‘เจษฎ์’ โต้ ‘วิษณุ’ ระบุ ‘บิ๊กตู่’ มีอำนาจยื่นศาลตีความแก้ รธน. เหตุหลายมาตราเชื่อมโยงกัน แต่ไม่ทำเอง

‘ดร.เจษฎ์’ โต้ ‘วิษณุ’ ระบุ ‘บิ๊กตู่’ มีอำนาจยื่นศาลตีความแก้ รธน. เหตุหลายมาตราเชื่อมโยงกัน แต่ไม่ทำเอง ย้ำจุดยืนข้อบังคับรัฐสภา 124 แก้ รธน.ได้ทั้งฉบับ

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม นายเจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมายและอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่านายกฯไม่มีอำนาจยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 148 เพราะมาตราดังกล่าวเป็นการยื่นตีความพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ไม่ได้ใช้กับการยื่นตีความร่างแก้รัฐธรรมนูญว่า คิดว่าไม่น่าจะใช่ เพราะกฎหมายมีความเชื่อมโยงกันทั้งมาตรา 256 (7) มาตรา 81 มาตรา 145 จนถึงมาตรา 148 แต่เมื่อระยะเวลาเลยมาครบกำหนดแล้ว ไม่มี ส.ส.หรือ ส.ว.ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทางนายกฯต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯตามขั้นตอน

นายเจษฎ์กล่าวว่า จากนี้ก็ต้องไปรอดูการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ซึ่งการแก้ไขตรงนั้นก็อาจขัดรัฐธรรมนูญขึ้นมาก็ได้ เพราะอาจไปเขียนเกินจากที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญก็ได้ โดยแนวโน้มความเป็นไปได้สูงที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจะขัดรัฐธรรมนูญ สำหรับตนมองว่าการดำเนินการที่ผ่านมาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราครั้งนี้ขัดรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้นที่มีการนำข้อบังคับรัฐสภาข้อที่ 124 มาใช้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จะไปนำข้อบังคับรัฐสภามาแก้ไขแบบนี้หรือแบบนั้นไม่ได้ มีแต่เพียงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่จะใช้แก้รัฐธรรมนูญเอง

“ผมมองว่ามันผิดมาตั้งแต่ต้น และเรื่องนี้เทียบกันได้กับการปฏิวัติรัฐประหารที่ไม่มีกลไกไปจัดการ โดยเขาใช้วิธีนำบทบัญญัติของกฎหมายโดยเป็นกฎหมายที่มิชอบ แต่กลับไม่มีช่องทางดำเนินการโดยชอบของกฎหมายในการจัดการ ช่องนี้คือเปิดให้สำหรับประชาชนทั้งหลาย มันเป็นมาตั้งแต่สมัยกรีกโรมันแล้วว่าถ้ามีกฎหมายที่มิชอบ ประชาชนต้องลุกขึ้นต่อสู้ จึงเป็นเหตุให้รัฐธรรมนูญทุกฉบับเปิดช่องให้ประชาชนสามารถชุมนุมได้ตามกฎหมายด้วยความสงบและปราศจากอาวุธ เพราะอาจมีกรณีที่กฎหมายที่ควรจะออกภายใต้ความยินยอมของประชาชนกลับไปทำร้ายและลิดรอนสิทธิของประชาชนโดยไม่มีทางอื่นใดที่จะเยียวยา

“มันจึงเป็นเหตุที่หลายประเทศชุมนุม และประเทศไทยก็มีการชุมนุมหลายครั้ง จึงเป็นช่องที่สามารถดำเนินการได้ แต่คนที่ควรดำเนินการกลับไม่ทำ แล้วบ่อยครั้งก็อ้างกฎหมายว่าไม่ให้ทำ กลายเป็นว่าอำนาจไปอยู่ในมือของผู้แทน ตัวเจ้าของอำนาจหรือตัวการกลับไม่สามารถทำอะไรได้ บ่อยครั้งจึงต้องมีการเรียกร้องสิทธิคืน ไม่ได้แปลว่าใครอยากจะชุมนุมอะไรก็ชุมนุมได้ แต่ถ้ามีเหตุทำให้ประชาชนไม่สามารถทำอะไรได้จริงๆ บ่อยครั้งเขาจึงต้องเรียกร้องสิทธิคืน” นายเจษฎ์กล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่ากรณีที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรานั้น นายเจษฎ์กล่าวว่า เรื่องนี้จะลำบาก เพราะประชาชนต้องอ้างว่าไปละเมิดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งตามมาตรา 213 หากศาลพิจารณาว่าขัดรัฐธรรมนูญและเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจริง อันนี้ก็จะเป็นช่องทางหนึ่ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับศาลจะพิจารณา เป็นคนละเกมที่ต้องดูกันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image