‘ครูจุ๊ย’ ซัด ศธ.ไล่เซ็นเซอร์หนังสือ ถามรัฐมีอำนาจ ‘ล้างสมอง’ มากกว่าเอกชนไม่ใช่หรือ

‘ครูจุ๊ย’ ซัด ศธ.ไล่เซ็นเซอร์หนังสือ ถามรัฐมีอำนาจ ‘ล้างสมอง’ มากกว่าเอกชนไม่ใช่หรือ

เมื่อวันที่ 28 กันยายน น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า เผยแพร่บทความเรื่อง “หน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ คือไล่เซ็นเซอร์หนังสือเหรอ?” โดยระบุว่า ปัญหาอีกเรื่องของการศึกษาไทย คือ อำนาจหน้าที่ล้นฟ้าและความรับผิดรับชอบ (accountability) มีต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เรียกว่าแทบจะหาไม่เจอ ยกตัวอย่างกรณีหนังสือเรียน และหนังสือที่ใช้ในห้องเรียนจะชัดเจนมาก หนังสือเรียนตามรายการหนังสือของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นหนังสือเรียนที่เบิกเงินอุดหนุนได้นั้น ต้องขอให้กระทรวงศึกษาธิการตรวจสอบและนำเข้ารายการหนังสือก่อนใช้เงินของรัฐซื้อได้ ส่วนนี้งานของกระทรวงคือการดูแลตรวจสอบคุณภาพ แต่สภาพที่เห็นหนังสือสังคม ประวัติศาสตร์ มีทั้งข้อมูลที่ผิดจากข้อเท็จจริง การให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว การสร้างอคติต่อคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม ส่วนนี้ไม่เห็นมีการจัดการใดๆ กับสำนักพิมพ์ นี่ยังไม่นับรวมคุณภาพหนังสือที่ต่ำกว่ามาตรฐานมากมาย เช่น การขาดเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญของโลก และความเชื่อมโยงในมิติต่างๆ กับประเทศไทย

“นอกจากจะไม่เป็นสากลแล้วยังสร้างความแตกแยกในสังคม เรื่องนี้ขอให้กระทรวงศึกษาธิการชี้แจงหน่อยว่า หากประชาชนพบเนื้อหาในหนังสือเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้ใช้ในโรงเรียน แต่ไม่ได้คุณภาพจะให้ไปร้องเรียนที่ใคร และใครเป็นผู้รับผิดชอบ ขอความชัดเจนด้วย” น.ส.กุลธิดากล่าว

น.ส.กุลธิดากล่าวต่อว่า ส่วนหนังสืออื่นๆ ของเอกชนที่ผลิตกันขึ้นมาเป็นไปตามหลักการพื้นฐานตามสิทธิพลเมืองคือประชาชนผลิตและใช้ก็เป็นสิทธิของเขาในการเลือกอ่าน เลือกใช้ กรอบการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการจะมีอำนาจเข้ามาตรวจสอบเมื่อหนังสือถูกใช้ในโรงเรียน และแน่นอนว่าโรงเรียนที่ใช้ก็อาจต้องรับผลที่ตามมา เช่น ต้องยอมรับการตรวจสอบต่างๆ และการเพิกถอนใบอนุญาต หากพบว่ามีการใช้แบบเรียนที่ผิดกฎหมายเป็นหนังสือต้องห้าม ซึ่งต้องมีการออกคำสั่งอย่างเป็นทางการ เช่น คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 43 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2519 ทั้งนี้ รายการหนังสือต้องห้ามนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ไม่จบสิ้นด้วยซ้ำ

น.ส.กุลธิดากล่าวว่า หากพิจารณาแล้ว กรณีเหล่านี้ถ้าใช้หลักการเฉพาะบทบาทและหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการโดยไม่มีกรอบอื่นประกอบ ไม่ว่าจะเป็นกรอบระเบียบวิธีการใช้อำนาจของตนเอง หรือหลักสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐาน จึงเข้าใจผิดได้ว่าตนมีอำนาจจึงล้นฟ้า สามารถสั่งให้ตรวจสอบหนังสืออะไร อย่างไรก็ได้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะภาครัฐที่พึ่งพาการตีความกฎหมายที่มีลักษณะกว้างขวาง ตามการตีความของผู้ใช้ รัฐจึงใช้อำนาจนี้เป็นเครื่องมือที่จะใช้แปะป้ายชี้นิ้วว่า อะไร หรือใคร เป็นภัยต่อความมั่นคง หรือหนังสือแบบไหนที่ผิด (ตามการตีความของตน) โดยปราศจากความรับผิดรับชอบ ซึ่งเป็นอันตรายต่อการเติบโตทางความคิดของประชาชน เช่น เพราะถือว่าเป็นการปิดกั้นทางความคิดประเภทหนึ่ง

Advertisement

จากการให้ข่าวให้ข้อมูลเช่นนี้เองทั้งที่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนก็ชวนให้คนอ่านเข้าใจว่าหนังสือเหล่านี้มีเจตนาดังที่กล่าวไว้ และคำถามต่อมาคือ หากมีการตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีได้เนื้อหาเช่นนั้นจริง กระทรวงศึกษาธิการจะออกมารับผิดชอบอย่างไรต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นไปแล้วต่อหนังสือ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเหล่านี้ เขียนมาถึงตรงนี้ไม่แน่ใจว่า การล้างสมอง แบบที่รัฐกังวล ใครเป็นผู้มีอำนาจทำมากกว่ากันแน่ ประชาชน หรือรัฐ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image