ชลน่าน ห่วงโรคฉี่หนู จี้สธ.เตือน หวั่นปชช.เอาอย่าง นักการเมืองสร้างภาพ ลุยน้ำไม่ป้องกัน

“หมอชลน่าน” ห่วงโรคฉี่หนูที่มากับน้ำท่วม จี้ สธ.ออกมาตรการเตือนชาวบ้าน หวั่นอันตราย หลังมีนักการเมือง สร้างภาพผิดๆ ลุยน้ำไม่ป้องกัน 

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) โพสข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า ในนามสมาชิกพรรคพท. ภูมิใจในการทำหน้าที่ในนามของพรรคและของนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค และคณะ ส.ส. ไปจนถึงสมาชิกพรรคพท. ทั้งนี้ ตนเป็นห่วงโรคฉี่หนู leptospirosis สธ.เพิกเฉยต่อเรื่องนี้มาก ไม่มีการออกมาตรการเตือนภัย การเฝ้าระวัง การป้องกัน การควบคุมโรค ฝากเตือนชาวบ้านพี่น้องประชาชน ที่สัมผัสน้ำท่วมน้ำขัง 4 – 14 วัน (ส่วนใหญ่ 10 วัน) ถ้ามีอาการ ไข้สูง หนาวสั่น ปวดหัวมาก ปวดกล้ามเนื้อน่อง ต้องรีบไปพบแพทย์และแจ้งแพทย์ด้วยว่ามาจากแหล่งน้ำท่วม แพทย์จะได้วินิจฉัยและรักษาได้ทันที ปล่อยไว้ มารักษาช้า ไตวายเสียชีวิตได้ การลุยน้ำสัมผัสน้ำ ต้องสวมบูท ป้องกันไม่ให้เชื้อเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) ไปเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ทางเท้าเปื่อย หรือมือที่มีเชื้อมาสัมผัสเยื่อบุตา จมูก ปาก รับประทานของปนเปื้อนเชื้อ พวกเราที่ไปลุยน้ำถ้ามีอาการต้องรีบไปพบแพทย์อย่าปล่อยไว้ ไตวายแล้วรักษายากส่วนใหญ่เสียชีวิต

“ขอเรียกร้องไปยังกระทรวงสาธารณสุข ให้รีบออกมาตรการเตือนภัย การปฏิบัติตัวของพี่น้อง เฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค ที่มากับน้ำท่วมขัง เตือนภัยอันตรายผู้ที่ลุยน้ำแช่น้ำเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน จะต้องไม่สร้างภาพสร้างความเข้าใจผิดให้กับพี่น้องประชาชน เห็นนักการเมืองลุยได้ เลยทำตามขาดความระมัดระวังในการป้องกันตนเองไม่ให้สัมผัสกับเชื้อโรค โดยเฉพาะโรคฉี่หนู Leptospirosis เพราะโรคนี้ระบาดในฤดูน้ำท่วมขัง เชื้อออกมาจากปัสสาวะสัตว์ฟันแทะ เช่นหนู ยังพบได้ใน สุนัข วัว ควาย เชื้อจะปนเปื้อนอยู่กับน้ำ ดิน โคลน สิ่งของที่แช่น้ำ เข้าสู่ร่างกายทางตรงจากสัตว์ที่มีเชื้อกัดหรือสัมผัสสัตว์มีเชื้อ ทางอ้อม เชื้อปนเปื้อนเข้าสู่บาดแผล เท้าเปื่อย มือปนเปื้อนเชื้อโรคไปสัมผัส เยื่อบุตา จมูก ปาก กินอาหารที่ปนเปื้อน ระยะฟักตัว ประมาณ 7 – 14 วัน ส่วนใหญ่จะเริ่มอาการ 4 – 14 วัน (พบมากสุด 10 วัน) ถ้ามีอาการต้องรีบวินิจฉัย ให้ยารักษาทันทีอย่าช้าเกิน 4 วัน ถ้าไตวายแล้วรักษาไม่ทันถึงแก่ชีวิตได้

“กระทรวงสาธารณสุข อาจพิจารณามาตรการให้การรักษาแบบป้องกันล่วงหน้า Prophylaxis treatment เพื่อลดอัตราป่วย อัตราตายจากโรคฉี่หนู ประสบการณ์น้ำท่วมใหญ่น่าน ปี 2549 มีผู้ป่วยตายจากโรคฉี่หนู 6 ราย เป็นคนหนุ่มคนสาว ที่เข้าไปช่วยเหลือน้ำท่วม ปี 2554 น้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง ทางฝ่ายแพทย์ และสาธารณสุข จ.น่าน ตัดสินใจให้การรักษาแบบ Prophylaxis ให้ Doxycycline 100 mg คนละ 2 cap กินครั้งเดียวทันทีในพื้นที่น้ำท่วมและผู้สัมผัสน้ำท่วมลุยดินโคลน เว้นกลุ่มเสี่ยงจากยา ได้ผล ไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคฉี่หนูเลย ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ในพื้นที่ ที่ต้องให้ยาอย่างระมัดระวัง ราคายาเม็ดละ 1 บาท ค่าใช้จ่ายไม่สูง คุ้มค่า พี่น้องประชาชนคนไทยพบวิบากกรรม ผู้นำขาดความรู้ความสามารถในการแก้ปัญหา ต้องช่วยกันดูแลและระมัดระวัง อย่าให้พี่น้องต้องมาป่วยตายด้วยโรคที่ป้องกัน รักษาได้” นพ.ชลน่าน กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image