‘สโมสรนิสิต จุฬา’ ร่อนแถลง เรียกร้องรัฐบาลไทย รับผิด-ขอโทษ-ชดเชย ปมสังหารหมู่ 6 ตุลา

‘สโมสรนิสิต จุฬา’ ร่อนแถลง เรียกร้องรัฐบาลไทย รับผิด-ขอโทษ-ชดเชย ปมสังหารหมู่ 6 ตุลา

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ในวาระครบรอบ 45 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ออกแถลงการณ์ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยอมรับผิด ขอโทษต่อสาธารณชน และชดเชยให้กับผู้เสียหาย ในกรณีการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือเหตุการณ์ 6 ตุลา

สำหรับแถลงการณ์ มีรายละเอียด ดังนี้

ในช่วงเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมขึ้นอย่างสันติ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกล้อมปราบอย่างรุนแรงด้วยอาวุธโดยตำรวจและกลุ่มฝ่ายขวา เช่น ขบวนการนวพล ขบวนการกระทิงแดง และลูกเสือชาวบ้าน ที่ทั้งถูกจัดตั้งและปลุกระดมจากหน่วยงานรัฐ หนังสือพิมพ์ และสถานีวิทยุของทหารในนามของการพิทักษ์ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อาชญากรรมโดยรัฐที่เกิดขึ้นในกลางเมืองเมื่อ 45 ปีก่อน พรากชีวิตประชาชนไปอย่างน้อย 41 คน ซึ่งมีอีกจำนวนมากที่สูญหายและไม่ทราบชื่อ ผู้ชุมนุมหลายคนถูกจับกุมและต้องหลบหนีเข้าป่า

ความยุติธรรมไม่เคยเกิดขึ้นกับผู้สูญเสียในเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ก่อการสังหารหมู่ในวันนั้นไม่เคยต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด ในปี 2521 รัฐบาลนิรโทษกรรมนักโทษจากกรณี 6 ตุลา รวมถึงผู้ก่อเหตุทั้งหมด พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น กล่าวว่า “แล้วก็ให้แล้วกันไป ลืมมันเสียเถิดนะ” ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แม้จะมีภาพหลักฐานจำนวนมากที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก รัฐบาลไม่เคยยอมรับอาชญากรรมโดยรัฐครั้งนี้อย่างเป็นทางการ ไม่เคยมีการขอโทษต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ ไม่เคยเหลียวแลหรือชดเชยความเสียหายแก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด และไม่มีการพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคมในหนังสือเรียนให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาอย่างจริงจัง

Advertisement

องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอประณามอาชญากรรมและความรุนแรงโดยรัฐเช่นนี้ และมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้

ประการแรก รัฐบาลไทยต้องยอมรับผิดและออกมาขอโทษต่อสาธารณชนในกรณี 6 ตุลาคม

ประการที่สอง รัฐบาลไทยต้องริเริ่มกระบวนการยุติธรรมขึ้นใหม่อีกครั้ง ชดเชยให้กับครอบครัวผู้สูญเสียทั้งหมดตามที่สามารถจะทำได้ และปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคงที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งหมด

Advertisement

ประการที่สาม กระทรวงศึกษาธิการต้องบรรจุเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม เข้าไปในหลักสูตรและหนังสือเรียนมากขึ้นอย่างเป็นระบบ

รัฐบาลไทยจำเป็นต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความรุนแรงในอดีต เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยในปัจจุบันที่รัฐบาลยังคงใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional justice) ต่อไป

ด้วยความเคารพ “ในความเป็นมนุษย์”

#6ตุลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image