จับกระแสปรับครม. เกณฑ์วัดพลัง‘บิ๊กตู่’

หมายเหตุความเห็นจากนักวิชาการกรณีกระแสการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองทั้งภายในพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาล แนวโน้มจะหาทางออกอย่างไร

สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

การปรับ ครม.ช้าคงมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากจะบอกว่าโผยังไม่ลงตัว แต่คาดว่า ครม.ใหม่ต้องทำเสร็จก่อนเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเดือนพฤศจิกายนนี้ ไม่เช่นนั้นคงอยู่ไม่ได้ เพราะอาจทำให้ขาดความน่าเชื่อถือว่านายกรัฐมนตรีจะกุมเสียงข้างมากในสภาได้ตลอดรอดฝั่ง

สาเหตุสำคัญปรับล่าช้าดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม น่าจะไม่มีสิทธิขาด ไม่ได้ตัดสินใจเพียงคนเดียวเหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะปัจจุบันไม่ได้ยินนายกรัฐมนตรีบอกว่าสิทธิขาดยังอยู่ที่ท่าน แต่ถ้าใครไปถามนายกรัฐมนตรีก็ยังยืนยันว่าเป็นอำนาจของท่าน แต่ในความเป็นจริงการใช้อำนาจทางการเมืองจะต้องมีหุ้นส่วนและมีพลังในการต่อรอง ไม่ได้ใช้อำนาจง่ายๆ เหมือนการใช้กฎหมาย ขณะที่พรรคพลังประชารัฐก็น่าจะมีกองเชียร์แต่ละฝ่ายหนุนให้ลูกพี่ลุกขึ้นสู้ ไม่ยอมให้เพลี่ยงพล้ำอีกฝ่าย

Advertisement

แต่ผลสรุปการปรับ ครม.ครั้งหน้าพี่น้อง 2 ป.คงได้ไปฝั่งละคน บิ๊กป้อมก็จิ้มมา 1 คน ที่เหลือก็หน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ไม่เช่นนั้นปัญหาไม่จบ ส่วนบรรดามุ้งทั้งหลายก็ต้องทำให้เงียบ ทั้งที่ความจริงปัญหาจากการปรับ ครม.น่าจะจบไปนานแล้ว หลัง พล.อ.ประยุทธ์ปรับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ออกไป คิดว่าอำนาจทั้งหมดเป็นของตัวเองเบ็ดเสร็จ ก็สามารถจะบอกได้ว่าจะตั้งใครมาทำหน้าที่แทน แต่ของจริงไม่เป็นแบบนั้น หากตั้งเองรัฐมนตรีโดยลำพังก็วิตกว่าอาจจะถูกหักหลังระหว่างการโหวตกฎหมายสำคัญในสภา

ดังนั้น ก่อนโผจะออกต้องตกลงเจรจาให้จบ แต่ยิ่งช้าก็ยิ่งมีคนอยากเป็นรัฐมนตรีเพิ่มมากขึ้น มีคู่แข่งเสนอตัวเข้าชิงเก้าอี้มากขึ้น การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีก็ทำได้ยาก แม้ว่าส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีประเมินว่าตั้งใจจะอยู่ยาว อยู่ไปจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง เพราะไม่ต้องการยุบสภาก่อนหมดวาระเพื่อเสี่ยงดวงไปเลือกตั้งใหม่

แต่วันนี้ก็มีอุปสรรคเล็กน้อยในการจัดสรรอำนาจให้ลงตัวยังทำได้ยาก เพราะเชื่อว่าองคาพยพของพรรคพลังประชารัฐเริ่มไม่ไว้ใจนายกรัฐมนตรี ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่าระหว่างการปรับ ครม.จะมีการต่อรอง แล้วอย่ามองไกลว่าบรรดารัฐมนตรีจากเทคโนแครตใครจะมีสถานะอย่างไร แต่ขอให้จับตาดูบิ๊กฉิ่ง อดีตปลัดมหาดไทย จะได้เข้ามาจริงหรือไม่ แล้วถ้าดันเข้ามาจริงมีแรงต้านหรือไม่ ส่วนกระแสบอกว่าบิ๊กป้อมจะหลุดโผจากรองนายกรัฐมนตรี ก็ต้องบอกว่าการเมืองไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ อย่างน้อยเมื่อมีกระแสออกมาก็ต้องยอมว่ามีคนคิดและหวังให้เป็นเช่นนั้น

Advertisement

นอกจาก 3 ป.ยังไม่ลงตัว พรรคพลังประชารัฐยังไม่สงบ ระหว่างการปรับ ครม. พรรคประชาธิปัตย์ก็เริ่มแสดงปฏิกิริยาว่าความขัดแย้งในพรรคตัวเองอย่าทำให้กระทบพรรคอื่น เพราะปกติพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่กล้าพูดอะไรแบบนี้ และเชื่อว่าไม่อยากพูด แต่ก็ต้องแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ยอมไปทุกอย่าง แต่ก็สรุปว่าถ้าพรรคยังอยู่กับรัฐบาลต่อไปก็คงดีที่สุดแล้ว ส่วนพรรคภูมิใจไทยก็คงลักษณะเดียวกัน ถ้ามีการปรับที่กระทบกับโควต้าพรรค

ในแง่ยุทธศาสตร์การเมือง พล.อ.ประยุทธ์ไม่น่าจะคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งทั้งหลายได้ง่ายดายเหมือนในอดีต ส่วนความผิดพลาดที่ทำให้มาถึงวันนี้เพราะการปลด 2 รัฐมนตรีกล่องดวงใจของบิ๊กป้อมโดยไม่บอกล่วงหน้า ทั้งที่ควรเจรจาให้รู้เรื่อง แต่เนื่องจากนายกรัฐมนตรีก็พยายามแสดงให้เห็นว่าอำนาจยังอยู่ที่ท่าน แล้วอาจจะเห็นว่านักการเมืองไปห้อมล้อมบิ๊กป้อมมาก ไปยึดติดแต่บิ๊กป้อมเป็นที่พึ่ง ดังนั้น นายกรัฐมนตรีก็คงอยากแสดงว่าอย่างไรก็ต้องมาพบท่านด้วย หรือคิดว่าอย่างไรคนในพรรคก็ต้องมาง้อไปตลอด เพราะยังหาคนโดดเด่นมาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้

ส่วนใครไปถามบิ๊กป้อมว่าเลือกตั้งครั้งหน้าจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกหรือไม่ ท่านไม่ยอมตอบ เพราะยังคิดไม่ออก จะเสนอชื่อตัวเองก็คงไม่ได้ เพราะสถานะยังเป็นรอง พล.อ.ประยุทธ์ แต่ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ยังอยู่ต่อ หรือถ้าหลุดไปจากเหตุอื่นก็คงได้กลับมาอีก รัฐบาลชุดนี้บรรดากุนซือวางเกมไว้ทีละชั้น ไม่ต้องคิดล่วงหน้าไปไกล เพราะวางเป้าหมายไว้แล้วว่าจะอยู่ครบวาระ

วิโรจน์ อาลี
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปรับช้าปรับเร็วถึงที่สุดก็ต้องปรับ เพื่อเอาใจคนในพรรคพลังประชารัฐ ขณะที่พรรคยังมีการเผยรายชื่อบุคคลบางรายออกมา ก็หมายความว่ายังมีความพยายามในการจัดความสมดุลภายในพรรคให้ลงตัว แต่ก่อนอื่นต้องดูว่านายกรัฐมนตรีจะแก้ปัญหาจากการปลด 2 รัฐมนตรีได้อย่างไร แม้ว่าโควต้ายังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ แต่ไม่ทราบว่าเป็นโควต้าของบิ๊กป้อมเหมือนเดิม หรือกลุ่มอื่นที่จะผงาดขึ้นมามีบทบาท ทั้งอดีต ส.ส.ย้ายพรรค หรือกลุ่มสามมิตร

ที่น่าสนใจสำหรับการปรับ ครม.ต้องปรับให้มีประสิทธิภาพในการทำงานหลายเรื่องนอกจากนั้นก็คงมีการปรับเพื่อกระชับอำนาจ อย่างน้อยที่สุดเพื่อให้ได้เปรียบในช่วงของการเลือกตั้งที่มีแรงกดดันว่าอาจจะมีการเลือกตั้งใหม่ช่วงต้นปีหน้า ต้องยอมรับว่าวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่น่าจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จในพรรคพลังประชารัฐ ในยุคก่อนอาจจะพูดคุยกันได้ แต่ขณะนี้คงเป็นไปได้ยาก

ปัจจุบันเชื่อว่า ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐมีความกังวลกรณี พล.อ.ประยุทธ์ไปหน้างานที่
ต่างจังหวัดก็มีบรรยากาศไม่ดีมากนัก เพราะมีโอกาสได้เจอกับความเป็นจริงทางการเมืองมากขึ้น จะเห็นว่าบางจังหวัดมีประชาชนมาแสดงความเห็น กิจกรรมการต่อต้าน เพราะอาจจะไม่พอใจ ต่างจากยุคก่อนที่มีข้าราชการบางหน่วยจัดฉากให้คนมาต้อนรับ

ก่อนการปรับ ครม.มีการพูดถึงโควต้า 4 กรมเดิมของ ร.อ.ธรรมนัสในกระทรวงเกษตรฯ จะขอคืนให้บิ๊กป้อมก็มีปัญหากับพรรคประชาธิปัตย์พอสมควร และโอกาสต่อไปนายกรัฐมนตรีก็มีโอกาสเจอแรงกัดดันเพิ่มมากขึ้น ส่วนรัฐมนตรีกลุ่มเทคโนแครตเชื่อว่ามี 2 เก้าอี้อย่างพลังงานกับต่างประเทศที่เป็นจุดอ่อน ต้องนำกลับไปให้นักการเมือง ส่วนกระทรวงอื่นจะสลับกันอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ก็คงจะสรรหาบุคคลที่เหมาะสมมาทำหน้าที่

แต่โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์จะตั้งรัฐมนตรีโดยหักดิบไม่แยแสเสียงรอบข้าง หรือการต่อรองในพรรคพลังประชารัฐ หรือทำให้เห็นว่ายังมีอำนาจเด็ดขาด เชื่อว่าโดยสถานะนิสัยส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีคงต้องการให้เป็นเช่นนั้น ต้องการให้สังคมรับรู้ว่าความเด็ดขาดยังมีอยู่จริง ถ้ามีการเคาะจะเลือกตั้ง หรือการมีพรรคใหม่ ก็ต้องมีอำนาจเต็ม แต่ถ้าเอาจริงจะทำได้อย่างที่คิดหรือไม่ อะไรเคยทำได้ ถ้าหากจะทำซ้ำก็คงยากขึ้น
ขณะที่จุดสมดุลในการปรับ ครม.ให้ความขัดแย้งทางการเมืองมีข้อยุติควบคู่ไปกับการบริหารบ้านเมืองให้มีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนยอมรับได้ เชื่อว่าวันนี้หมดโอกาสในการยื้อ หรือซื้อเวลา เพราะนายกรัฐมนตรีใช้ตัวบุคคลสิ้นเปลือง อาจไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น การปรับ ครม.ให้ดีจริง พล.อ.ประยุทธ์ต้องปรับวิธีการทำงานด้วยการเลิกรวมศูนย์อำนาจโดยตัดสินใจเพียงลำพัง จะเห็นได้จากการคืนอำนาจจากการใช้กฎหมาย 31 ฉบับในการควบคุมโรคให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญนายกรัฐมนตรีไม่ควรใช้วิธีการเลือกรัฐมนตรีแบบเก่า เพื่อทำให้มีปัญหาเหมือนเดิม แต่ควรเปิดกว้างเพื่อให้ทุกฝ่ายในพรรคพลังประชารัฐมีโอกาสแสดงความเห็น

แต่ถึงที่สุดก่อนปรับ ครม.การเจรจาในพรรคพลังประชารัฐต้องลงตัว และเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์คงไม่สนใจแรงกดดันทั้งภายในและภายนอก โดยทิ้งช่วงไปพอสมควร จากนั้นก็ปรับเปลี่ยนโดยบอกว่าปรับตามความเหมาะสมไม่ได้เจอแรงกดดัน ส่วนจะปรับก่อนเปิดสภาหรือไม่ เชื่อว่านายกรัฐมนตรีคงไม่สนใจ รวมทั้งไม่สนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ไปมากกว่าการเดินหน้าต่อรองทางการเมือง ขณะที่พรรคการเมืองอื่นนายกรัฐมนตรีคงไม่สนใจ แม้ว่าจะมีการออกพูดขู่อยู่บ้าง บางพรรคก็ตีปลาหน้าไซว่าไม่ควรเข้ามายุ่งกับโควต้าเดิม

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขณะนี้สถานการณ์ทางการเมืองประเมินได้ยาก แต่หากพี่น้อง 3 ป.พรรคพลังประชารัฐคุยกันลงตัว มีการแต่งตั้งอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยมาทำหน้าที่รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย รวมทั้งการตั้งพรรคการเมืองใหม่ ถ้าทั้งหมดเป็นเรื่องจริง อีกไม่นานก็ต้องมีการปรับ ครม. จากนั้นก็จะประเมินว่าหลังตั้ง ครม.ใหม่แล้วจะมีปัญหาอีกหรือไม่ ต้องดูว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อเลือกตั้ง ส.ส.จากบัตร 2 ใบจะเสร็จสิ้นในช่วงไหน เพื่อทำให้การเลือกตั้งใหม่มีความได้เปรียบทั้งพรรคพลังประชารัฐและพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งเป็นพวกเดียวกัน เพราะในที่สุดก็น่าจะต้องใช้วิธีการแยกกันเดินรวมกันตี

ต้องเข้าใจว่าวันนี้ผู้มีอำนาจที่ต้องการสืบทอดอำนาจทางการเมือง เพราะมีพร้อมทุกอย่าง ทั้งเงินทุน อำนาจทุกอย่างอยู่ในมือ เมื่อจัดกระบวนทัพได้เรียบร้อยหมดแล้วก็อาจจะมีการเลือกตั้งใหม่ ไม่ได้สนใจว่าจะปรับ ครม.ช้าหรือเร็ว ส่วนข้อกังวลเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี พรรคฝ่ายค้านมีความมั่นใจ แต่คงไม่ยื่นตีความเพราะยังไม่เข้าเงื่อนไขครบเวลา แต่เดาว่าอาจมีคนฝ่ายรัฐบาลยื่นตีความก่อน เพื่อฟอกให้เรียบร้อยไม่มีปัญหาหากจะต้องไปทำงานกับพรรคการเมืองใหม่

สำหรับปัญหาจากการปลด ร.อ.ธรรมนัส นางนฤมล ที่มองว่าเป็นสาเหตุให้พี่น้อง 3 ป.แตกแยก เบื้องต้นอาจจะเข้าใจผิดระหว่างกัน ทำให้ขัดใจกันบ้าง แต่คงไม่ทำให้แตกร้าวไม่กินไม่ใช้กันอีก การปลด 2 รัฐมนตรีเป็นแค่เรื่องเดียวที่ทำให้มองหน้ากันแล้วไม่สบายใจ แต่ถ้ามองถึงผลประโยชน์ทางการเมืองอย่างอื่น รวมทั้งการดำรงความอยู่รอดเพื่อรักษาเสถียรภาพ รักษาอำนาจต่อไปเป็นเรื่องสำคัญกว่า เพราะการลงจากหลังเสือโดยไม่มีหลักประกัน หรือมีความมั่นใจว่าจะรอดปลอดภัยถือว่ามีอันตรายมากกว่า

ดังนั้น 3 ป.จึงต้องจับมือกันต่อไป คิดง่ายๆ ว่าถ้าแตกแยกกันไปก็เหมือนเป็นการฆ่าตัวตายหมู่ ความขัดแย้งทางการเมืองในการแย่งชิงตำแหน่งโควต้ารัฐมนตรีไม่ใช่เรื่องใหญ่โตมากกว่าความอยู่รอด คิดว่าอย่างไรก็เหมือนสมบัติผลัดกันชม ในที่สุดผลการเจรจามองไกลไปถึงอนาคต ก็ทำให้ทุกอย่างลงตัวกันได้ และการสืบทอดอำนาจตามโรดแมปที่วางไว้ต้องไม่มีปัญหา แม้ว่าระหว่างไทม์ไลน์ที่กำหนดไปถึงปลายทางอาจจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกก็ได้ การเมืองไม่มีอะไรแน่นอน เพราะปัญหาโควิดยังไม่จบ ปัญหาเศรษฐกิจก็รุมเร้าหนักขึ้นเรื่อยๆ

แต่ในระยะสั้นต้องดูว่า พล.อ.ประยุทธ์จะแสดงความกล้าหาญ หลุดนอกกรอบแบบเดิมๆ เพื่อปรับ ครม.ใหม่ให้ประชาชนร้องว้าว หรือให้การยอมรับได้หรือไม่ แต่เท่าที่ประเมินก็คงจะไม่เจอบรรยากาศแบบนั้น เพราะความต้องการที่แท้จริงของประชาชนคนส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าไปอยู่ในสมการ หรือสูตรการตั้ง ครม.ใหม่มากนัก ประชาชนในความหมายของรัฐบาลนี้ก็คือประชาชนที่ให้การสนับสนุนฝ่ายผู้มีอำนาจ แต่ถ้าหากประชาชนฝ่ายอื่นไม่ชอบก็ไม่ได้สนใจอะไร เพราะคิดว่าจะทำอย่างไรคนที่ไม่ชอบการทำงานก็ไม่ร้องว้าวอยู่ดี

ขณะนี้ฝ่ายยุทธศาสตร์ของรัฐบาลอยู่ระหว่างการตัดสินใจตามแผนที่วางไว้ สำหรับฝ่ายผู้มีอำนาจคงไม่ต้องการให้ประชาชนคิดว่าปรับหรือไม่ปรับ ครม.ก็ยังต้องอยู่ในสภาวะสิ้นหวังเหมือนเดิม แต่วันนี้ต้องยอมรับว่าจากปัญหาของคนในชาติขัดแย้งมาอย่างยาวนาน รัฐบาลก็คงคิดว่าหากจะปรับ ครม.ให้ดีมีความเหมาะสม จะปรับช้าปรับเร็วอย่างไร ก็คงมีคนส่วนหนึ่งไม่พอใจและไม่ยอมรับเป็นปกติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image