ศึกใหญ่ ‘ช้างชนช้าง’ การเมือง พลังประชารัฐ กะ ประชาธิปัตย์
ใครที่ประเมินว่าสถานการณ์การปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ออกจากตำแหน่งมากด้วยความละเอียดอ่อนและอ่อนไหวในทางการเมือง
ก็ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การ ‘ยึด’ อำนาจการกำกับดูแลงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาจากพรรคประชาธิปัตย์แรงกว่า
แรงเพราะกรณีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นเรื่องระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นเรื่องภายในของ ‘3 ป.’
อาจสร้างความไม่พอใจให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ แต่เมื่ออำนาจในการกำกับดูแลมาอยู่ในมือรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เรื่องก็น่าจะเรียบร้อย
เนื่องจากในความเป็นจริงอำนาจก็ยังอยู่ในมือของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อย่างไม่ต้องสงสัย
ทุกกระบวนท่าเพื่อเอาใจ ‘พี่ใหญ่’ เอาใจ ‘พลังประชารัฐ’
ตรงกันข้าม การยึดอำนาจจาก 4 กรมมาจากมือรัฐมนตรี มาจากรองนายกรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ต่างหากที่แหก ‘ขนบ’
คำว่า ‘ขนบ’ ในที่นี้คือ ขนบระหว่างรัฐบาลกับพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากเด่นชัดยิ่งว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาจากพรรคประชาธิปัตย์
เมื่องานของ ‘รัฐมนตรี’ ว่างลงก็ชอบที่รัฐมนตรีจะต้องดึงกลับมาอยู่ในความรับผิดชอบของตน
เว้นแต่จะมีการแต่งตั้ง ‘รัฐมนตรี’ เข้าไปดำรงตำแหน่ง ‘แทนที่’
ในเมื่อยังไม่มีการปรับ ครม. ยังไม่มีใครแต่งตั้งรัฐมนตรีคนใดจากพรรคพลังประชารัฐเข้าไปก็ชอบที่จะเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการและรายงานไปยังรองนายกรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์
การมอบงานให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้าไปดูและไม่ผ่านรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ชอบ
ความรุนแรงบานปลายของสถานการณ์นี้ไม่เพียงอยู่ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะยืนยันว่าเป็นงานของพรรคพลังประชารัฐ หากแต่ยังอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์
เป็นความไม่พอใจตั้งแต่ ‘เลขาธิการ’ จนถึง ‘หัวหน้าพรรค’
เน้นย้ำให้ตระหนักในเรื่อง ‘มารยาท’ ความถูกต้องทางการมารยาทและยืนยันอำนาจของตน 100 เปอร์เซ็นต์เต็มเปี่ยม
นี่คือศึกใหม่ระหว่างพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์