แด่เหงื่อทุกหยาด เลือดทุกหยด ‘เว็บบันทึก 6 ตุลา’ สดุดีความขบถ-หัวเชื้อสังคม มองคนเท่ากัน

แด่เหงื่อทุกหยาด เลือดทุกหยด ‘เว็บบันทึก 6 ตุลา’ สดุดีความขบถ-หัวเชื้อสังคม มองคนเท่ากัน

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ในวาระครบรอบ 45 ปี เหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทย 6 ตุลาคม 2519 แฟนเพจ “บันทึก 6 ตุลา – Documentation of Oct 6” ได้เผยแพร่ข้อเขียนบอกเล่าประวัติศาสตร์ ภายใต้ชื่อชุด “5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง” ตอน “แด่เหงื่อทุกหยาดและเลือดทุกหยดที่ไม่เคยสูญเปล่า” ผลสำเร็จจากการเคลื่อนไหวช่วงปี 1516 -2519 ที่ประชาชนต้องต่อสู้ให้ได้มา ความว่า

ความอยุติธรรมแผ่ซ่านไปทุกแห่งหน สะสมและซุกซ่อนมากว่าทศวรรษจนประชาชนทนไม่ไหว เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เป็นเหมือนเครื่องยืนยันว่าหากเราไม่ยอมจำนน ชัยชนะก็ใช่ว่าจะไกลเกินเอื้อม และคงเป็นเฉกเช่นเดียวกับความไม่เป็นธรรมในประเด็นอื่นๆ

ประชาชนคนทั่วไป กรรมกร ชาวนา และนักเรียนนักศึกษาจึงลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว จากที่ไม่เคยส่งเสียงก็ได้ส่ง จากที่ส่งอยู่แล้วก็พร้อมที่จะประสานกันให้ดังขึ้นไปอีก ทั้งหมดนี้ทำอยู่บนพื้นฐานสำคัญคือเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในแบบที่มนุษย์สมควรจะได้รับ

เมื่อมวลชนไม่ลดละความพยายาม ความทุกข์ยากของปวงประชาก็เริ่มได้รับการเหลียวแลและตอบสนอง มากบ้างน้อยบ้างปะปนกันไป และหลายๆ ครั้งก็มีราคาที่ต้องจ่าย

Advertisement

#5ตุลาตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง ชวนทบทวนว่าตลอด 3 ปีที่ต่อสู้ ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมมีอะไรบ้าง บางสิ่งเกิดขึ้นและสิ้นสุดลง บางสิ่งยังคงนำไปใช้อยู่ บางเรื่องถึงเวลาทบทวนปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย

ขอขอบคุณทุกความพยายาม ขอสดุดีทุกความขบถต่ออำนาจและการปฏิเสธค่านิยมอันไร้เหตุผล ที่เป็นหัวเชื้อให้สังคมมองเห็นคนเป็นคนเท่ากัน

แม้จวบจนถึงวินาทีนี้จะมีอีกหลายสิ่งที่ยังคงต้องสู้กันต่อก็ตาม

Advertisement

@พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518@

#ความผิดปกติที่เกือบเป็นปกติ
ค่าแรงต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ทำงานติดต่อกันกี่ชั่วโมงตามแต่ใจนายจ้างโดยไร้ซึ่งมาตรฐานวันหยุด วันลา และเวลาพัก เป็นเรื่องผิดปกติที่เกือบกลายเป็นเรื่องปกติในช่วงต้นศตวรรษ 2500 เพราะเป็นกันแบบนี้แทบทุกหนแห่ง

การถูกกดขี่ของแรงงาน ไม่ได้หมายความเพียงว่านายจ้างโรงงานใดโรงงานหนึ่งไม่เหลียวแลลูกจ้างเท่านั้น แต่ต้นตอของเรื่องนี้สาวกลับไปได้ถึงนโยบายของรัฐด้วย

จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ย้อนไปตั้งแต่สมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่เริ่มมีนโยบายส่งเสริมให้ต่างชาติลงทุนในประเทศไทย การประกอบกิจการต้นทุนต่ำเป็นแรงดึงดูดทุนข้ามชาติได้เป็นอย่างดี และหนึ่งในวิธีที่ทำให้ต้นทุนต่ำได้ก็คือการผลักภาระให้แรงงานทำงานหนักเกินควร แลกกับค่าตอบแทนที่ห่างไกลจากความสมเหตุสมผล

กดซ้ำๆ ยังไม่พอ รัฐบาลเห็นว่าต้องป้องกันการลุกขึ้นสู้ด้วย จอมพลสฤษดิ์จึงออกประกาศคณะปฏิวัติที่เบรกการบังคับใช้กฎหมายที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิแรงงานอย่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่มีตั้งแต่ปี 2499 ด้วย

#ประชาชนต้องลุกขึ้นสู้
แม้มีข้อห้าม แต่การต่อต้านการกดขี่พร้อมปะทุเสมอ กรรมกรเริ่มนัดหยุดงานกันตั้งแต่ราวปี 2508 และรวมตัวมากขึ้นเรื่อยๆ และแล้วพลังของมวลชนก็ยากจะทัดทาน จนในปี 2515 รัฐบาลต้องเริ่มขยับ โดยได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าแรงขั้นต่ำ และออกประกาศให้ค่าแรงขั้นต่ำเท่ากับ 12 บาทต่อวันในเดือนกุมภาพันธ์ 2516 ถึงอย่างนั้นเรื่องก็ยังไม่จบ ต่อให้กำหนดค่าแรงขั้นต่ำที่เอาเข้าจริงๆ ก็เข้าข่ายต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ แต่นายจ้างหลายรายก็หาได้ใส่ใจไม่

เมื่อระบอบเผด็จการสั่นสะเทือนจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กระแสนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจึงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ นับแต่เหตุการณ์นั้นจนถึงปลายเดือนพฤศจิกา ยนมีการหยุดงานราว 180 ครั้ง และเพิ่มขึ้นอีกเป็น 300 ครั้งในเดือนถัดมา โดยปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ในเวลาต่อๆ มา การประท้วงผ่านการหยุดงานไม่เพียงขยายวงกว้างในเชิงพื้นที่ แต่ยังเกิดขึ้นในหลากหลายประเภทกิจการ ตั้งแต่โรงงานทอผ้า โรงแรม ยันกิจการสาธารณูปโภคของรัฐ อีกทั้งยังนำมาสู่การก่อตั้งองค์กรกรรมกรในรูปแบบสหภาพซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวเป็นระบบและทรงพลังมากยิ่งขึ้น

จนในที่สุด รัฐบาลก็รับปากที่จะพิจารณาข้อเรียกร้องของกรรมกร ซึ่งประกอบไปด้วยค่าชดเชยเมื่อออกจากงาน และการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอันนำมาสู่การประกาศประกันค่าแรงขั้นต่ำวันละ 20 บาทในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในเดือนตุลาคม 2517 รวมถึงการประกาศใช้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน

พ.ร.บ.นี้ว่าด้วยการประกันสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวเป็นสหภาพ เพื่อเจรจาต่อรองกับนายจ้าง ทำให้แรงงานสามารถมีปากเสียงกับนายจ้าง และเรียกร้องให้เกิดการปรับสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรมได้

#พรบแรงงานสัมพันธ์ที่ต้องไปต่อ
ทุกวันนี้ประเทศไทยยังคงต้องการการลงทุนจากต่างชาติ โดยใช้เรื่องแรงงานราคาถูกเป็นหนึ่งในแรงจูงใจสำคัญอยู่ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มหลักของแรงงานราคาถูกที่ว่าคือแรงงานข้ามชาติ

ความจำเป็นของแรงงานข้ามชาติถูกสะท้อนให้เห็นผ่านรายงานหลายฉบับ เช่น รายงานของธนาคารโลกปี 2559 ที่ระบุว่าประเทศไทยพึ่งพิงแรงงานข้ามชาติถึงร้อยละ 10 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้ประมาณการว่าแรงงานข้ามชาติมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจถึงร้อยละ 4.3-6.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศปี 2560 เป็นต้น

ตัดภาพมาที่ข้อกฎหมาย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ว่าด้วยคุณสมบัติของกรรมการสหภาพแรงงานมีข้อกำหนดไว้ว่า ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น

ระยะเวลา 40 กว่าปีที่ผ่านมา พ.ร.บ.นี้นำพาความก้าวหน้าที่จับต้องได้มาสู่แรงงานไทยทุกผู้ทุกคน ในขณะเดียวกันข้อมูลที่เป็นปัจจุบันก็เป็นประจักษ์พยานว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.นี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เครือข่ายและองค์กรแรงงานไทยจึงพยายามผลักดันให้รัฐบาลรับรองสิทธิตามอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิการรวมตัวและการเจรจาต่อรองโดยไม่มีการแบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติ ซึ่งในที่นี้รวมถึงการรวมกลุ่มเป็นสหภาพของแรงงานข้ามชาติในไทยด้วย แม้จะยังไม่สำเร็จก็ตาม

@พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517@

#ทำเท่าไหร่ไม่เคยได้เท่านั้น
หากทำนา 50 ถัง ชาวนาจะมีเก็บมากสุด 25 ถัง หรือในจังหวะที่เลวร้ายกว่านั้น ชาวนาอาจแทบไม่เหลืออะไรเลย นี่คือสภาพความเป็นอยู่ของชาวนาก่อนที่ พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านาจะบังคับใช้อย่างทั่วถึง

ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะการครอบครองที่ทำกินไม่เคยยุติธรรม แถมยังมีกฎที่แสนกดขี่ให้การลืมตาอ้าปากเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ ประเด็นนี้เห็นได้ชัดในภาคเหนือที่ที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในมือทายาทเจ้าเมือง หรือผู้มีศักดินาไม่กี่ราย ชาวนาจึงต้องจำใจเป็นผู้เช่าภายใต้เงื่อนไขที่ต้องลงทั้งทุนทั้งแรงเอง ทั้งหมดจนจบกระบวนการ ตั้งแต่ไถ หว่าน ดายหญ้า ใส่ปุ๋ย ไปจนถึงเก็บเกี่ยว แถมยังพ่วงกฎเหล็กว่าเมื่อผลผลิตออกมาแล้วต้องยกให้เจ้าของที่ครึ่งหนึ่ง

หนักไปกว่านั้น “ภาณุพงศ์ ไชยวรรณ” (ชื่อเดิม อนุสรณ์ ไชยวรรณ) อดีตนักศึกษาวิทยาลัยครูภาคเหนือที่เป็นทั้งนักเคลื่อนไหวและลูกชาวนา เล่าว่า หากจังหวะไม่ดี เจอพายุ ข้าวเสียหาย เจ้าของที่ก็ไม่ได้เห็นอกเห็นใจหรือพยายามทำความเข้าใจชาวนาแต่อย่างใด ชาวนาต้องทบส่วนที่ควรจะต้องแบ่งให้เจ้าของที่รอบนี้ไปกับผลผลิตจากนาครั้งหน้า เท่ากับว่านาครั้งหน้าชาวนาต้องยกผลผลิตร้อยทั้งร้อยให้กับเจ้าของที่เลยทีเดียว

#พรบควบคุมการเช่านาแบบไม่ทั่วถึง
ที่จริงแล้ว พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านามีมาตั้งแต่ก่อนปี 2500 แต่เพราะนาในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันมากและบริบทความเป็นจริงของบางพื้นที่ไม่ได้สอดคล้องกับที่ระบุในกฎหมาย พ.ร.บ.นี้จึงถูกละเลยไป

อย่างไรก็ตาม ชาวนาแถบภาคกลางเคลื่อนไหวเรื่องนี้มาก่อนและมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.นี้ในปี 2517 โดยมีสาระสำคัญว่า ผู้เช่านาจะได้รับการคุ้มครองระดับหนึ่ง คือ ส่วนแบ่งที่เจ้าของที่จะได้รับ คิดเป็น 1 ใน 3 เท่านั้น ทั้งนี้ ต้องหักต้นทุนแล้วด้วย และให้มีคณะกรรมการกำกับการเช่านาเพื่อกำกับการเก็บค่าเช่านาด้วย

#จากกลางสู่เหนือ

ฟากฝั่งชาวนาภาคเหนือไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับ พ.ร.บ.นี้มาก่อน กระทั่งนักศึกษาเริ่มทำงานร่วมกับชาวนามากขึ้นเรื่อยๆ นักศึกษาจึงเล่าสู่ชาวนาฟังเรื่อง พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านาที่มีใช้อยู่ที่ภาคกลาง จากที่แต่ก่อนชาวนาสู้ไปแพ้ไป การได้รับรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.นี้เหมือนกับแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เริ่มปรากฏให้เห็น

ชาวนารู้ทั้งรู้ว่าการจะเรียกร้องคนเดียวไม่ต่างอะไรจากเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง จึงเกิดการขยายตัวรวมกลุ่มกันอย่างรวดเร็ว “มนัส จินตนะดิลกกุล” อดีตผู้ประสานงานชาวนาภาคเหนือเล่าว่า ภูมิประเทศของภาคเหนือเอื้อให้เกิดปรากฏการณ์ไฟลามทุ่ง ด้วยเพราะที่ราบลุ่มแม่น้ำมีจำกัด ชาวนาจึงมักอาศัยอยู่ติดๆ กัน อีกทั้งมีการโยกย้ายที่อยู่ที่ทำกินบ่อยๆ การส่งต่อความคิดจากนาแปลงหนึ่งไปสู่อีกหลายสิบแปลงจึงไม่ใช่อุปสรรค นอกจากนี้ชาวนาหัวอกเดียวกันที่เจ็บปวดร่วมจากปัญหานี้มีอยู่มากจึงสนใจเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้อย่างไม่ยากนัก จนหลายหมู่บ้านในภาคเหนือมีสหพันธ์ชาวไร่ชาวนาเกิดขึ้นเต็มไปหมด

#คุมการเช่านาทั่วทิศ

ในที่สุด พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 ก็ได้มีการนำไปใช้ครอบคลุมทุกทิศทั่วไทยในช่วงปี 2518 แต่เรื่องไม่ได้จบแค่นั้น เพราะนั่นเท่ากับว่าชาวนากำลังยืนคนละฝั่งกับลูกหลานของอดีตผู้ครองนครเมืองเหนือ ปัญหาต่อเนื่องจึงเกิดขึ้น

ภาณุพงศ์เล่าว่า เมื่อผู้ถือครองที่ดินรู้สึกสูญเสีย พวกเขาจึงร่วมกับกลไกอำนาจรัฐ และเริ่มมีการเข่นฆ่าชาวนาเกิดขึ้น การประกาศใช้ พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านาต้องแลกด้วยชีวิตของผู้นำชาวนาถึงอย่างน้อย 25 ศพ ยังไม่นับรวมว่าต้องเดินเรื่องกันต่อ เพราะเจ้าของที่ดินบางแห่งไม่ยอมปฏิบัติตามในทันที

ปัจจุบัน พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านาถูกยกเลิก โดยใช้ พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2559 แทน

@รัฐธรรมนูญฉบับปี 2517@

หากพูดถึงรัฐธรรมนูญที่ขึ้นชื่อว่ามีความเป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 มักติดโผเป็นหนึ่งฉบับที่ผู้คนนึกถึง เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาแทนฉบับปี 2515 ที่จัดทำโดยทหาร และเป็นช่วงที่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเบ่งบาน

รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอย่างน้อย 2 ประเด็นที่โดดเด่น

#เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีหมวดว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น
โดยระบุให้การปกครองท้องถิ่นทุกระดับต้องมีสภาท้องถิ่น และหัวหน้าฝ่ายบริหารท้องถิ่นหรือคณะผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ไม่ได้กำหนดว่าหัวหน้าฝ่ายบริหารท้องถิ่นหรือคณะผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งทางตรงเท่านั้น

#เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง
แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ประเด็นนี้ก็กลืนหายไปกับความอึมครึม ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีหลังจากนั้นที่มีขึ้นภายใต้อำนาจรัฐธรรมนูญปี 2521 ไม่ได้มาจากประชาชนหรือการเลือกตั้ง แต่เป็น พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ที่มาจากการสนับสนุนของกองทัพ วุฒิสภา และพรรคการเมืองจำนวนหนึ่ง

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่มีข้อกำหนดนี้ทั้งหมด 4 ฉบับ ได้แก่ ฉบับปี 2517, ฉบับปี 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2535, ฉบับปี 2540 และฉบับปี 2550

• ปลุกใจ กระจายข่าวด่วน ชวนชุมนุม ‘6 ตุลา’ กับ ศิลปะรับใช้ ปชช. ผ่าน ‘โปสเตอร์’
• เปิดบันทึก 6ตุลา ส่อง ‘9 ฝ่าย’ ในขบวนการเคลื่อนไหว ที่ใกล้เคียงปัจจุบัน
• #เหตุเกิดที่ประตูแดง แห่รำลึก 45 ปี ‘แขวนคอ 2 ช่างไฟฟ้า’ ย้อนชนวน 6 ตุลา-จัดคลับเฮ้าส์คืนนี้
• เว็บฯ บันทึก 6 ตุลา เปิด ’14 คัมภีร์ความคิด’ วรรณกรรมเพื่อชีวิต ที่มาขบวนการเคลื่อนไหว
• เว็บบันทึก 6 ตุลา ร่ายที่มา ‘5 วง – 6 บทเพลงเพื่อชีวิต’ มรดกอาวุธ สู้รัฐด้วยสันติ
• ธรรมศาสตร์ ถอย เลิกเบรกรำลึก “6 ตุลา” จ่อส่งเรื่องถึงอว.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image