ฝนถล่ม คนไม่ถอย ย้ายปราศรัยเดือดใต้ตึกรำลึกวีรชน ชี้ ‘เฟกนิวส์’ อยู่ในตำราเรียน

ฝนถล่ม คนไม่ถอย ย้ายปราศรัยเดือดใต้ตึกรำลึกวีรชน ชี้ ‘เฟกนิวส์’ อยู่ในตำราเรียน

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศงานรำลึก 45 ปี 6 ตุลาคม 2519 ในช่วงค่ำ ซึ่งมีการย้ายสถานที่จัดไปยังใต้อาคารกิจกรรมนักศึกษา หลังฝนตกลงมาอย่างหนักตั้งแต่เวลา 17.30 น. ระหว่างที่นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ร้องเพลงเพื่อมวลชน โดยมี อั๋ว จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ และกลุ่ม DemHope เป็นคอรัส ขณะที่ลูกนัท ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย ช่วยกางร่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังย้ายเข้าสู่ใต้อาคารกิจกรรมนักศึกษา มีการเล่าประสบการณ์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขณะเป็นนักศึกษา โดย ‘สิริเอื้อ แตระกุล’ แล้วเคารพธงชาติพร้อมชู 3 นิ้ว ตะโกน ‘ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ’

ต่อมา ฝนซาลงตามลำดับ มีการย้ายออกมาจัดกิจกรรมบริเวณหน้าอาคารกิจกรรมนักศึกษา นางสาวชุมาพร แต่งเกลี้ยง หรือวาดดาว แกนนำกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ปราศรัยในหัวข้อ ‘แด่ผู้หญิงเหล่านั้นที่ไม่มีตัวตน’ มีเนื้อหาเกี่ยวกับ แรงงานสตรีที่สไตรค์หยุดงานจนเกิดเป็นยุครุ่งเรืองของสิทธิสตรี ช่วงหลังปี 2516

Advertisement

“หลายคนบอกว่ายุคของสิทธิสตรีรุ่งเรืองเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา บอกได้เลยว่าไม่จริง หลัง 14 ตุลา ปี 16 ยุคของสตรีรุ่งเรืองอย่างยิ่งเกิดจากการที่แรงงานสตรีมากมายรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานสตรี จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครจารึกแรงงานสตรีเหล่านั้นเลย เคยได้ยินไหมว่าสิบปียี่สิบปีที่ผ่านมามีการสไตรค์งานปีละ 300 ครั้ง แต่รู้หรือไม่ว่าหลัง 14 ตุลา มีการสไตรค์งานถึง 380 ครั้ง และการสไตรค์งานมันมาจากแรงงานสตรี ใครจะรู้ว่าปี 2517 มีการสไตรค์งานอีก 357 ครั้ง หนึ่งปีมี 365 วัน แล้วทำไมแรงงานสตรีถึงสไตรค์งานได้ 357 ครั้ง แรงงานสตรีรุ่งเรืองหรือไม่ และแน่นอนปี 2518 มีการสไตรค์งานอีกมากกว่า 250 ครั้ง พวกเราเคยรู้เรื่องเหล่านี้ไหม พวกเราเคยรู้ความรุ่งเรืองของการหยุดงานเพื่อประท้วงนายทุนไหม”

นอกจากนี้นางสาวชุมทพรยังพูดถึงเรื่องของนักศึกษาหญิงหลายคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศและถูกฆ่าในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

นางสาวชุมาพร แต่งเกลี้ยง หรือวาดดาว แกนนำกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก

ต่อมา เวลา 18.40 น. นายเกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ หรือ บิ๊ก สมาชิกสภานักศึกษาธรรมศาสตร์ และสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวปราศรัย

Advertisement

นายเกียรติชัยกล่าวตอนหนึ่งว่า หลังรัฐประหาร ปี พ.ศ.2499 มีการแก้ไขกฎหมาย ม.112 มาเป็น ภัยความมั่นคงของรัฐ ซึ่งการแก้ไขครั้งนี้ทำให้ ม.112 กลายเป็นอาญาแผ่นดิน และใครก็สามารถแจ้งความได้

นายเกียรติชัยยังกล่าวถึงการที่ตำราเรียนมีเพียงประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม ไม่มีประวัติศาสตร์ 16 ตุลาคม

“เฟกนิวส์ที่สุด อยู่ในตำราของกระทรวงศึกษาธิการ ทำร้ายแม้กระทั่งศพ คนที่ตายแล้ว” นายเกียรติชัยกล่าว และว่า ทุกวันนี้ยังมีคนได้ดีจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พร้อมย้ำว่า คนรุ่นใหม่ใจกว้างพอที่จะให้อภัยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคมได้ แต่อย่าจับเรา อย่ายัดคดีเลย เราแค่พูดความจริง หรือถ้าคิดว่าพูดไม่จริง จัดดีเบตได้

“ถ้าคิดว่าทำร้ายแล้วจะชนะเราได้ ผมบอกเลยว่า ไม่มีวันได้สิ่งนั้น ยืนยันครั้งสุดท้าย ในฐานะสภานักศึกษา จะสืบทอดคำนี้ต่อไปว่า รับใช้ประชา คือปลายทางเรา ที่เล่าเรียน แต่สิ่งที่ผู้บริหารม.ธรรมศาสตร์ปัจจุบันทำ ไม่ใช่การรับใช้ประชา” นายเกียรติชัยกล่าว

จากนั้น เวลา 19.02 น. นายธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือ ปูนทะลุฟ้า อ่านแถลงการณ์ 6 ตุลา 2519 โดยร่ายรายชื่อของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทีละราย ก่อนชวนประชาชนร่วมส่งเสียง คืนความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสีย

“ขอให้ยืนหยัดในสิทธิ เสรีภาพ โปรดรู้ว่า เหตุการณ์สังหาร 6 ตุลา จะไม่สูญเปล่า คนทำผิดต้องรับการลงโทษ” นายธนพัฒน์กล่าว

จากนั้น ผู้ชุมนุมร่วมชู 3 นิ้ว ก่อนโปรยกระดาษแถลงการณ์ปลิวว่อน

นายธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือ ปูนทะลุฟ้า
สิริเอื้อ แตระกุล

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image