรจะต้องมีการยื่นตีความหรือไม่ นายสมชัยกล่าวว่า ไม่ทราบว่าใครจะเป็นฝ่ายยื่นตีความ แต่เข้าใจว่ารัฐบาลคงไม่ยื่นตีความเพราะไม่เป็นประเด็นความเดือดร้อนของเขา เป็นเพียงความสง่างามหรือไม่สง่างามเท่านั้นเอง ส่วนฝ่ายค้าน หรือฝ่ายที่หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมา ตนก็ไม่คิดว่าเขาจะยื่นตีความเช่นกัน แต่เข้าใจว่าน่าจะใช้เรื่องนี้เป็นประเด็นในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งจะมีผลสะเทือนมากกว่าการยื่นตีความด้วยซ้ำ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image