ปมเก้าอี้นายกฯ 8 ปียังวุ่น อดีตศาล รธน.แนะ กกต.ยื่นตีความ ครม.มอบ ‘บิ๊กป้อม’ คุม 4 กรม ก.เกษตรฯ งานเก่า ‘ธรรมนัส’

ปมเก้าอี้นายกฯ 8 ปียังวุ่น อดีตศาล รธน.แนะ กกต.ยื่นตีความ ครม.มอบ ‘บิ๊กป้อม’ คุม 4 กรม ก.เกษตรฯ งานเก่า ‘ธรรมนัส’

เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (คณะ) ทั้งนี้ มีรายงานว่าที่ประชุม ครม.มีมติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกฯ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) ให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กำกับการบริหารราชการแทนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เฉพาะ 1.กรมพัฒนาที่ดิน 2.กรมฝนหลวงและการบินเกษตร 3.สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และ 4.องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แต่เดิมทั้ง 4 กรมนั้น อยู่ในความรับผิดชอบของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกระทรวงเกษตรฯ อยู่ในอำนาจกำกับดูแลของนายจุรินทร์ รองนายกฯ และเมื่อมีมติ ครม.ดังกล่าวส่งผลให้งานของ 4 กรมนี้ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯพิจารณากลั่นกรองแล้วจะเสนอเรื่องเข้า ครม. ต้องเสนอผ่าน พล.อ.ประวิตร รองนายกฯ แทน

นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีการหยิบยกประเด็นรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ที่กำหนดว่านายกฯจะดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีมิได้ ว่า ประเด็นนี้จำเป็นต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะว่ากฎหมายเขียนไม่ชัดเจน รัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ ระบุแต่เพียงว่านายกฯจะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 8 ปี เมื่อบัญญัติไว้เท่านี้ จึงเปิดโอกาสให้คนเข้าใจไปได้หลายแนวทาง เท่าที่ปรากฏเป็นข่าวมีความเห็นถึง 3 แนวทางด้วยกัน ดังนั้นเห็นว่าวิธีที่ดีที่สุดคือ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 คือ กกต.ต้องเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มาช่วยทำให้เรื่องโปร่งใส

Advertisement

ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวเรื่องเดียวกันว่า การนับระยะเวลาในดำรงตำแหน่งนายกฯ ควรต้องถือการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นระยะเวลาเริ่มต้น และไม่อาจจะถือเอาระยะเวลาเริ่มต้นที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มานับได้ เพราะจะเท่ากับเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลัง อย่างไรก็ตาม ควรไปยื่นให้ศาลรัฐธรรรมนูญวินิจฉัยก่อนที่จะเกิดปัญหาจะดีกว่า คือยื่นก่อนเดือนสิงหาคม 2565

นายเจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย และอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า หากฝ่ายการเมืองจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยตามมาตรา 158 จะต้องพ่วงมาตรา 264 ที่บัญญัติให้ ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็น ครม.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้จนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ไปด้วย สำหรับตนแล้วจะนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งแต่ปี 2557 ส่วนคนที่บอกว่านับตั้งแต่ปี 2560 ที่รัฐธรรมนูญบังคับใช้ ถามว่าทำไมถึงนับปี 2560 แล้วคนที่บอกว่านับหลังการเลือกตั้งปี 2562 ถามว่าทำไมจึงนับหลังการเลือกตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 264 บอกชัดเจน ดังนั้น คุณต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image