ซัดเผด็จการผ่านโน้ตเพลง เปิดเวที ‘เสียงผู้ถูกกดขี่’ – ถนอมชี้ ‘ความเป็นอื่น’ คือที่มา 6 ตุลา

ซัดเผด็จการผ่านโน้ตเพลง เปิดเวที ‘เสียงผู้ถูกกดขี่’ – ถนอมชี้ ‘ความเป็นอื่น’ คือที่มา 6 ตุลา

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม กลุ่มศิลปะนานาพันธุ์ และแนวร่วม จัดกิจกรรม “เสียงจากผู้ถูกกดขี่… กำปั้นสู่สามัญชน จากบนถนนสู่เวที” โดยมีศิลปินร่วมวงเสวนา ไปจนถึงการแสดงดนตรี จากศิลปินผู้ถูกกดขี่ในระบบที่กดทับจากปีศาจแห่งกาลเวลา ตั้งแต่เวลา 15.00- 20.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกิจกรรมวันนี้ มีผู้เข้าร่วมคับคั่ง อาทิ นายถนอม ชาภักดี อาจารย์และนักวิจารณ์ศิลปะชื่อดัง, Jacoboi ศิลปินแร็พต้านเผด็จการ, Ananda Duet, นายโชคดี ร่มพฤกษ์ หรือ “อาเล็ก” กลุ่มศิลปินเพลงเพื่อราษฎร, น.ส.กุลจิรา ทองคง หรือ เอ้ เดอะวอยซ์, นายชูเวช เดชดิษฐรักษ์ นักร้องนำวงสามัญชน, นายณัฐพงษ์ ภูแก้ว หรือ “แก้วใส” นักร้อง และมือกีตาร์วงสามัญชน, นายธีระวัฒน์ มุลวิไล หรือ คาเงะ ศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ผู้ก่อตั้งคณะละคร B-Floor, วงกำปั้น และ นายไชยอมร แก้ววิบูลพันธุ์ หรือ แอมมี่ The Bottom Blues

โดยเวลา 15.17 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการเปิดคลิปเสียงสนทนา ของมารดารายหนึ่งผ่านทางโทรศัพท์ จากนั้น บิดารายหนึ่งกล่าวถ้อยความว่า ต้องการลูกกลับมา เหนื่อยมาก เหนื่อยจริงๆ ตายก็ตายไม่ได้ เบื่อมาก
“คนเราถ้าไม่มีความรัก ไม่มีอะไรต่อกัน มันเบื่อหน่าย เข้าใจไหม”

ต่อมา มีการฉายภาพธรรมชาติ แสงแดด และเสียงน้ำไหล สะท้อนถึงการเคลื่อนไหวของเวลา โดยมีเสียงสนทนาของชายและหญิงหลายรายเป็นฉากหลัง บอกเล่าถึงความฝันและความตาย อาทิ ความฝันคืออยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้ทำอาชีพที่อยากทำ ไปจนถึง ‘ไม่มีความฝัน’ อยู่ไปเรื่อยๆ วันหนึ่งคิดจะฆ่าตัวตายด้วยการเดินลงแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะด้วยความจน จึงกลัวอดตาย

Advertisement

“ถ้าฉีดวัคซีนเป็นอัมพาตขึ้นมา จะทำให้รู้สึกไม่มั่นคง (ด้านการเงิน) ถ้าป่วยหนักถึงขั้นไมไหว ก็อาจจะฆ่าตัวตายเหมือนกัน” ชายรายหนึ่งกล่าว

ต่อด้วย การบอกเล่าถึงความรู้สึกของคำว่า “บ้าน” อาทิ “น่าเศร้า ซอยที่รู้จัก กลับไม่รู้จักอีกแล้ว”

“บ้านไม่ใช่แค่ที่ซุกหัวนอน แต่ยืนยันถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย และรับรองว่า เราจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี กลับไปแล้วไม่มีความกังวล เราไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเจ้าของบ้าน เราเป็นเพียงผู้อยู่อาศัยในบ้าน” หญิงรายหนึ่งกล่าว

Advertisement

ต่อมา เวลา 15.50 น. เปิดเวทีดนตรี โดย “เสกสรรค์ อาการส” หรือ เปียโน รองอันดับ 2 มิสมิโมซ่า ควีน ไทยแลนด์ 2021 เวทีการประกวดผู้หญิงข้ามเพศ กล่าวในฐานะพิธีกรว่า การต่อสู้ในวันนี้มีหลายรูปแบบ วันหนึ่งเราจะต้องชนะอย่างแน่นอน ทุกเพลงในลิสต์วันนี้มีความหมาย และผลักดันการต่อสู้ มีหลายงานศิลปะที่ตนพยายามทำความเข้าใจว่าต้องการสื่ออะไร และเมื่อเข้าใจ ก็เหมือนกับการที่เราได้อ่านหนังสือจบทั้งเล่ม

“ประชาธิปไตย ความเท่าเทียม เกิดได้จากการต่อสู้ร่วมกัน เรามาต่อสู้เพื่อลบล้างความกลัวของคนรุ่นเก่า ที่กลัวความเปลี่ยนแปลง 45 ปีผ่านมายังมีเหตการณ์เดิมๆ เกิดขึ้นอีก ความเจ็บปวด สูญเสีย ยังไม่มีการพัฒนา ความรุนแรงยังอยู่จุดเดิม การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่ควรมีความสูญเสียมากขนาดนี้” เปียโนกล่าว

จากนั้น นายโชคดี หรือ อาเล็ก บรรเลงบทเพลงเนื้อหาต้านเผด็จการหลายบทเพลง

นายโชคดีกล่าวว่า มีความภูมิใจอย่างมากที่เด็กรุ่นใหม่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมือง บางเรื่องราวที่น้องๆ อ่าน ตนยังไม่รู้ด้วยซ้ำ ตนศึกษามาเป็น 10 ปี ไม่ว่าประวัติศาสตร์โลกของการต่อสู้ทางการเมือง ในหลายประเทศ เจอเด็กสมัยนี้ต้องยอม เขาศึกษาจริง รู้จริง

นอกจากนี้ นายโชคดียังบรรเลงบทเพลงเนื้อหากล่าวถึง “ปีศาจ” ความว่า ปีศาจยังคงเดิม มืดบอดทางปัญญา ประชาชนผู้ข้นแค้น ได้เศษเนื้อตอบแทน เพราะเชื่อเรื่องบุญวาสนาส่ง

“ปิดหู ปิดตา ปิดกั้นปัญญาผู้คน ชุบตัว ชูตน เหนือสิ่งอื่นใด
กฎเกณฑ์กาลเวลา เปิดหูเปิดตา ผู้คนไหลบ่า สู่หนทางเสรี เท่าเทียม
ยกตัวขึ้นเถิด ประชาชนผู้ประเสริฐ มีเสรีทางความคิด พินิจจากมุมมองสูง”

นายโชคดีกล่าวว่า เพลงที่ร้องเนื้อหาสื่อได้เท่าที่สื่อได้ เพราะถ้ารู้ทุกอย่าง พูดทุกอย่าง ก็ติดคุก ตาสว่าง แต่ปากไม่สว่าง ก็ย่อมยาก

นายโชคดีกล่าวในฐานะนักดนตรีเพื่อราษฎรว่า ต้องการสะท้อนความจริง และต้องลงมือทำทันที
ปัญหาที่เราเจอตอนนี้ต้องใช้ยาแรง ศิลปะต้องเข้มข้นมากขึ้น การทำเนื้อเพลงต้องให้ชัดมากขึ้น ต้องทำเพลงให้ทันสมัยกับการต่อสู้ของน้องๆ และพร้อมเดินตามพลังของคนรุ่นใหม่

“เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ข้อเรียกร้องอ่อนๆ เพดานต่ำ ห่างไกลเพดานมาก แต่น้องๆ กล้ามากกว่า ความกล้าทำให้คนแก่ๆ อย่างผมรู้สึกชอบ เพนกวินพูดอย่างไร ก็อยากพูดอย่างนั้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว”

“ในประวัติศาสตร์โลก เสียงดนตรีและงานศิลปะ คือ 1 ใน 4 ของสงครามการเรียกร้อง การอุทิศตนในการต่อสู้มาเป็นอันดับหนึ่ง และศิลปะมีความจำเป็นต่อการต่อสู้อย่างมาก เราสามารถด่าเผด็จการได้ด้วยตัวโน้ต” นายโชคดีกล่าว

เมื่อพิธีกรถามว่า จริงหรือไม่ ที่คนรุ่นก่อนกลัวการเปลี่ยนแปลง ?

นายโชคดีเปิดเผยว่า ต่อให้เราไม่ทำอะไร ผลไม้ก็ร่วงอยู่แล้ว แต่ว่าเราต้องการเห็นในรุ่นเรา ความกล้าของคนไม่เท่ากัน ปัญหาคือความกลัว ตนมั่นใจอย่างมากว่า ขณะนี้เพดานเปลี่ยนแปลงแล้ว และไม่มีวันกลับไปอยู่ที่เดิม

“การกฎขี่ยังมีอยู่ ถ้ากฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ จึงต้องทำกฎหมายให้สอดคล้องกับสังคม เหตุการณ์เดือนตุลา และ ปี 35 เราต้องค้นหาทุกซอกทุกมุม เอาพลัง ความสูญเสียมาใส่ในใจเรา แล้วเราจะไม่เหนื่อย เราจะสู้ต่อไป” นายโชคดีกล่าว
ต่อด้วย นักดนตรีอิสระร่วมบรรเลงดนตรีแนวแจ๊ส

จากนั้น เวลาประมาณ 17.00 น. นายถนอม ชาภักดี อาจารย์และนักวิจารณ์ศิลปะชื่อดัง ร่วมสนทนากับ นายสิรภพ อัตโตหิ หรือ แรปเตอร์ กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก

นายถนอมกล่าวว่า ตนคือ ‘บักหนอม’ มาจากลุ่มน้ำ ‘โขง ชี มูล’ ปกติแล้วการตั้งชื่อสถานที่ บ้านช่อง ห้องหอ มักจะหาความเป็นศักดิ์ เป็นศรี มีเกียรติ โดยเอาเรื่องราวความหมายในอาณาบริเวณนั้น แต่ตนมองว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ คนจะอาศัยอยู่ตามลุ่มแม่น้ำหลักๆ 3 สายคือ โขง ชี มูล

เพราะอยู่ในพื้นที่ของ โขง ชี มูล กรุงเทพฯ จึงเป็นศูนย์กลาง แต่เราพยายามที่จะบอกว่า แท้จริงแล้วคุณไปยืนอยู่ตรงไหน คุณก็เป็นศูนย์กลางตรงนั้น

“เพื่อแสดงถึงพลังทางความคิดของผู้คนที่มีเท่าเทียมกัน ตอนเหนือของกรุงเทพฯ อาจจะเรียกว่า ‘ล้านนา’ ก็ได้ เพียงแต่จะปักหมุด หรือเพิ่มศักยภาพความเป็นมนุษย์ให้กับคนในพื้นที่ ด้วยความเป็นคนที่เท่าเทียมได้อย่างไร

ฉะนั้น โขง ชี มูล มีควา,หมายในตัว คนอยู่กับลุ่มน้ำมาก่อนจะมี ถ.มิตรภาพ จากมหานครไปสู่ดินแดนแถบนั้น เราก็อยู่ของเรามา มีตัวหนังสือ มีภาษา มีเรื่องราว ทุกคนควรมีสิทธิที่จะพูด

มันเป็นเรื่องธรรมดาของรัฐชาติสมัยใหม่ ที่ต้องรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยก่อน ให้คนมีเอกลักษณ์ของอัตบุรุษ มีเอกลักษณ์ของตนเองน้อยลงไป เพราะความเป็น ‘ชาติ’ ต้องรวม ไม่เช่นนั้นจะสูญหาย จึงเป็นเรื่องสำคัญเหมือนเรื่อง ‘ตัวตน’ ของคนไทย ที่จะพูดลาว หรือเขมรไม่ได้ เราจึงต้องยืนยันความเป็นคน เคารพความหลากหลาย ศิลปะเช่นกัน ความวิจิตรอลังการมีทุกที่ ปัญหาคือ ‘ถูกบดบัง และตัดทอน’ ให้มีรสนิยมเดียวตลอด โดยรัฐไทย” นายถนอมกล่าว

จากนั้น นายถนอมกล่าวอีกว่า เพราะความเป็นหนึ่ง จึงทำให้รัฐชาติไทยมองสิ่งที่ไม่ใช่ชาติไทย ‘เป็นอื่น’ ไปหมด

“เป็นเรื่องปกติ เวลาทหารจะฆ่าใคร หรือตำรวจจะทุบใคร สิ่งแรกที่มองคือความเป็นอื่น (otherness) ‘เขาไม่ใช่พวกกู กูถึงฆ่าได้’ ไม่มีความหลากหลายในรัฐทหาร คือปัญหาใหญ่ที่เราไม่เคารพความต่าง หลากหลาย นานาพันธุ์ พูดถึงความหลากหลายในอุดมคติ แต่ความเป็นจริง คุณก็ยังทุบ ยังฆ่าเขาอยู่ อย่างชาวบางกลอย หรือชาติพันธุ์อื่นๆ ในไทย

ฉะนั้น 6 ตุลาเกิดขึ้น เพราะทำให้คนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ต่อต้านรัฐเผด็จการทหาร ‘เป็นอื่น’ ถ้าในความเป็นจริง ในเชิงตรรกะ จะมีชาวญวนที่ไหนมาเรียกร้องประชาธิปไตยให้ประเทศนี้” นายถนอมกล่าว

ด้าน นายสิรภพ หรือ แรปเตอร์ กล่าวว่า การพยามรวมเป็นชาติ ทำให้รัฐไทยหลงลืม หรือพยายามลบประวัติศาสตร์ของคนตัวเล็กตัวน้อย เหมือนยุค 6 ตุลา คนที่ออกมาเรียกร้องถูกยัดเยียดให้เป็น ‘ญวน’ ทำลายชาติ เขมร พม่าปลอมตัวมาบ้าง คือส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมสังหารหมู่

ต่อมานายสิรภพ สนทนากับ “อาร์ต “Jacoboi” ศิลปินแร็พต้านเผด็จการ หนึ่งในสมาชิกวง Rap Against Dictatorship (R.A.D.)

“อาร์ต “Jacoboi” กล่าวถึงการถูกคุกคามว่า รัฐใช้วิธีการดำเนินคดี และเซ็นเซอร์ผลงาน แต่กลับได้รับความนิยมกว่าเดิม อีกทั้งยังได้รับรางวัลจากต่างประเทศ มอบแก่ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะวัฒนธรรมที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรมในสังคม

อาร์ตกล่าววว่า ตอนเปิดตัวเพลงประเทศกูมี ของ R.A.D. มีตำรวจตรวจสอบ ต่อมาเมื่อขึ้นแสดงในเวทีหนึ่ง ก็ถูกข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และอื่นๆ ซึ่งต่อมามิวซิควิดีโอ “ประเทศกูมี” ก็ห้ามเผยแพร่ในประเทศไทย ทางวงจึงมีการไปยื่นคำร้องกับกระทรวงดิจิทัล และมีการยกคำร้องไปแล้ว

“ไม่เข้าใจความคิดของรัฐ เพราะเป็นธรรมชาติ อะไรที่ยิ่งปิด คนยิ่งยากดู” อาร์ตกล่าว และว่า

“ณ ตอนนี้ สิทธิขั้นพื้นฐาน อย่างน้อยเรื่องการแสดงออก เป็นบรรทัดฐาน (norm) ไปแล้ว รัฐไทยบอกว่าไม่ปิดกั้น แต่วิธีปฏิบัติเป็นอีกแบบ ดนตรีมีประสิทธิภาพในรูปแบบของมัน ทั้งเนื้อหา หรือสิ่งที่สื่อสารออกไปของศิลปิน เพราะเข้าถึง เข้าใจง่าย และมีอารมณ์ร่วม คนสามารถรับเนื้อหาไปพร้อมๆ กับรับอารมรณ์ความรู้สึก และเพลงสั้นแค่ 5 นาที จึงถึงคนฟังได้อย่างกระชับ รวดเร็ว

ศิลปะการต่อต้าน จะมีอยู่ตลอด อาจจะเป็นปีศาจในซอกเล็กๆ ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมในเวลานั้น” อาร์ตกล่าว

จากนั้น เป็นการแสดงของ “วงกำปั้น” ที่ขับร้องบทเพลงจังหวะฮึกเหิม มีเนื้อหากล่าวถึงสิทธิ เสรีภาพ ไปจนถึงบทเพลงที่ดัดแปลงเนื้อร้องจากประกาศคณะราษฎร 2475 โดยนักร้องวงกำปั้น ได้เปิดเผยถึงแต่ละบทเพลงว่า แต่งจากการตั้งคำถามในเหตุการณ์ความสูญเสียต่างๆ

“เราสามารถพูดเรื่องบางเรื่องได้อย่างไม่เขินอายอีกแล้ว เราสะสมชัยชนะ ไม่มีการเดินทางไปสู่ประชาธิปไตยเส้นใดที่ตรง และเรียบ มีขวากหนามตลอดเวลา แต่เชื่อว่าจะถึงในสักวัน” นักร้องวงกำปั้นกล่าว

จากนั้น ต่อด้วยวงสามัญชน นายชูเวช เดชดิษฐรักษ์ นักร้องนำกล่าวว่า ขอส่งเพลงนี้ไปให้ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน เพื่อนที่อยู่ในกรงขัง และเพื่อนที่ร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ก่อนบรรเลง บทเพลงฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อ และต่อด้วย อยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ เนื้อหากล่าวถึงรัฐสวัสดิการ

นายณัฐพงษ์ ภูแก้ว หรือ “แก้วใส” กล่าวว่า แม้ว่าจะหนาวเหน็บ แต่วันหนึ่งเชื่อว่าจะได้มาสู่อ้อมกอดของกันและกัน

กระทั่ง เวลา 19.30 น. นายไชยอมร แก้ววิบูลพันธุ์ หรือ แอมมี่ The Bottom Blues บรรเลงบทเพลง you will be
นายไชยอมร เปิดเผยว่า เพลงนี้แต่งในเรือนจำ ขอมอบให้กับเพื่อนและนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทุกคนที่อยู่ในเรือนจำ และไม่ได้กลับบ้าน

ต่อด้วยการขับร้องโดย น.ส.กุลจิรา ทองคง หรือ เอ้ เดอะวอยซ์ และการแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์ อาร์ต โดย นายธีระวัฒน์ มุลวิไล หรือ คาเงะ ศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ผู้ก่อตั้งคณะละคร B-Floor

https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=413739930099739

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image