‘สินธุ์สวัสดิ์’ เปิดกล่องฟ้าสาง ย้อนพลังขบวนการ น.ศ.-ประชาชน ยุคตุลา 2516-2519

‘สินธุ์สวัสดิ์’ เปิดกล่องฟ้าสาง ย้อนพลังขบวนการ น.ศ.-ประชาชน ยุคตุลา 2516-2519

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 6 ตุลาคม ในวาระครบรอบ 45 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แฟนเพจ ศิลปะนานาพันธุ์ จัดเสวนาออนไลน์เรื่อง “จากพยานเหตุการณ์สู่ผู้ขุดคุ้ยประวัติศาสตร์ เมื่อเขม่าปืนไม่อาจกลืนความจริง” โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ตามลำดับเหตุการณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงที่ 1 “จากพยานเหตุการณ์สู่ผู้ขุดคุ้ยประวัติศาสตร์ศาสตร์” นายสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ศิลปินอาวุโส เจ้าของรางวัลศรีบูรพา 2562 และผู้ก่อตั้งรางวัลมนัสเศียรสิงห์ “แดง” ร่วมเปิดกล่องฟ้าสาง และพูดคุยกับทีมงานกล่องบันทึกเหตุการณ์ “5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง”

นายสินธุ์สวัสดิ์กล่าวว่า ในวาระครบรอบ 45 ปี ไปธรรมศาสตร์มีความรู้สึกดีๆ หลายอย่าง การเห็นเพื่อนใหม่เป็นเรื่องปกติ แต่การเห็นคนรุ่นใหม่ เหมือนเป็นการเติมชีวิต ย้อนไปก่อน 45 ปีก่อน เมื่อปี 2515 เราสนใจปัญหาสังคม การเมืองเนื่องจากยุคสมัย ไม่เฉพาะประเทศไทย แต่เป็นเรื่องคนหนุ่มสาวทั่วโลกที่ตื่นตัวสนใจปัญหาการเมือง ที่กระทบที่สุดคือการที่ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร เป็นศิษย์เก่า ร.ร.สวนกุหลาบ มีความคิดริเริ่มทำสมาคมสวนกุหลาบ จะเอาพื้นที่ของเพาะช่าง และให้เราย้ายไปที่อื่น คือจุดที่ทำให้ตื่นตัวทางการเมือง ลุกขึ้นมาต่อต้าน จากนั้นเห็นรุ่นพี่เอางานที่สรัฐอเมริกาเข้ามาแสดง ซึ่งต่างจากไทยมาก พูดถึงปัญหาสังคม การลุกขึ้นของคนหนุ่มสาวทั่วโลก คือแรงกระแทกให้ต้องสนใจปัญหาบ้านเมือง โดยศิษย์เอกของจิตร ภูมิศักดิ์ ทำให้รู้จักคำว่า ‘ศิลปะเพื่อชีวิต’ นับแต่นั้น

“ในปี 2516 มีการเรียกร้องให้ปล่อยการจับกุมนักศึกษา ทุ่งใหญ่นเรศวร เราได้ไปร่วมทำโปสเตอร์ คัตเอาต์ เขียนการ์ตูน จนเหตุการณ์คลี่คลาย 13 ตุลาคม ด้วยความที่ซึมซับ ม.ธรรมศาสตร์ เดินผ่านทุกวัน เช้าวันที่ 13 ตุลาคม ขณะเดินมาที่เพาะช่างได้ยินเสียงไมโครโฟนดังมาก จาก มธ.ท่าพระจันทร์ เห็นชายร่างใหญ่ใส่หมวกยืนไฮด์ปาร์ก คือคุณสมาน จากนั้นไปเข้าร่วมและผูกพันมาเรื่อยๆ

Advertisement

“เหตุการณ์วันที่ 13 ตุลา เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มรักษาความปลอดภัย ‘กนก 50’ มีการเถียงกันอย่างรุนแรง ระหว่างตัวแทนนักศึกษาส่วนกลางกับต่างจังหวัดไม่ยอมแยกย้ายกลับบ้าน ขณะเถียงกันและแจกส้มอยู่ก็เริ่มซัดกันปังๆ อาชีวะดันมา คนตกน้ำตกท่า เข้าไปในเขาดินสู้กับตำรวจ ตำรวจยิงแก๊สน้ำตามาเรื่อยๆ เราสู้ไม่ได้เพราะมือเปล่า ก็เอาของจากเขาดิน เขวี้ยงไปหาตำรวจ จนสู้ไม่ไหว และได้เข้าไปในสวนจิตรลดา ซึ่งตำรวจคงนึกว่าส้มที่แจกคือระเบิด

“พานแว่นฟ้า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ครั้งหนึ่งเคยมีเลือดเนื้อจิตวิญญาณจริงๆ นักศึกษาก็แค่หมากตัวหนึ่งของเหตุการณ์ความขัดแย้งของผู้มีอำนาจหลายฝ่าย แล้วอาศัยความสุกงอมของสถานการณ์ ใครสำเร็จก็ชนะไป ผลสำเร็จจะเห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งออกไป อีกฝ่ายจะมีความมั่นคงมากขึ้น 14 ตุลา เป็นชัยชนะของประชาชน ต้องมองในมุมกลับว่าชนะท่ามกลางการถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อรองอะไรหรือไม่” นายสินธุ์สวัสดิ์กล่าว

เมื่อถามถึงความต่อเนื่องของเหตุการณ์จาก 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519?

นายสินธุ์สวัสดิ์กล่าวว่า คนตื่นตัวมากขึ้น แม้กระทั่งวัฒนธรรมการอ่าน ศิลปะ เพลง งานศิลปะงอกเงยไม่แม้แต่ประเทศไทย แต่งอกงามทั่วโลก โดยเฉพาะวัฒนธรรมแบบบุปผาชน เพลงที่กินใจ ภาพยนต์ที่มีควาหมายลึกซึ้ง โปสเตอร์ ดารา มีผลไม่ทางตรงก็ทางอ้อม มีคุณค่ามากในการถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน ขณะเดียวกัน ฝ่ายคู่ขนานก็เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อหอประชุมใหญ่ มธ.สร้างเสร็จ เกิดความตื่นตัวเป็นระลอก

“ก่อน 14 ตุลา หนังสือพิมพ์ของสหรัฐจะขึ้นชื่อผู้นำในรัฐบาลทหาร ค้ายาเสพติด แม้จะมีอำนาจในเมืองไทย แต่ต่างประเทศไทยใช่ อำนาจขัดแย้งมากมาย ในขณะที่ขบวนการนักศึกษาเติบโต โดยเฉพาะชมรมอิสระที่มีส่วนทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในขบวนการนักศึกษา กล่าวอย่างง่ายคือ ‘ความตื่นตัว ก้าวหน้าของนักศึกษา มากกว่าอำนาจรัฐ’ หนังสือพิมพ์ทุกฉบับเชียร์นักศึกษาหมด ทุกอย่างค่อนข้างมีศัตรูร่วมกันคืออำนาจรัฐ” นายสินธุ์สวัสดิ์กล่าว และว่า

เมื่อจับผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ 6 ตุลาคม 2516 ก็มีการลุกขึ้นมาเรียกร้อง นำโดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ก็มีการจับตาการเคลื่อนไหวนี้ เป็นการใช้โอกาส จากนั้นเป็นความร่วมมือระหว่างสหรัฐและรัฐบาล แล้วเกิดความวุ่นวายมากขึ้น ความขัดแย้งมีทุกภาคส่วน แม้กระทั่งขบวนการนักศึกษาเอง อย่างศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และกลุ่มอิสระ ที่ตอนหลังแยกออกไปเป็นสหพันธุ์นักศึกษาเสรี ซึ่งขบวนจะอิงแอบกับประชาชน

จากนั้น นายสินธุ์สวัสดิ์เล่าถึงปัญหาที่ทำให้นักศึกาาอาชีวะ เกิดการแยกจากขบวนการนักศึกษาไปตั้งกลุ่มฝ่ายตรงข้าม คือกลุ่มกระทิงแดง จนสุดท้ายกลายเป็นบทเรียน

“ศนท.เองก็มีความพยายามปรับตัว ซึ่งระหว่างทางนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ก็พยายามช่วงชิงการนำ 3 กรกฎาคม 2517 มีคนขับแท็กซี่ชื่อ ‘พูน ล่ำลือประเสริฐ’ มีปากเสียงกับตำรวจในพื้นที่ ย่านโรงหนังเฉลิมกรุง จึงมีการตะโกนว่า ‘ตำรวจทำร้ายประชาชน’ ประชาชนที่ออกมาจากโรงหนังก็ไม่ยอม ตะโกนให้ปล่อย เดินตามไปจนถึงพลับพลาไชย เกิดกรณีจะยึดโรงพักคืน จนต้องเกิดภาวะฉุกเฉิน ประชาชนสู้กันเอง ไม่มีแกนนำ ทั้งลูกจ้าง โรงนำแข็ง บริสุทธิ์มาก และตายเป็นเบือ บาดเจ็บ 40 กว่า ตายเกือบ 30 คน คือเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เห็นว่า คนยังตื่นตัวกันสูง

“ต้นปีมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และพิธีพระราชทานเพลิงศพวีรชน 14 ตุลา ขณะเดียวกันอีกฝั่งเริ่มใส่ร้ายขบวนการนักศึกษา ขณะเดียวกันนักศึกษาประกาศตัว 3 ประสาน มี ‘นักศึกษา ชาวนา กรรมกร’ เกิดขึ้น คนมาสนามหลวงมืดฟ้ามัวดิน ส่วนหนึ่งไม่เข้าธรรมศาสตร์ เพราะถูกทำให้เชื่อว่า น.ศ.ใน ม.ธรรมศาสตร์มีแนวโน้มเอียงไปฝ่ายซ้ายจริง ซึ่งตอนเคลื่อนกระดูวีรชน ประทับใจมาก เพราะไม่เคยเกิด ทุกคนร้องเพลงนกสีเหลืองเต็มถนนราชดำเนิน มาทำพิธีทางการที่ท้องสนามหลวง” นายสินธุ์สวัสดิ์กล่าว

นายสินธุ์สวัสดิ์กล่าวอีกว่า ความรู้สึกร่วมของประชาชนในระยะหนึ่งยังมีอยู่ ในเดือนกันยายนมีการจัดตั้ง สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ จนปลายปี 2518 ถนอม กิตติขจร กลับเมืองไทย ม็อบขึ้นที่ ม.ธรรมศาสตร์ มีการประกาศในที่ชุมนุมว่ากลุ่มตรงข้ามคือกลุ่มกระทิงแดง และทำการข่มขู่ขบวนการ เริ่มมีเสียงประทัดโยนมาสนามฟุตบอล ด้วยความไร้เดียงสาของขบวนก็วิ่งหนีกันหมด แต่ขบวนประชาชนเรียนรู้ และเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาต่อมา

จากนั้นนายสินธุ์สวัสดิ์เปิด “กล่องฟ้าสาง” โดยหยิบรูปภาพประวัติศาสตร์ขึ้นมาเล่าทีละชิ้น อาทิ เล่าถึงตอนหนึ่งที่เดินถือเข่งรับบริจาค โดยประชาชนโยนของและเงินให้จนเต็มเข่ง มีทีมนักศึกษาเข้าไปพูด อธิบายเป็นเหตุเป็นผลกับชาวบ้าน ข้าวผัดมีเป็นหมื่นๆ ห่อ ซึ่งตนไม่รู้สั่งกันอย่างไร ไปจนถึงการเคยทำครัว ใต้ถุนตึกนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เป็นโรงครัวหามรุ่งหามค่ำ พร้อมทั้งแนะนำว่าไม่ควรทำอีก เพราะเหนื่อยมาก แต่อานิสงส์ของการสั่งข้าวกล่องทำให้ร้านร่ำรวย และมีบุญคุณต่อกัน

นายสินธุ์สวัสดิ์กล่าวต่อว่า คิดถึง นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ที่ทำเรื่อง ’30 บาทรักษาทุกโรค’ คือคนหนี่งของคนเดือนตุลาที่มีจิตใจดี รักความสงบอย่างแท้จริง และเป็นส่วนสำคัญในการจัดงาน 20 ปี 6 ตุลาให้เกิดขึ้นได้

“เราต้องชัดเจนในจุดยืน ไม่อย่างนั้นจะตอบคนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์อย่างไร ผมย้อนนึกถึงวันคืนเก่าๆ นึกถึงเพื่อน ถ้าเขายืนตรงนี้ เขาจะรู้สึกอย่างไร ผู้หญิง กรรมกรหญิง ยืนเกี่ยวแขนสู้อำนาจรัฐ การลุกขึ้นสู้ของคนหนุ่มสาวเพื่อชีวิตที่ดีกว่า และเป็นผลพวงถึงประชาชนจริงๆ เมื่อเห็นภาพก็เกิดอารมณ์ร่วม นึกถึงยุคสมัยที่เกิดขึ้น ทำให้คนรุ่นก่อนๆ ได้เห็น นอกจากการนำเก้าอี้ฟาดศพ ก็เป็นอีกมิติหนึ่ง” นายสินธุ์สวัสดิ์กล่าว

โดย ทีมงานที่ผลิตกล่องฟ้าสางกล่าวเสริมว่า ภาพสุดท้ายทีมงานได้เปลี่ยน จากภาพเก้าอี้ที่นำมาฟาดวีรชน กลายเป็นเก้าอี้มีชีวิต ที่วางตั้งไว้รอให้คนมานั่ง

จากนั้นเวลาประมาณ 14.35 น. เข้าสู่ช่วงที่ 2 เมื่อ… เขม่าปืนไม่อาจกลืนความจริง “ไม่มีอะไรจะหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลา” ร่วมเสวนาโดย นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image