‘โฆษกรัฐบาล’ ยัน รัฐมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมมากมาย

‘โฆษกรัฐบาล’ ยัน รัฐมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมมากมาย

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “แจงให้เคลียร์กับทีมโฆษกรัฐบาล” ถึงเรื่องการเตือนภัยพายุ​ ว่า​ กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเตือนว่ามีพายุดีเปรสชันบริเวณจีนใต้ตอนบนได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน​ “ไลออนร็อก” มีศูนย์กลางอยู่ประมาณ​ 600 กิโลเมตรทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองวิญ ประเทศเวียดนาม​ ซึ่งมีความเร็วลมใกล้เคียงกับศูนย์กลางประมาณ​ 65​ กิโลเมตรต่อชั่วโมง​ คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนได้ในช่วงวันที่​ 10-11 ตุลาคม​นี้​

ลักษณะ​อย่างนี้จะทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่งส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น​ โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่อนสูง2-3เมตร​ ตรงนี้ก็ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา​และสามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์​กรมอุตุนิยมวิทยา​หรือโทร02-399-4012 ถึง​ 13 และ 1182 ได้ตลอด​ 24 ชั่วโมง

นายธนกร กล่าวว่า​ ​เรื่องสถานการณ์น้ำท่วมพล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา​ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม​ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาช่วยเหลือประประชาชนและติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็น กรมบรรเทาและป้องกันสาธารณภัย กรมอุตุนิยมวิทยา​ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆและให้ติดตามข่าวสารจากราชการอย่างใกล้ชิด ซึ่งนอกจากนายกฯจะลงพื้นที่ด้วยตัวเองแล้วยังมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างๆให้มีการลงพื้นที่ไปช่วยเหลือประชาชน

โดยเฉพาะวันนี้(8ต.ค.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่จ.สระแก้ว พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่จ.ขอนแก่น ฉะนั้นแล้วนายกฯก็มีความห่วงใยและได้เพิ่งกลับจากการลงพื้นที่จ. นครศรีธรรมราช ซึ่งมีประชาชนมาให้กำลังใจและตัวนายกฯเองก็ได้ให้กำลังใจกับประชาชนด้วย ฉะนั้นเราไม่ต้องเป็นห่วงสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายและไม่รุนแรงเท่าปี 2554 อย่างแน่นอน

Advertisement

นายธนากร กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการเยียวยาหลังน้ำท่วมหรือในช่วงน้ำท่วมรัฐบาลเองไม่ได้นิ่งนอนใจได้มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนมากมายโดยเฉพาะเรื่องการเยียวยาต่างๆรวมไปถึงมาตรการผ่านธนาคารของรัฐไม่ว่าจะเป็นธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรธนาคารอาคารสงเคราะห์และธนาคารอิสลาม ก็มีมาตรการในเรื่องของช่วยเหลือประชาชนในน้ำท่วม โดยเฉพาะเรื่องการให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำนานหลายเดือนและมีการพักชำระหนี้นานถึง 12 เดือน โดยหวังที่จะช่วยเหลือเกษตรกรต่างๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image