กมธ.ที่ดินฯ เปิดเวที จ.สกลนคร เคลียร์ปัญหาข้อพิพาทอลเวงชาวบ้าน-รัฐ-ระหว่างหน่วยงาน

กมธ.ที่ดินฯ เปิดเวที จ.สกลนคร เคลียร์ปัญหาข้อพิพาทอลเวงชาวบ้าน-รัฐ-ระหว่างหน่วยงาน

วันที่ 26 กันยายน 2564 คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่เปิดเวทีเชิญหน่วยงานราชการต่างๆ และประชาชนหารือชี้แจงแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่ดิน ในพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก บ.ภูตะคาม ต.ท่าศิละ อ.ส่องดาว จ.สกลนคร

นายจักรวรรดิ เลิศสงคราม ผู้ใหญ่บ้าน กล่าวขอบคุณคณะกรรมาธิการและส่วนราชการต่างๆ ที่มาร่วมเปิดประชุมสัมมนาเพื่อรับทราบสภาพปัญหาการใช้ประโยชน์ในที่ดินของพี่น้องในพื้นที่ป่า บริเวณ 4 ตำบลใกล้เคียง

ทางด้านประธาน กมธ.ที่ดินฯ ส.ส.อภิชาติ ศิริสุนทร เปิดเผยว่า กมธ. ได้รับเรื่องราวร้องเรียนให้ตรวจสอบช่วยแก้ไขปัญหาที่ดินทั่วประเทศจำนวนมาก ทำให้ กมธ. แต่ละท่านต้องแบ่งกันไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศ แต่ตนในฐานะประธาน กมธ.เลือกมาในวันนี้เพราะตนเองเป็นคนอีสานและรับทราบปัญหาในพื้นที่นี้ดีอยู่แล้ว

นายอุทัย จันทร์ใส ตัวแทนราษฎรหมู่ 2 บ้านภูตะคาม ต.ท่าศิลา อ.ส่องดาว จ.สกลนคร ตำบลท่าศิลามีประชากร 13 หมู่บ้าน รวมประชากรประมาณ 1 หมื่นคน มีพื้นที่ทั้งตำบล 30,264 ไร่ แต่มีปัญหา 1.ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอยู่ในเขตป่าดงพันนา ป่าดงพระเจ้า และอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก 2.ไม่มีเอกสารถือครองเป็นทางการที่สามารถรับรองความมั่นคงในที่ดิน 3.ไม่มีสิทธิในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล 4.ราษฎรไม่เข้าใจความชัดเจนในข้อพิพาททางกฎหมายที่ดิน 5.ราษฎรในพื้นที่กังวลว่าการนำเครื่องจักรไปขุดสระ ไถไร่ ปรับที่นา จะมีการจับกุมดำเนินคดีหรือไม่

Advertisement

ส่วนข้อเสนอ คือ 1.สำรวจและแบ่งให้ชัดเจน เขตป่าอุทยานแห่งชาติป่าดงพันนา ดงพระเจ้า อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก ในเขต ต.ท่าศิลา 2.ออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินให้ประชาชนมีสิทธิตามกฎหมาย 3.อนุญาตให้นำเครื่องจักกรการเกษตรเข้าไปทำงานในพื้นที่ โดยชาวบ้านจะได้ไม่ต้องหวาดระแวงการดำเนินคดีจากรัฐ 4.ให้สามารถออกโฉนดที่ดินได้ตามกฎหมายที่ดิน 5.จัดตั้งคณะกรรมการระดับพื้นที่ ให้ผู้นำชุมชนและตัวแทนผู้เดือดร้อนเข้าร่วม เพื่อมีบทบาทหน้าที่รับรองและกำหนดมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาความพึงพอใจทั้งสองฝ่าย ระหว่างรัฐกับประชาชน

ส่วนนางนกเอี้ยง หนูสี ตัวแทนชาวบ้าน หมู่ 2 ต.วัฒนา ชาวบ้าน 23 ครอบครัว 109 ชีวิต ที่อยู่ในที่ดิน สปก. ที่ทับซ้อนกับกรมป่าไม้ที่ปัจจุบันมีการร้องเรียนว่ามีการออกเอกสาร สปก. โดยมิชอบหรือไม่ โดยชาวบ้านถูกนายทุนฟ้องร้องขับไล่ที่ จนถึงกับต้องออกหมายจับหลายรายแล้ว โดยชาวบ้านร้องเรียนไปหลายที่แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข “เราจะให้เขาไปอยู่ที่ไหน อย่างไร”

ทางด้านรองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ยอมรับว่าที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และที่ดิน สปก. นั้น ‘อลเวง’ และปัญหาข้อพิพาทที่ดินเหล่านี้นั้น ไม่สามารถใช้เพียงกลไกในพิ้นที่จังหวัดแก้ไขได้ แต่จะต้องเป็นการแก้ข้อกฎหมายในภาพใหญ่

ทางด้านหัวหน้าอุทยานภูผาเหล็ก กระทรวงทรัพย์ฯ ยอมรับว่าการประกาศเขตที่ดินของอุทยานแห่งชาตินั้นกระทำโดยการออกพระราชกฤษฎีกา อาจจะมีความยากลำบากในการแก้ไขกฎหมายบ้าง แต่ยืนยันว่าจะไม่ดำเนินคดีกับชาวบ้านที่นำเครื่องจักรเข้าไปทำการเกษตร ส่วนใครที่รังวัดแล้วก็จะมีสิทธิ ไม่ถูกดำเนินคดี และจากนโยบาย กทช 2562 ที่ทำให้สามารถเข้าร่วมโครงการต่างๆ ได้ ฯลฯ

ดังนั้น ประเด็นของเวทีเสวนาในงานวันนี้คือให้หน่วยงานราชการกับชาวบ้านมาเคลียร์ข้อเท็จจริงกัน และสัญญากันว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าวจตรงกันและร่วมแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ภายใต้การช่วยไกล่เกลี่ยจากประธาน กมธ.

ทางด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะ ส.ส. และอดีตประธาน กมธ.ที่ดินฯ กล่าวว่าที่ดินคือชีวิต ที่ดินคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่ดินคือกระดุมเม็ดแรก และถ้านโยบายไม่ชัด ระดับปฏิบัติก็ปวดหัว ดังนั้นจะใช้อำนาจใช้กฎหมายอย่างเดียวก็คงไม่ได้ ต้องเอาน้ำเย็นเข้าลูบ

ที่ดินเหมือนขนมชั้น ชั้นแรกคือ รัฐซ้อนรัฐ แค่ชั้นแรกรัฐก็ทับกันแล้วระหว่างเขตอุทยานแห่งชาติกับ สปก.

ชั้นที่สอง คือ ปัญหาการใช้แผนที่คนละฉบับกัน ประเทศไทยมีที่ดินทั้งหมด 320 ล้านไร่ แต่ถ้าเอาแผนที่ของหน่วยงานราชการต่างๆ มารวมกันกันกลายเป็นที่ดินรวมกว่า 400 ล้านไร่

ชั้นที่สาม คือรัฐซ้อนกับประชาชน ประชาชนต้องถามตัวเองว่าถ้าเกิดปัญหาที่ดินจะต้องไปติดต่อหน่วยงานไหนบ้าง หน่วยงานไหนที่มีปัญหากับเราบ้าง

“ปัญหาที่ดินในประเทศไทยแก้ได้ แต่พอมาอยู่ที่ปลายทางอย่างไรที่คุยกันตอนนี้มันแก้ยาก ถ้าเราไม่แก้ที่ mindset ที่เรายังใช้ความคิดของเมื่อร้อยปีที่แล้วที่ต้องแยกคนออกจากป่า ก็จะมีแต่การดำเนินคดี จับคนเข้าคุก แต่ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว เราสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ ดังนั้นต้องเปลี่ยนวิธีคิดการบริหารจัดการ ที่จะสามารถทำให้ป่าไม้เจริญงอกงาม และประชาชนก็สามารถอยู่ดีกินดีได้เช่นเดียวกัน จึงอยากฝากประชาชนและหน่วยงานราชการว่าเราต้องถอยคนละก้าวและมองมุมใหม่ ตอนนี้เข้าใจว่ารัฐบาลปัจจุบันมีแนวทางจัดการที่ดินเป็นอย่างไร แต่วันนี้ผมก็อยากฝากความคิดไว้ว่าในอนาคตถ้ามีการเปลี่ยนรัฐบาล มีรัฐบาลที่มีความคิดก้าวหน้ามากกว่าสามารถมาบริหารจัดการความเป็นธรรมของการจัดการที่ดินได้ ก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนแนวทางในอนาคตที่ดีกว่านี้” พิธากล่าวปิดท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image