กลุ่มแคร์ฉายความทรงจำ ‘สหายจรัส’ จาก 14 ตุลา 16 สู่ 6 ตุลา 19 นาทีละทิ้งชีวิต น.ศ.แพทย์ ก่อนเป็นนักสู้ในป่า

กลุ่มแคร์ฉายความทรงจำ ‘สหายจรัส’ จาก 14 ตุลา 16 สู่ 6 ตุลา 19 นาทีละทิ้งชีวิต น.ศ.แพทย์ ก่อนเป็นนักสู้ในป่า

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม กลุ่มแคร์ เผยถึงความทรงจำเมื่อครั้งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ของ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช หรือ สหายจัรส อดีตรองนายกรัฐมนตรี และผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มแคร์ โดยระบุว่า จากเด็กเรียน เด็กกิจกรรม สู่นักสู้ในป่าใหญ่ : 14 ตุลา ความทรงจำจากปากของ “สหายจรัส-นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช”

“เช้าวันที่ 14 ตุลาคม 2516 มันเริ่มยิงกันตั้งแต่เช้าเลย ผมเห็นมีเฮลิคอปเตอร์บินต่ำลงมา แล้วเริ่มกราดปืนกลยิงใส่คนที่สนามหลวง ตอนนั้นผมกำลังจะมุ่งหน้าไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำอะไรไม่ได้ ในใจคิดเพียงแค่ว่าคงมีแค่ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองที่เดียวที่พวกนั้นไม่น่าจะกล้ายิง ผมเลยตัดสินใจวิ่งหลบกระสุนเข้าไปในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองรอจนสิ้นเสียงปืนแล้วค่อยๆ เดินออกมา

“ตอนนั้นผมไปกับเพื่อน 2 คน ก็คิดกันว่ามันเข้าไปไม่ได้แล้วในการชุมนุม เพราะสภาพมันชุลมุนมาก มันเหมือนอยู่กลางสนามรบเลยตัดสินใจออกมากลับมานั่งเครียดกันอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ รามาฯ ในคืนวันนั้น (14-15 ตุลา) มันล้อมปราบทำประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก วันนั้นผมตัดสินใจไม่ได้กลับบ้าน แต่เข้าไปเป็นอาสาสมัครอยู่ที่โรงพยาบาลรามาฯ เพราะตอนนั้นถ้ามีคนเจ็บเขาจะส่งมาที่โรงพยาบาลรามาฯ ผมก็อาสาช่วยเขาตอนนั้น ไปบริจาคเลือด ช่วยรับบริจาคเงิน เป็นอาสาเฝ้าระวังทหารที่จะบุกเข้ามาจับผู้บาดเจ็บ คือต้องบอกว่าทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้

“ตอนนั้นมันอยู่ในสภาวะที่เครียดมาก มันผวาไปหมด ผมช่วยเขาอยู่ 2 วันที่ไม่เข้าบ้าน กลับเข้าบ้านไปอีกทีวันที่ 16 ตุลา นอนแทบไม่ได้เลย ได้ยินเสียงรถหวอ เสียงรถโรงพยาบาลมาที สะดุ้งตลอด คือมันเครียดไปหมด มันทำไรไม่ได้ มันกลัวเสียงรถหวอไปหมด แต่ถ้าถามว่า ‘ผมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้อย่างไร’ ต้องเล่าย้อนไปตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่สวนกุหลาบ แต่จริงๆ แล้วในเหตุการณ์นี้ผมต้องบอกว่าผมเป็นเพียงผู้ร่วมเหตุการณ์ และก็ได้เข้าไปช่วยเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือเขานิดๆ หน่อยๆ แค่นั้น ไม่ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มจัดตั้งขบวนการอะไร

Advertisement

“เพราะตอนนั้นผมเพิ่งอยู่ปี 1 แพทย์มหิดล เราก็ไม่ได้คิดอะไร ก็ตั้งใจจะเรียนให้ดีกับเล่นกีฬาเป็นหลัก แต่สุดท้ายก็จับพลัดจับผลูได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการในเหตุการณ์หลัง 14 ตุลาคม 2516 จนเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แล้วก็หนีเข้าป่าหลังเหตุการณ์ล้อมปราบ

“ทีนี้ย้อนกลับไปตอนที่ผมเรียนอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบ มันมีบรรยากาศทั้งภายในโรงเรียนและภายนอกโรงเรียนหลายๆ อย่างที่ทำให้พวกเราเริ่มตั้งคำถามต่อสังคม ตั้งคำถามกับสภาพที่มันเป็นอยู่ และทำให้พวกเราได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้ทางการเมือง

“โรงเรียนสวนกุหลาบคือมันเป็นโรงเรียนรัฐแห่งแรกในประเทศไทยที่มีนักเรียนจากหลากหลายพื้นเพเข้ามาเรียนด้วยกัน สวนกุหลาบคือพูดง่ายๆ เป็นโรงเรียนตั้งแต่ลูกเด็กวัดยันลูกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นมันทำให้ผมเห็นอะไรเยอะ รู้ชีวิตเยอะ เนวิน ชิดชอบ จาตุรนต์ ฉายแสง คำนูญ สิทธิสมาน ธีรยุทธ์ บุญมี สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ธงชัย วินิจกุล อากู๋แกรมมี่ ลูกพ่อค้า ลูกข้าราชการทั้งนั้น

Advertisement

“การเรียนการสอนก็ไม่ได้มาจ้ำจี้จ้ำไชอะไรเหมือนทุกวันนี้ คะแนนเข้าห้องไม่มีนะ ครูเขาก็ปล่อยเลย ให้เรียนรู้นอกห้องเรียน แต่ยังไงก็ต้องสอบให้ผ่าน คือจริงๆ พวกครูในโรงเรียนเขาก็พอรู้ว่าเด็กกลุ่มนี้ค่อนข้างจะเรียนดี ก็เลยปล่อยให้เด็กไปเรียนรู้เอาภายนอก ผมกับเพื่อนชอบไปเข้าห้องสมุดบริติช เคานซิล สมัยนั้นอยู่ตรงสะพานพุทธยอดฟ้า ตอนนั้นเข้าไปแล้วรู้สึกเท่มากเพราะหนังสือเป็นภาษาอังกฤษหมด บางเล่มอ่านไม่รู้เรื่องอาศัยดูแต่รูปเอา หรือบางครั้งเราต้องทำโครงงานส่งอาจารย์ อย่างโครงงานวิทยาศาสตร์ บางครั้งเราก็ไปปรึกษาอาจารย์ที่จุฬาฯเลย หรืออย่างวิชาคณิตศาสตร์แคลคูลัส

“ผมอยู่ ม.ศ.3 ผมก็แอบไปนั่งเรียนกับพี่ๆ ที่ธรรมศาสตร์ หรืออย่างวิชาภาษาไทยเราก็ได้หัดทำหนังสือกัน สมัยนั้นทำกันตั้งแต่หาสปอนเซอร์ยันเข้าโรงพิมพ์ตีพิมพ์ ผมกับเพื่อนๆ เป็นเด็กมัธยม อยู่แก้หนังสือกันที่โรงพิมพ์กันยันห้าทุ่มเที่ยงคืน คือบรรยากาศการเรียนการสอนแบบนี้มันทำให้พวกเราได้เรียนรู้อะไรที่มากกว่าในห้องเรียน คือตอนนั้นมันมีกิจกรรมมาก มีชมรมเยอะแยะ เริ่มมีกิจกรรมเชื่อมระหว่างโรงเรียน 30 กว่าโรงเรียน ปีที่ผมเข้าสวนกุหลาบปีแรก ปีนั้นประธานวิชาการคือธีรยุทธ์ บุญมี มีการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์สัมพันธ์ แล้วก็มีสังคมศาสตร์นิทัศน์จัดเชื่อมกัน มีการจัดนำเสนอผลงานต่างๆ มากมาย

“ช่วงนี้มันก็เริ่มเปิดกว้างในทางการเมือง คือผมต้องบอกว่าผมโตมากับระบอบเผด็จการ ผมเกิดในปี 2497 แล้วเราก็ไม่มีรัฐธรรมนูญ อยู่ภายใต้เผด็จการมานานมาก สิ่งที่ผมรับรู้คือมันมีบรรยากาศของความรุนแรง มีการจับข้อหาคอมมิวนิสต์แล้ว สิ่งที่เผด็จการตอนนั้นชอบทำคือเขาชอบเด็ดขาด สั่งจับ สั่งยิง คนไปทั่ว

“จนกระทั่งตอนนั้นผมอยู่ ม.ศ.2 ปี 2512 ตอนนั้นผมอายุ 15 ปี เป็นครั้งแรกที่มีการเลือกตั้ง เราตื่นเต้นกันมากทั้งๆ ที่ก็ไม่มีสิทธิ ชวน หลีกภัย เสนาะ เทียนทอง ก็เป็น ได้เป็น ส.ส.สมัยแรกกันในการเลือกตั้งครั้งนี้ รวมถึงพ่อของจาตุรนต์ ฉายแสง จนเพื่อนๆ เรียกกันว่า ‘ไอ้ ส.ส.ๆ’ จนในที่สุดจาตุรนต์ก็มาได้เป็น ส.ส.ตัวจริงในปี 2529

“บรรยากาศการเลือกตั้งตอนนั้นพวกเราตื่นเต้นกันมากจริงๆ คือต้องบอกว่าเราไม่มีการเลือกตั้งมานานกว่า 12 ปี แต่ภายหลังการเลือกตั้งได้ 2 ปี พ.ศ.2514 ถนอม กิติขจร ก็ทำรัฐประหารตัวเอง คือบรรยากาศนี้มันทำให้เราเกิดคำถามในใจว่า ‘อะไรวะ เพิ่งเลือกตั้งได้แค่ 2 ปี ทำไมรัฐประหารอีกแล้ว’ ตอนนั้นผมอยู่ ม.ศ.5 เริ่มมีการชุมนุมต่อสู้ต่างๆ กับการลุแก่อำนาจ ความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม เริ่มมีการเขียนหนังสือวิจารณ์ ณรงค์ กิตติขจร มีอำนาจและกร่างมาก ทะเลาะกับตำรวจ ยกป้อมตำรวจทิ้งได้เลย แล้ววันหนึ่งก็มีเหตุการณ์ที่เฮลิคอปเตอร์ตก

“ผลคือซากกระทิงที่ล่ามาจากทุ่งใหญ่นเรศวร มีดาราสาวไปด้วยตอนนั้น แล้วพอมีการต่อต้านของนักศึกษากลุ่มนักศึกษาก็โดนไล่ออก 9 คน จากมหาวิทยาลัย แต่นักศึกษาไม่ยอม เขาก็มากดดันไล่อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงออก แล้วในสภาวะการเมืองที่ถูกกด ก็เริ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ อย่างธีรยุทธ์ก็เข้าเป็นเลขาศูนย์กลางนักศึกษาแห่งประเทศไทย เริ่มจากเคลื่อนไหวต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น แล้วก็ส่งเสริมสินค้าไทยคือเรื่องผ้าดิบ

“ตอนนั้นผมเป็นประธานนักเรียน ธีรยุทธ์มาชวนผมตั้งศูนย์นักเรียน เรียกพวกผมกับโรงเรียนดังๆ ไปคุยกับที่ศาลาพระเกี้ยว ตอนนั้นพวกเราไม่มีใครเอาด้วย เพราะปีนั้นจะเอนทรานซ์ แล้วคือสมัยนั้นมันไม่ใช่เอนทรานซ์ธรรมดา พวกเรามันนักเรียนห้องคิง มันต้องแบบคะแนนต้องท็อป เขามาตั้งศูนย์นักเรียนได้ในอีกปีถัดมา เลขาธิการศูนย์ฯ หนึ่งในนั้นมีธงชัย วินิจกุล คือบรรยากาศต่างๆ เหล่านี้ ตั้งแต่ภายในโรงเรียนและการเมืองนอกโรงเรียน รวมถึงกระแสที่ถูกกดจากอำนาจเผด็จการ มันเลยทำให้เราต้องต่อสู้

“ทีนี่ตอนผมเข้าปี 1 ที่มหิดล ผมก็กะวางมือ กะจะเรียนให้สุดๆ กับเล่นกีฬา ไม่อยากยุ่งกับใครแล้ว แต่ก็เริ่มมีการประท้วงหลายเรื่องนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เรียกร้องเรื่องรัฐธรรมนูญ เราก็ตามข่าวเฉยๆ ไม่ได้เข้าไปเกี่ยว ก็มีเพื่อนกลุ่มหนึ่ง มี จิ้น กรรมาชน นพพร ยศฐา เป็นคนลำปาง เป็นคนร่วมกันแต่งกลอน เปิดวงดนตรี ร่วมกับแต่งเพลง ‘กรรมาชน’ ‘เพื่อมวลชน’ นั่งอยู่ข้างหลังห้อง คือพวกผมเป็นพวกเข้าเรียนสาย ห้องเรียนพวกผมเป็นห้องเรียนใหญ่ 2-3 ร้อยคน พวกนี้ก็ไปนั่งแต่งเพลงอยู่หลังห้อง อาจารย์ก็ไม่รู้ไม่ได้ยิน

“บรรยากาศตอนนั้นช่วงที่ผมเข้าเรียนมหิดลเป็นช่วงที่มันคร่อมระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลา กับ 6 ตุลา คือตอนปี 14 ตุลา 2516 ผมอยู่ปี 1 แล้วก็ 6 ตุลา 2519 นี่ผมอยู่ปี 4 วันนั้นพอสอบเสร็จเรายังไม่รู้เรื่องเลย แต่ธรรมศาสตร์ก็เริ่มสู้แล้ว เป็นวันที่ชักธงดำ ตัดสายไฟลิฟต์ออก ห้องสอบเอาปูนปลาสเตอร์อัดเข้าไปในรูกุญแจ คือตอนนั้นมันมีเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญก่อน แต่โดนกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ โดนจับ 13 คน

“อ.นพพร สุวรรณพาณิชย์ นักการเมือง อุทัย พิมพ์ใจชน พวกนี้ก็โดนจับไป ตอนนั้นนักศึกษาก็คิดกันว่าถ้าพวกเราไม่ทำอะไรมันคงมาจับกูแน่ๆ ก็เริ่มซัดเลย ตั้งการชุมนุมเลย ร่วมกลุ่มกันเลย ด้วยวิธีงดสอบต่างๆ ช่วยกันหลายคนหลายฝ่าย แล้วหลังจากนั้นมหิดลก็ไปร่วมกับเขา ตอนนั้นสอบเสร็จผมก็มีจัดโปรแกรมไปเที่ยวระยองกันทั้งคณะ ไอ้จิ้นกับนพพร 4-5 คนไปชุมนุมค้างคืนมา กลับมา ด่าผมใหญ่เลย ‘นี่ประชาชนทำเพื่อประเทศ พวกคุณจะมัวแต่ไปเที่ยวอะไร’

“แล้วผมคือประธานจัดแล้วก็มีกรรมการจัดเขาก็เห็นด้วยกับจิ้น แต่ผมก็ไม่รู้จะทำยังไงเพราะรับผิดชอบคนทั้งคณะ จัดไปแล้วรถทัวร์ตั้ง 3-4 คัน แล้วติดต่อรถนำขบวนอะไรเรียบร้อยไว้หมดแล้วก็เลยต้องไปกับเขา

“กลับมาวันที่ 13 เราก็ไม่ได้ไปชุมนุมอะไรกับเขา วันที่ 14 ตุลาคม วันนั้นผมไปเรียน รด. แต่งชุดทหารอยู่เลย ก็เริ่มมีเหตุการณ์ แต่วันนั้นก็หยุดเรียนกันหมดเพราะทหารมา ก็ไม่รู้จะทำยังไงแตกกันไปหมดแล้ว ผมเลยตัดสินใจไปเปลี่ยนเสื้อผ้าที่บ้านเพื่อนแล้วไปร่วมชุมนุมไปกันกับเพื่อน 2 คน ตอนนั้นกำลังยิงเลยเหมือนสนามรบเลย ผมก็เข้าไปร่วมชุมนุมไม่ได้ก็เลยต้องกลับไปนั่งเครียดกันที่คณะวิทยาศาสตร์ แล้วก็ได้ร่วมเป็น อาสาสมัครช่วยคนเจ็บที่โรงพยาบาลรามาฯ

“คือหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งตอนนั้นผมไม่ได้คิดจะเข้ามายุ่งเกี่ยวเลย ต้องการเพียงแค่อยากเรียนให้ดีแล้วก็คู่กับไปกลับเล่นกีฬาเฉยๆ เหตุการณ์นี้มันเลยทำให้ผมได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการนักศึกษาในยุคต่อมา จนนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

“ตอนนั้นผมช่วยขบวนการนักศึกษาเต็มตัว เรียนก็เริ่มไม่ค่อยเรียนเท่าไหร่แล้ว เพราะไปทำแต่กิจกรรมกับขบวนการนักศึกษา ก็ยังดีมีเพื่อนคนหนึ่งช่วยติวให้ ปัจจุบันคือแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ช่วยติวแล้วก็ให้ยืมเลคเชอร์อ่าน จนมันมีการล้อมปราบนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขณะที่เขายิงกันผมก็โทรไปที่โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาฯ เพื่อขอรถพยาบาลมาช่วยคนเจ็บ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ

“ผมถูกถามจากปลายสายว่า ‘คุณเป็นใคร’ ผมก็บอกว่าผมเป็นศึกษาแพทย์ปี 4 ชื่อนี้ชื่อนี้ ผู้อำนวยการมารับสาย อาจารย์ผมเองทั้งนั้นผมรู้ ผมก็บอกไปว่าเรากำลังโดนอาวุธหนักโดยที่เรามือเปล่า เขาบอกพวกคุณก็มีอาวุธหนัก ซึ่งผมฟังแล้วผมถึงกับน้ำตาไหล

“จากเหตุการณ์ครั้งนี้กับชีวิตวัยเรียนของผมที่มันอยู่คร่อมระหว่าง 2 เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองและสำคัญที่สุดในชีวิตผม มันทำให้ผมตัดสินใจละทิ้งชีวิตนักศึกษาแพทย์ในเมือง ไปใช้ชีวิตเป็นทหารในป่าอยู่หลายปีต่อมา…”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image