‘วิโรจน์’ ชี้ 14 ต.ค.นี้ ครบสัญญา 120 วันเปิดปท. แนะ 6 ข้อ จากนี้ต้องไม่ปิดๆเปิดๆอีก

‘วิโรจน์’ ชี้ 14 ต.ค.นี้ ครบสัญญา 120 วันเปิดปท. แนะ 6 ข้อ สรุปบทเรียน ต้องทำให้โควิด เป็นภาวะปกติวิสัยที่ระบบสธ.รองรับได้ ไม่ต้องปิดๆเปิดๆอีก   

วันนี้ (11 ต.ค.) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อเขียนเรื่อง [14 ต.ค. นี้ ครบ 120 วัน ตามคำสัญญาเปิดประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ เปิดอย่างไร ถึงจะเป็นความหวังของประชาชน] ผ่านเพจเฟสบุ๊กส่วนตัว โดยมีรายละเอียดดังนี้

“หากนับจากวันที่ 16 มิถุนายน 64 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้คำมั่นกับประชาชนเอาไว้ว่าจะเปิดประเทศใน 120 วัน ซึ่งจะครบกำหนด 120 วัน ในวันที่ 14 ตุลาคม 64 ที่จะถึงนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบเงินกู้ 5 แสนล้าน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร และ ฐณฐ จินดานนท์ ในสัดส่วนพรรคก้าวไกล ได้ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ ว่า

สำหรับการเปิดประเทศ เพื่อให้การค้าการขาย การหารายได้ และการทำมาหากินของประชาชน สามารถดำเนินไปได้ตามปกติ เพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลจะเปิดประเทศได้ หรือทำ Travel Bubble กับประเทศต่างๆ เพื่อเปิดให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ และมีดัชนีในการพิจารณา และตรวจติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาด ที่ชัดเจน โปร่งใส โดยที่ประชาชนสามารถร่วมติดตามสถานการณ์ไปด้วยได้ หากรัฐบาลมีแต่แผนการเปิดประเทศ เพียงแค่แบ่งเป็นกลุ่มจังหวัด และมีประมาณการคร่าวๆ ประชาชน ตลอดจนผู้ประกอบการต่างๆ จะไม่สามารถวางแผน และเตรียมการล่วงหน้าอย่างเหมาะสมได้เลย และไม่มีความมั่นใจว่า แผนการเปิดประเทศดังกล่าว จะเปิดได้จริงหรือไม่ เปิดแล้วจะปิดอีกเมื่อไหร่

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 10,000 รายเศษ และมีผู้เสียชีวิตประมาณวันละ 60-80 ราย ที่สำคัญหากพิจารณาจากผลตรวจจากชุดตรวจ ATK ก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ และการระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นการระบาดที่แพร่กระจายไปยังส่วนภูมิภาค หลายจังหวัดยังมีแนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น

Advertisement

การที่จะเปิดประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมได้ รัฐบาลจำเป็นต้องทำให้การระบาดของโรคโควิด-19 เป็น “การเจ็บป่วยในภาวะปกติวิสัย (Normality)” ที่ระบบสาธารณสุขปกติ สามารถควบคุมการระบาด และดูแลรักษาผู้ป่วยได้ โดยต้องมั่นใจว่า ไม่เกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข หรือมีแผนสำรองในการเพิ่มขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขได้โดยทันที อย่างไม่ตระหนกตกตื่น ในกรณีจำเป็น

“ถ้า Normality ไม่เกิดขึ้น การเปิดประเทศ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก็จะเป็นเครื่องยนต์ที่กระตุก ติดๆ ดับๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากทั้งนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ และประชาชนได้”

การเปิดประเทศไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ คิดจะเปิดก็เปิด คิดจะปิดก็ปิด พอไม่กล้าปิด ก็ฝืนเปิด แล้วก็มาปิดแบบกะทันหัน จนสร้างความสูญเสียให้กับประชาชน พรรคก้าวไกล จึงแนวทางในการเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ นำไปดำเนินการ 6 ข้อ ดังต่อไปนี้

Advertisement

1.ปัจจุบันมีอัตราการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม (ข้อมูล ณ 10 ต.ค. 64) อยู่ที่ 32.5% (23.4 ล้านราย) เท่านั้น สำหรับอัตราการฉีดวัคซีน 1 เข็ม อยู่ที่ 48.7% (35.1 ล้านราย) โดยมีเพียง 14 จังหวัดเท่านั้น ที่ประชาชนที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม มีความครอบคลุมตั้งแต่ 50% ขึ้นไป และหากพิจารณาในกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง พบว่ามีเพียง 7 จังหวัดเท่านั้น ที่มีความครอบคลุมไม่ต่ำกว่า 70% ซึ่งรัฐบาลควรกำหนดให้ชัดเจนว่า ต้องมีความครอบคลุมในการฉีดวัคซีนเท่าใด จึงจะเข้าเกณฑ์ในการเปิดการท่องเที่ยว การกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องความครอบคลุมในการฉีดวัคซีน ให้มีความชัดเจน นอกจากจะทำให้ประชาชน และผู้ประกอบการวางแผน และเตรียมการล่วงหน้าได้แล้ว ยังเป็นการรณรงค์ในการฉีดวัคซีน ของแต่ละจังหวัดอีกด้วย

2.การฉีดวัคซีนเพื่อเปิดการท่องเที่ยว รัฐบาลจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ ในการเร่งฉีดวัคซีนให้กับพ่อค้าแม่ขาย และประชาชนที่อาศัยในย่านเศรษฐกิจ ควบคู่กันไป หากย่านเศรษฐกิจมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมเพียงพอ ก็อาจมีป้ายสัญลักษณ์แสดง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว ก็จะทำให้การเปิดการท่องเที่ยว ดำเนินไปได้อย่างมั่นใจ และได้รับความร่วมมือจากประชาชน

3.มีมาตรการในการฉีดวัคซีน และดูแลรักษาผู้ป่วยที่เป็นแรงงานต่างชาติ ทั้งถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย ให้ชัดเจน ต้องยอมรับว่า ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว มีการแจ้งแรงงานต่างชาติเป็นจำนวนมาก หากไม่มีระบบในการป้องกันโรค และการควบคุมดูแลรักษาที่ชัดเจน ก็เสี่ยงอย่างมากที่กลุ่มแรงงานต่างชาติ จะเป็นคลัสเตอร์ในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไม่จบไม่สิ้น

4.มีระบบการสุ่มตรวจเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง ที่มีชุมชนหนาแน่นในจังหวัดต่างๆ ด้วยชุดตรวจ ATK ที่ชัดเจน เป็นระยะๆ มีระบบที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงชุดตรวจ ATK ได้อย่างสะดวก ไม่ว่าจะเป็นการขอรับฟรีที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และศูนย์บริการสาธารณสุข ตลอดจนสามารถซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป ในราคาถูก เพื่อให้การตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ ATK เป็นกิจวัตรปกติ ของการใช้ชีวิตของประชาชน

5.สำรองสต๊อกยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ ให้มีความเพียงพอ อาทิ

– ยาต้านไวรัส Favipiravir, Remdesivir ซึ่งปัจจุบันเข้าใจว่า Remdesivir ยังมีสต๊อกไม่เพียงพอ

– ยารักษาปอดอักเสบต่างๆ เช่น Methylprednisolone, Dexamethasone, Tocilizumab, Baricitinib, Tofacitinib, JAK Inhibitor ฯลฯ

– ยาที่จำเป็นในงานวิสัญญี เช่น Propofol, Midazolam, Cisatracurium ฯลฯ

– ยารักษาใหม่ๆ เช่น Molnupiravir, Monoclonal Antibody ควรต้องมีการสำรองไว้อย่างเพียงพอ เพื่อให้แพทย์ได้พิจารณาเบิกใช้ตามข้อบ่งชี้ อย่างเพียงพอ เข้าใจว่าในปัจจุบัน Monoclonal Antibody ที่ได้รับบริจาคมาจากประเทศเยอรมนี ยังไม่มีระบบการเบิกจ่ายที่โปร่งใส ชัดเจน

– เครื่องช่วยหายใจ เครื่องออกซิเจนไฮโฟล์ว ชุด PAPR ฯลฯ

6.รัฐบาลต้องเร่งถอดบทเรียน และเตรียมระบบในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยให้พร้อมกว่าที่เป็นอยู่ เช่น ระบบการกักตัวรักษาตัวเองที่บ้านา (Home Isolation) ที่วันนี้ในหลายจังหวัดยังขาดความพร้อม ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที นอกจานี้รัฐบาลจะต้องวางระบบในการรับตัวผู้ป่วยสีเหลือง/แดง มารักษาตัวที่โรงพยาบาล การส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพที่สูงขึ้น ตลอดจนการมีแผนสำรองสำรองฉุกเฉิน ที่สามารถเพิ่มจำนวนเตียงในโรงพยาบาล สามรรถจัดเตรียมสถานดูแลผู้ป่วยเพื่อกักกันโรค (Community Isolation Center) โรงแรมบาล (Hospitel) โรงพยาบาลสนาม (Field Hospital) ได้โดยทันที หากการระบาดรุนแรงขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถรับมือกับการระบาดระลอกถัดไป ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้ง 6 ข้อข้างต้นนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม และมีการสื่อสารให้กับประชาชนทราบอย่างโปร่งใส เพราะการเปิดการท่องเที่ยว เปิดเศรษฐกิจ จำเป็นต้องทำให้ประชาชนมีความมั่นใจ และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ร่วมกันกับรัฐบาล

หากรัฐบาลเปิดการท่องเที่ยว โดยที่ไม่ได้ทำการบ้านทั้ง 6 ข้อนี้ การเปิดการท่องเที่ยว และการเปิดเศรษฐกิจ ก็จะเป็นการฝืนเปิด แทนที่ประชาชนจะได้รับผลประโยชน์ กลับกลายเป็นการลวงให้ประชาชนเดินทางมาพบกับความสูญเสียครั้งใหญ่ เพราะประชาชนจำนวนไม่น้อย ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน หรือนำเอาเงินก้อนสุดท้ายในชีวิต มาใช้ในการลงทุนฟื้นฟูกิจการของตนเอง ถ้าเปิดการท่องเที่ยว แล้วนักท่องเที่ยวไม่มา หรือเปิดได้สักพัก ก็ต้องปิดอีก เพราะรัฐบาลไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ ประชาชนก็มีแต่จะสิ้นเนื้อประดาตัว พร้อมกับหนี้สินล้นพ้นตัว

ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบเงินกู้ 5 แสนล้าน ครั้งต่อไป ในวันที่ 18 ตุลาคม 64 จะมีการเชิญผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุขมาให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งวิโรจน์ และฐณฐ จะสอบถามในประเด็นทั้ง 6 ข้อดังกล่าวนี้ ต่อไป”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image